อย่านั่งรอให้พระท่านเอาความรู้เรื่องมาใส่ปากท่าเดียว
อย่านั่งรอให้พระท่านเอาความรู้เรื่องมาใส่ปากท่าเดียว
———————————————-
วันพระมีทำบุญที่วัด พระลงศาลา ญาติโยมไหว้พระ รับศีล พระสวดถวายพรพระ
“ถวายพรพระ” เป็นคำเรียกบทสวดที่ประกอบด้วย (๑) นะโม (๒) ไตรสรณคมน์ (๓) พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ (๔) พาหุง (๕) มหาการุณิโก (๖) ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง
เวลาฟังพระสวดมนต์ พระสวดจบบทหนึ่ง ญาติโยมที่พอจะรู้กิริยามารยาททางธรรมก็น้อมไหว้ครั้งหนึ่ง
แต่ผมน้อมไหว้หลายครั้งในระหว่างบทที่พระสวด
(๑) จบห้องพุทธคุณ — พุทโธ ภะคะวาติ – น้อมไหว้ครั้งหนึ่ง
(๒) จบห้องธรรมคุณ — เวทิตัพโพ วิญญูหีติ – น้อมไหว้ครั้งหนึ่ง
(๓) จบห้องสังฆคุณ — ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ – น้อมไหว้ครั้งหนึ่ง
ที่เรียกพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ว่า “ห้อง” นี้เป็นคำคนเก่าท่านเรียกกันมา คนรุ่นใหม่ที่ยังใช้คำนี้ก็มี ผมเห็นว่าเป็นถ้อยคำภาษาที่คนไทยควรรักษาไว้
(๔) บทพาหุง มีคำว่า “ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ” รวมทั้งหมด ๘ ครั้ง น้อมไหว้ทุกครั้งที่จบ “– ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ” รวมน้อมไหว้ ๘ ครั้ง
(๕) บท มะหาการุณิโก จบวรรคที่ว่า “– โหตุ เต ชะยะมังคะลัง” น้อมไหว้ครั้งหนึ่ง
(๖) บท ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง มีคำว่า “สะทา โสตถี ภะวันตุ เต” ๓ ครั้ง น้อมไหว้ทุกครั้งที่จบ “– ภะวันตุ เต” (“– ภะวันตุ เต” ครั้งที่ ๓ เป็นอันจบถวายพรพระ)
…………………
มีคนถามผมว่า ลุงมีเหตุผลอะไรที่น้อมไหว้ตรงบทนั้นคำนั้น ในขณะที่คนทั่วไปนั่งประนมมือเฉยๆ น้อมไหว้เฉพาะเมื่อจบแต่ละบท
ผมมีเหตุผลเพราะฟังคำบาลีพอรู้เรื่อง ผมรู้ว่าคำที่พระท่านสวดนั้นแปลว่าอะไร
ผมส่งใจไปตามเสียงที่พระสวด พร้อมไปกับเอาสติกำหนดตามไปทุกๆ คำที่ท่านสวด
เป็นการเจริญภาวนาอย่างหนึ่ง
และเพราะผมรู้ว่าคำที่ท่านสวดแปลว่าอะไร ผมจึงน้อมไหว้เมื่อท่านสวดถึงคำนั้นๆ
จบพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ แต่ละห้อง น้อมไหว้เป็นการแสดงอาการรับรู้ คล้ายกับจะบอกพระว่า –
พระคุณท่านเจริญพระพุทธคุณจบแล้ว สาธุ
พระคุณท่านเจริญพระธรรมคุณจบแล้ว สาธุ
พระคุณท่านเจริญพระสังฆคุณจบแล้ว สาธุ
ทั้งเป็นการเตือนตัวเองว่า ได้เจริญสติกำหนดตามคำสวดของพระท่านไปได้ตลอด ไม่ได้ฟุ้งซ่านไปไหน
พิสูจน์ได้อย่างไรว่ามีสติ?
พิสูจน์ได้ตรงที่-สามารถกำหนดตามไปได้ว่าท่านสวดบทนั้นๆ จบแล้ว
บทพาหุง คำว่า “ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ” แปลว่า “ด้วยเดชแห่งชัยชนะของพระพุทธเจ้านั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน”
“ชัยชนะของพระพุทธเจ้า” ที่ท่านนำมาสวด ก็คือทรงชนะมาร ชนะยักษ์ ชนะช้าง ชนะโจร ชนะคนใส่ร้าย ชนะคนอวดเก่ง ชนะพญานาค ชนะพรหม รวม ๘ ครั้ง
เมื่อสวดบรรยายชนะจบเรื่องหนึ่ง พระท่านก็บอกว่า “ด้วยเดชแห่งชัยชนะของพระพุทธเจ้านั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน”
ถอดเป็นคำพูดสั้นๆ ก็คือพระท่านพูดกับเราว่า “ขอให้โยมมีชัยมงคลนะโยมนะ”
เพราะผมรู้ว่าพระท่านบอกเราอย่างนี้ ผมจะนั่งนิ่งเฉยได้อย่างไร ผมก็ต้องน้อมไหว้พร้อมกับเปล่งวาจาว่า สาธุ เป็นการตอบรับรู้ในเมตตาธรรมของพระ
ท่านพูดอย่างนี้ ๘ ครั้ง ผมก็น้อมไหว้ทั้ง ๘ ครั้ง
บท มะหาการุณิโก วรรคที่ว่า “– โหตุ เต ชะยะมังคะลัง” แปลว่า “ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน” น้อมไหว้ครั้งหนึ่ง มีเหตุผลเช่นเดียวกับในบทพาหุง
บท ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง มีคำว่า “สะทา โสตถี ภะวันตุ เต” แปลว่า “ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านทุกเมื่อ”
พระท่านสวดคำนี้ ๓ ครั้ง คืออ้างพุทธานุภาพครั้งหนึ่ง อ้างธรรมานุภาพครั้งหนึ่ง อ้างสังฆานุภาพครั้งหนึ่ง
ผมน้อมไหว้ทุกครั้งที่จบ “– ภะวันตุ เต” ซึ่งแปลว่า “จงมีแก่ท่าน”
เหตุผลก็เช่นเดียวกับในบทพาหุง ก็คือพระท่านบอกเราว่า “มีความสุขสวัสดีนะโยมนะ” ถ้าเรารู้ความหมาย เราก็ต้องน้อมไหว้ เป็นการน้อมรับพรของท่าน
ปัญหาน่าคิดก็คือ – แล้วคนที่เขาไม่รู้ความหมาย จะให้เขาทำยังไง
เขาทำยังไง? คนส่วนมาก-หรือจะว่าทั้งหมดก็ได้-ก็ได้แต่นั่งนิ่งๆ
ลองนึกภาพ –
พระท่านบอกเราว่า – “มีความสุขสวัสดีนะโยมนะ”
เรา – นั่งนิ่ง
แม้จะประนมมือ แต่ก็ประนมเฉยๆ ไม่ได้แสดงอาการรับรู้ว่าท่านให้พรเรา
…………………
ผมยกเรื่องนี้มาคุย ก็เพียงเพื่อจะชวนให้คิด คือให้คิดว่า ถ้าเรารู้ความหมายที่พระท่านสวด เราก็จะทำอะไรที่ดีๆ ได้อีกเยอะ
แล้วก็คิดต่อไป-ถึงเรื่องที่คนสมัยนี้เรียกร้องต้องการให้พระสวดมนต์เป็นภาษาไทย หรือสวดคำบาลีแล้วแปลเป็นไทยด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านที่ไปงานสวดศพ พระสวดพระอภิธรรม จะแสดงความหงุดหงิดเป็นอันมาก บางทีถึงกับโกรธเกรี้ยวว่า พระสวดอะไรฟังไม่รู้เรื่อง ทำไมไม่เอาคำที่ฟังรู้เรื่องมาสวด
จะเห็นได้ว่า เหตุผลสำคัญที่เรียกร้องให้สวดแปลมีเพียงข้อเดียว-คือ-ต้องการจะฟังให้รู้เรื่อง
หลายท่านก็เลยออกมาช่วยกันรับรองว่า ใช่แล้ว ควรสวดภาษาที่ฟังรู้เรื่อง แล้วก็เลยบอกว่า ที่คนไปงานฟังสวดคุยกันแข่งกับพระสวดก็เพราะเขาฟังไม่รู้เรื่อง แล้วเรื่องอะไรเขาจะฟัง คุยกันได้ประโยชน์กว่า
เรื่องนี้ผมอยากจะขออนุญาตให้พวกเราตั้งสติ ถอยมาคิดกันใหม่
พูดตรงๆ ก็คือ อยากจะชวนให้ปรับทัศนคติกันใหม่
อันที่จริงก็ไม่ใช่ปรับใหม่ ควรจะเรียกว่า-ปรับไปหาของเก่า นั่นก็คือ คนเก่าท่านพูดกันมาว่า
“ฟังสวดเอาสมาธิ ฟังเทศน์เอาปัญญา”
มีอธิบายว่า บทที่พระท่านเอาสวดนั้นเป็นหลักธรรมคำสอน เป็นตัวบทหรือตัวสูตรซึ่งต้นฉบับเป็นภาษาบาลี
ตัวบทหรือตัวสูตรนั้นต้องรักษาไว้ให้แม่นยำ คลาดเคลื่อนไม่ได้
การเอาตัวบทหรือตัวสูตรมาสวดจึงเป็นการสาธยายคือทบทวนหลักคำสอนเพื่อให้จำได้มั่นคงแม่นยำ
คนส่วนมากไม่รู้บาลี เมื่อฟังพระสวดมนต์ในงานใดๆ ก็ตาม คนเก่าท่านจึงแนะให้ “ฟังเอาสมาธิ”
วิธีการก็คือ เมื่อพระท่านเริ่มสวดตั้งแต่ขึ้น นะโม เป็นต้นไป ให้เจริญสติกำหนดตามเสียงที่ได้ยินนั้นไปทุกๆ คำ
ไม่ใช่กำหนดเพื่อจะให้รู้เรื่อง
แต่กำหนดให้รู้ทันว่า เรากำลังได้ยินคำนี้ แล้วต่อไปทันใดนั้นก็ได้ยินคำนั้น แล้วก็คำนั้น คำนั้น …
ส่งสติกำหนดตามไปให้ทันทุกคำ
เพียงให้รู้ตัวว่ากำลังฟัง หรือกำลังได้ยินเท่านั้น
อย่าตั้งอารมณ์ว่า-อยากรู้เรื่อง
ในระหว่างฟัง ถ้าจิตแล่นไปในอารมณ์อื่น ก็ดึงกลับมา ให้อยู่กับเสียงที่พระสวด
นี่คือวิธี “ฟังสวดเอาสมาธิ”
ขอให้ลองปรับทัศนคติหันมาใช้วิธีนี้-ทุกครั้งที่ฟังพระสวด
เป็นการปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิอย่างวิเศษ
รับรองว่าท่านจะได้ประโยชน์อย่างยิ่ง
แล้วท่านจะเลิกโวยวายว่า-ทำไมพระไม่สวดให้ฟังรู้เรื่อง
ผมขอยืนยันว่า ต่อให้พระสวดเป็นภาษาไทยทุกคำ ท่านก็ยังจะบ่นว่าไม่รู้เรื่องอยู่นั่นเอง ดังที่มีคนบ่นมาตลอดว่า พระไตรปิฎกแปลเป็นไทยแล้วก็ยังอ่านเข้าใจยาก
ทำไมไม่แปลให้อ่านเข้าใจง่ายๆ
โดนอีกจนได้
ใจคอของคนสมัยนี้ก็คือ นั่งอ้าปากรอให้มีคนเอา “ความรู้เรื่อง” มาตักใส่ปาก ตัวเองทำหน้าที่กลืนอย่างเดียว
พระสวดปุ๊บ
ตัวเองฟังปั๊บ
ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์เป๊ะ
ต้องสวดแบบนี้จึงจะยอมรับว่า-ฟังรู้เรื่อง
ไม่ต้องคิดเอง
ไม่ต้องขวนขวายเอง
ไม่ต้องปฏิบัติเอง
จะเอาแต่ผลสำเร็จเท่านั้น
ถ้าต้องการผลสำเร็จ คนเก่าท่านก็บอกแล้วว่า “ฟังเทศน์เอาปัญญา”
ต้องการผลสำเร็จ ต้องใช้ปัญญา
จะมีปัญญา ต้องฟังเทศน์
คำว่า “ฟังเทศน์” นี้เป็นคำสัญลักษณ์ หมายถึงศึกษาค้นคว้า วิธีการศึกษาของคนสมัยก่อน ใช้การฟังเป็นหลัก ฟังเทศน์จึงเป็นทางให้เกิดปัญญาวิธีหนึ่ง แต่อย่าเถรตรงกับภาษา
ปัจจุบันนี้วิธีแสวงหาปัญญาทางธรรมทำได้หลากหลายวิธี อ่านเอาเอง ฟังเอาเอง สงสัยคำไหนข้อไหนไต่ถามท่านผู้รู้ เหล่านี้ล้วนเป็นความหมายของ “ฟังเทศน์เอาปัญญา” ทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้น กรุณาเลิกเอาเป็นเอาตายจะรู้เรื่องให้ได้เฉพาะเวลาฟังสวด เลิกคาดคั้นให้พระสวดให้ฟังรู้เรื่องให้ได้
ฟังสวด เจริญสมาธิ ต่อจากนั้นอยากรู้เรื่องอะไร ไปศึกษาค้นคว้าเอา
อย่าอ้างว่าไม่มีเวลา
ถ้ามีเวลาดูหนังฟังเพลงดูละคร ก็ต้องมีเวลาศึกษาธรรมะ บริหารเวลาให้ดีๆ เถิด
เรานี่แหละครับสามารถไปแสวงหา “ความรู้เรื่อง” เอาเองได้ด้วยตัวเราเอง
อย่านั่งรอให้พระท่านเอาความรู้เรื่องมาใส่ปากให้เฉพาะในเวลาฟังสวด
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓
๑๔:๕๒
…………………………….
…………………………….