บาลีวันละคำ

สุมังคลวิลาสินี (บาลีวันละคำ 3,099)

สุมังคลวิลาสินี

ลีลาวิลาสประกาศมงคลอันงาม

อ่านว่า สุ-มัง-คะ-ละ-วิ-ลา-สิ-นี

ประกอบด้วยคำว่า สุมังคล + วิลาสินี

(๑) “สุมังคล

เขียนแบบบาลีเป็น “สุมงฺคล” อ่านว่า สุ-มัง-คะ-ละ รากศัพท์มาจาก สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม, ง่าย) + มงฺคล

(ก) “มงฺคล” (มัง-คะ-ละ) รากศัพท์มาจาก –

(1) มคิ (ธาตุ = ถึง, ไป, เป็นไป) + อล ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ -(คิ) แล้วแปลงนิคหิตเป็น งฺ (มคิ > มํคิ > มงฺคิ), ลบสระที่สุดธาตุ (มคิ > ค)

: มคิ > มํคิ > มงฺคิ > มงฺค + อล = มงฺคล แปลตามศัพท์ว่า (1) “เหตุให้ถึงความเจริญ” (2) “เหตุเป็นเครื่องถึงความบริสุทธิ์แห่งเหล่าสัตว์

(2) มงฺค (บาป) + ลุ (ธาตุ = ตัด) + (อะ) ปัจจัย, ลบสระหน้า (คือ อุ ที่ ลุ ที่อยู่หน้า ปัจจัย : ลุ > )

: มงฺค + ลุ = มงฺคลุ > มงฺคล + = มงฺคล แปลตามศัพท์ว่า “เหตุที่ตัดความชั่ว

ความหมายที่เข้าใจกันของ “มงฺคล” (นปุงสกลิงค์) คือ –

(1) มีฤกษ์งามยามดี, รุ่งเรือง, มีโชคดี, มีมหกรรมหรืองานฉลอง (auspicious, prosperous, lucky, festive)

(2) ลางดี, ศุภมงคล, งานรื่นเริง (good omen, auspices, festivity)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มงคล, มงคล– : (คำนาม) เหตุที่นํามาซึ่งความเจริญ เช่น มงคล ๓๘, สิ่งซึ่งถือว่าจะนำสิริและความเจริญมาสู่และป้องกันไม่ให้สิ่งที่เลวร้ายมากล้ำกราย, เรียกงานที่จัดให้มีขึ้นเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุข เช่น งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ งานทำบุญวันเกิด ว่า งานมงคล; เรียกเครื่องรางของขลังที่เชื่อว่าจะนำความสุขความเจริญเป็นต้นมาให้ หรือป้องกันภัยอันตรายต่าง ๆ ว่า วัตถุมงคล; สิ่งที่ทำเป็นวงด้วยด้ายเป็นต้นสำหรับสวมศีรษะเพื่อเป็นสิริมงคล นิยมใช้เฉพาะในเวลาชกมวยไทยหรือตีกระบี่กระบอง. (ป., ส.).”

(ข) สุ + มงฺคล = สุมงฺคล แปลว่า “มงคลอันงาม

(๒) “วิลาสินี

รากศัพท์มาจาก วิลาส + อินี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

(ก) “วิลาส” อ่านว่า วิ-ลา-สะ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ลสฺ (ธาตุ = ชอบใจ) + ปัจจัย, ลบ , “ทีฆะต้นธาตุด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” คือ อะ ที่ -(สฺ) เป็น า (ลสฺ > ลาส)

: วิ + ลสฺ = วิลสฺ + = วิลสฺณ > วิลส >วิลาส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่น่าชอบใจโดยพิเศษ

วิลาส” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เสน่ห์, ความสง่างาม, ความงดงาม (charm, grace, beauty)

(2) การทำเล่น, การเล่นสนุก, การทำสะบัดสะบิ้ง (dalliance, sporting, coquetry)

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “วิลาส” ว่า งาม, สวยงาม, การเยื้องกราย, การชมดชม้อย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วิลาส : (คำวิเศษณ์) พิลาส, งามมีเสน่ห์, งามอย่างสดใส. (ป., ส.).”

(ข) วิลาส + อินี = วิลาสินี แปลว่า “(อรรถกถา) อันมีลีลางามวิเศษ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “วิลาสินี” ไว้ด้วย บอกไว้ว่า –

วิลาสินี : (คำวิเศษณ์) งามอย่างสดใส, งามมีเสน่ห์ เช่น อันว่าเจ้ามัทรีวิลาสินีนงราม. (ม. คําหลวง นครกัณฑ์). (ส.).”

สุมงฺคล + วิลาสินี = สุมงฺคลวิลาสินี > สุมังคลวิลาสินี แปลความว่า “(อรรถกถา) มีลีลาวิเศษบรรยายความอันเป็นมงคลอันงาม

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความไว้ว่า –

…………..

สุมังคลวิลาสินี : ชื่อคัมภีร์อรรถกถา อธิบายความในทีฆนิกาย แห่งพระสุตตันตปิฎก พระพุทธโฆสาจารย์เรียบเรียงขึ้น โดยอาศัยอรรถกถาเก่าภาษาสิงหฬที่สืบมาแต่เดิมเป็นหลัก เมื่อ พ.ศ.ใกล้จะถึง ๑๐๐๐.”

…………..

แถม :

พระสุตตันตปิฎก หรือพระสูตร เป็น 1 ในพระไตรปิฎก แบ่งเนื้อหาออกเป็น 5 กลุ่ม เรียกว่า “นิกาย” คือ –

1 ทีฆนิกาย

2 มัชฌิมนิกาย

3 สังยุตนิกาย

4 อังคุตรนิกาย

5 ขุทกนิกาย

โบราณเอาคำแรกของชื่อนิกายทั้ง 5 มาเรียกรวมกันว่า “ทีมะสังอังขุ” นับถือกันว่าเป็น “หัวใจพระสุตตันตปิฎก” หรือ “หัวใจพระสูตร”

คัมภีร์ “สุมังคลวิลาสินี” เป็นคัมภีร์ชั้นอรรถกถา อธิบายพระสุตตันตปิฎกเฉพาะส่วนที่เป็นทีฆนิกาย

คัมภีร์ “สุมังคลวิลาสินี” พิมพ์เป็นอักษรไทยแบ่งเป็น 3 เล่ม หรือ 3 ภาค

หลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีของคณะสงฆ์ไทยไม่ได้ใช้คัมภีร์สุมังคลวิลาสินีเป็นแบบเรียนในชั้นใดๆ ทั้งสิ้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เดินกะโผลกกะเผลกไปบำเพ็ญกุศล

: เป็นสิริมงคลกว่าเดินโอ่โถงไปโกงเขากิน

#บาลีวันละคำ (3,099)

6-12-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย