ปรมัตถโชติกา (บาลีวันละคำ 3,103)
ปรมัตถโชติกา
โชติช่วงส่องสว่างให้เห็นทางพระนฤพาน
อ่านว่า ปะ-ระ-มัด-ถะ-โช-ติ-กา
ประกอบด้วยคำว่า ปรมัตถ + โชติกา
(๑) “ปรมัตถ”
เขียนแบบบาลีเป็น “ปรมตฺถ” อ่านว่า ปะ-ระ-มัด-ถะ ประกอบด้วยคำว่า ปรม + อตฺถ
(ก) “ปรม” (ปะ-ระ-มะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) ปร (ข้าศึก) + มรฺ (ธาตุ = ตาย) + กฺวิ ปัจจัย, ลบที่สุดธาตุ (มรฺ > ม) และลบปัจจัย
: ปร + มรฺ + กฺวิ = ปรมรกฺวิ > ปรมร > ปรม แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังธรรมอันเป็นข้าศึกให้ตาย”
(2) ป (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + รมฺ (ธาตุ = ยินดี) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ
: ป + รมฺ = ปรมฺ + ณ = ปรมณ > ปรม แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ยินดีในความยิ่งใหญ่”
(3) ปรฺ (ธาตุ = รักษา) + ม ปัจจัย
: ปรฺ + ม = ปรม แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่รักษาความสูงสุดของตนไว้ได้”
หมายเหตุ: “ปรม” ยังมีรากศัพท์และแปลอย่างอื่นอีกหลายความหมาย
“ปรม” หมายถึง สูงสุด, พิเศษสุด, เป็นเลิศ, ดีที่สุด (highest, most excellent, superior, best)
(ข) “อตฺถ” (อัด-ถะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) อรฺ (ธาตุ = ไป, ถึง เป็นไป; พินาศ) + ถ ปัจจัย, แปลง รฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ (อรฺ > อตฺ)
: อรฺ + ถ = อรฺถ > อตฺถ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นเครื่องให้ดำเนินไปได้” (2) “สิ่งที่ให้ดำเนินไปตามการณ์” (3) “สิ่งอันบุคคลถึง คือได้รับตามครรลองแห่งเหตุ” (4) “ภาวะที่พินาศ”
(2) อสฺ (ธาตุ = มี, เป็น) + ถ ปัจจัย, แปลง สฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ (อสฺ > อตฺ)
: อสฺ + ถ = อสฺถ > อตฺถ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นเหตุให้มีให้เป็น” (2) “เหตุให้มีศัพท์”
(3) อตฺถฺ (ธาตุ = ขอ, ปรารถนา) + อ (อะ) ปัจจัย
: อตฺถฺ + อ = อตฺถ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ต้องการ”
“อตฺถ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) กำไร, ผลประโยชน์, การได้เปรียบ; ความดี, พร, สวัสดิภาพ; ผลที่ได้มา, ความรุ่งเรือง, สวัสดิการ (interest, advantage, gain; good, blessing, welfare; profit, prosperity, well-being)
(2) ความประสงค์, ความต้องการ, ความปรารถนา, ประโยชน์ (need, want, use)
(3) เนื้อความ, ความหมาย, ความสำคัญ (ของคำพูด), การหมายถึง (sense, meaning, import [of a word], denotation, signification)
(4) ข้อความ, สิ่งของ (matter, thing)
(5) เรื่องราว, ความเห็น, คดี (affair, cause, case)
ปรม + อตฺถ = ปรมตฺถ > ปรมัตถ หมายถึง ประโยชน์อันสูงสุด, ปรมัตถ์; ความจริงอย่างยิ่ง, ความจริงเชิงปรัชญา (the highest good, ideal; truth in the ultimate sense, philosophical truth)
(๒) “โชติกา” รากศัพท์มาจาก –
(ก) ชุตฺ (ธาตุ = สว่าง, รุ่งเรือง) + อิ ปัจจัย, แผลง อุ ที่ ชุ-(ตฺ) เป็น โอ (ชุตฺ > โชต)
: ชุตฺ + อิ = ชุติ > โชติ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้ส่องลางดีลางร้าย” (2) “ผู้สว่าง” “ผู้รุ่งเรือง”
“โชติ” (ปกติเป็นอิตถีลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) แสงสว่าง, ความชัชวาล, แสง (light, splendour, radiance)
(2) ดาว (a star)
(3) ไฟ (fire)
(ข) โชติ + ก สกรรถ (กะ-สะ-กัด) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: โชติ + ก = โชติก + อา = โชติกา แปลว่า “(อรรถกถา) อันเป็นเครื่องส่องสว่าง”
ปรมตฺถ + โชติกา = ปรมตฺถโชติกา > ปรมัตถโชติกา แปลความว่า “(อรรถกถา) อันเป็นเครื่องส่องสว่างให้เห็นความหมายอันยอดเยี่ยม” หรือ “(อรรถกถา) อันเป็นเครื่องส่องสว่างให้เห็นทางแห่งปรมัตถธรรม”
ขยายความ :
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความไว้ว่า –
…………..
“ปรมัตถโชติกา : ชื่อคัมภีร์อรรถกถา อธิบายความใน ขุททกปาฐะ ธรรมบท สุตตนิบาต และชาดก แห่งพระสุตตันตปิฎก ซึ่งพระพุทธโฆสาจารย์นำเนื้อความในอรรถกถาเก่าที่ใช้ศึกษาและรักษาสืบต่อกันมาในลังกาทวีป อันเป็นภาษาสิงหฬ เอามาเรียบเรียงกลับขึ้นเป็นภาษาบาลี เพื่อให้ใช้ประโยชน์ในที่อื่นนอกจากลังกาทวีปได้ด้วย เมื่อ พ.ศ. ใกล้จะถึง ๑๐๐๐, มีบางท่านสันนิษฐานว่า พระพุทธโฆสาจารย์อาจจะมีคณะทำงาน โดยท่านเป็นหัวหน้าในการดำเนินงานแปลและเรียบเรียงทั้งหมดนั้น.”
…………..
อภิปราย :
พระสุตตันตปิฎก หรือพระสูตร เป็น 1 ในพระไตรปิฎก แบ่งเนื้อหาออกเป็น 5 กลุ่ม เรียกว่า “นิกาย” คือ ทีฆนิกาย, มัชฌิมนิกาย, สังยุตนิกาย, อังคุตรนิกาย และ ขุทกนิกาย
4 นิกายข้างต้นมีเนื้อความเป็นกลุ่มเดียวกัน รวมเป็นคัมภีร์ใหญ่ 4 คัมภีร์ แต่นิกายสุดท้ายคือขุทกนิกาย มีลักษณะแตกต่างไปจากนิกายอื่น คือเป็นคัมภีร์ที่แยกย่อยออกไปหลายคัมภีร์ เท่าที่ตกลงยุติแล้วนับได้ 15 คัมภีร์ คือ (1) ขุททกปาฐะ (2) ธรรมบท (3) อุทาน (4) อิติวุตตกะ (5) สุตตนิบาต (6) วิมานวัตถุ (7) เปตวัตถุ (8) เถรคาถา (9) เถรีคาถา (10) ชาดก (11) นิทเทส (มหานิทเทส-จูฬนิทเทส) (12) ปฏิสัมภิทามรรค (13) อปทาน (14) พุทธวงส์ (15) จริยาปิฎก
แต่ละคัมภีร์จะนับเป็นแต่ละนิกายก็ไม่ได้ ท่านจึงรวมทุกคัมภีร์เข้าเป็นกลุ่มเดียวกัน (รวมเข้าเป็นกลุ่มเดียวกัน ไม่ใช่รวมเข้าเป็นคัมภีร์เดียวกัน) แล้วจัดเป็นอีกนิกายหนึ่ง เรียกว่า “ขุทกนิกาย” แปลว่า “กลุ่มเรื่องย่อย”
ที่เรียกว่า “เรื่องย่อย” ไม่ได้หมายถึงเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องไม่สลักสำคัญ บางเรื่องเป็นเรื่องยาวหรือเรื่องใหญ่มาก เช่นชาดก บางเรื่องก็สำคัญมาก เช่นธรรมบท เป็นที่รู้จักกันมากยิ่งกว่าพระสูตรหลายๆ พระสูตรเสียด้วยซ้ำ
ผู้เขียนบาลีวันละคำสันนิษฐาน (เป็นการส่วนตัว ท่านผู้อื่นไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องด้วย) ว่า ดั้งเดิมจริงๆ การจัด “นิกาย” ในพระสุตตันตปิฎกอาจจะมีเพียง 4 นิกายเท่านั้น คือมีทีฆนิกาย, มัชฌิมนิกาย, สังยุตนิกาย และอังคุตรนิกาย เท่านี้ ส่วนคัมภีร์ย่อยอีก 15 คัมภีร์ก็ยังคงรวมอยู่ในพระสุตตันตปิฎก เพียงแต่ไม่ได้จัดเป็นนิกาย
ที่สันนิษฐานดังนี้ก็เนื่องมาจากอรรถกถาของอังคุตรนิกายท่านตั้งชื่อว่า “มโนรถปูรณี” ซึ่งแปลได้ว่า “ครบถ้วนตามที่ตั้งใจ” ส่องให้เห็นว่า ในพระสุตตันตปิฎกมีเพียง 4 นิกาย (+ คัมภีร์ย่อย 15 คัมภีร์) อังคุตรนิกายเป็นนิกายสุดท้าย เมื่อพระอรรถกถาจารย์ท่านแต่งคำอธิบายมาเป็นลำดับ คือ –
ทีฆนิกาย ตั้งชื่ออรรถกถาว่า “สุมังคลวิลาสินี”
มัชฌิมนิกาย ตั้งชื่ออรรถกถาว่า “ปปัญจสูทนี”
สังยุตนิกาย ตั้งชื่ออรรถกถาว่า “สารัตถปกาสินี”
จนมาถึงอังคุตรนิกายก็เป็นอันว่าจบครบทั้ง 4 นิกายตามที่ตั้งใจไว้ ท่านจึงตั้งชื่ออรรถกถาว่า “มโนรถปูรณี” มีความหมายว่า แต่งมาจนจบ “ครบถ้วนตามที่ตั้งใจ”
อนึ่ง นักศึกษาคัมภีร์เมื่อได้อ่านคัมภีร์อรรถกถาทั้ง 4 ชื่อ 4 นิกายนั้นแล้ว จะเห็นว่า พระพุทธโฆสาจารย์ท่านตั้งใจแต่งคนเดียว เพราะสำนวนภาษาเป็นของคนคนเดียวตลอดทุกเล่ม แต่อรรถกถาของคัมภีร์ย่อยอีก 15 คัมภีร์สังเกตได้ว่าสำนวนภาษาแปลกแตกต่างกันออกไป นั่นแปลว่าแต่งกันหลายคน คือช่วยกันแต่งหรือแบ่งกันแต่ง โดยบางคัมภีร์พระพุทธโฆสาจารย์ท่านก็ช่วยแต่งด้วย ดังที่พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์บอกไว้ว่า –
“… มีบางท่านสันนิษฐานว่า พระพุทธโฆสาจารย์อาจจะมีคณะทำงาน โดยท่านเป็นหัวหน้าในการดำเนินงานแปลและเรียบเรียงทั้งหมดนั้น”
คัมภีร์ (1) ขุททกปาฐะ (2) ธรรมบท (3) สุตตนิบาต และ (4) ชาดก ทั้ง 4 คัมภีร์นี้มีอรรถกถาของแต่ละคัมภีร์ แต่ตั้งชื่อเหมือนกัน คือชื่อ “ปรมัตถโชติกา” แต่แม้ชื่อจะเหมือนกัน อรรถกถาของแต่ละคัมภีร์ก็เป็นคนละเล่มกัน จบในเล่มของตน ไม่ได้รวมอยู่เป็นเล่มเดียวกัน
คัมภีร์หนึ่งที่น่าสังเกต คือคัมภีร์ธรรมบท ชื่ออรรถกถาก็คือ “ปรมัตถโชติกา” แต่ในเมืองไทยเรา เราเรียกกันว่า “ธัมมปทัฏฐกถา” หรือเรียกเป็นคำไทยว่า “อรรถกถาธรรมบท” ไม่มีใครเรียก “ปรมัตถโชติกา” นักเรียนบาลีของเรารู้จัก “ธัมมปทัฏฐกถา” กันดีทุกคน แต่เชื่อได้เลยว่า ไม่มีใครรู้จัก “ปรมัตถโชติกา”
“ปรมัตถโชติกา” ที่เป็นอรรถกถาของคัมภีร์ธรรมบทพิมพ์เป็นบาลีอักษรไทยฉบับที่ยุติเป็นมาตรฐานในเมืองไทย คือฉบับที่มหามกุฏราชวิทยาลัยจัดพิมพ์ แบ่งเป็น 8 เล่ม เรียกว่า “ภาค” ตั้งแต่ “ปฐโม ภาโค” = ภาค 1 จนถึง “อฏฺฐโม ภาโค” = ภาค 8
หลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีของคณะสงฆ์ไทยกำหนดให้ใช้คัมภีร์ “ปรมัตถโชติกา” ที่เรียกกันในนาม “ธัมมปทัฏฐกถา” เป็นแบบเรียนในชั้นต่างๆ ดังนี้ –
๑ ภาค 1-4 วิชาแปลมคธเป็นไทย ชั้นประโยค 1-2/บ.ศ.1-2
๒ ภาค 5-8 วิชาแปลมคธเป็นไทย ชั้นประโยค ป.ธ.3/บ.ศ.3
๓ ภาค 1 วิชาแปลไทยเป็นมคธ ชั้นประโยค ป.ธ.4/บ.ศ.4
๔ ภาค 2-4 วิชาแปลไทยเป็นมคธ ชั้นประโยค ป.ธ.5/บ.ศ.5
๕ ภาค 5-8 วิชาแปลไทยเป็นมคธ ชั้นประโยค ป.ธ.6/บ.ศ.6
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าตาไม่บอด ก็จะมองเห็นแสงเทียน
: ถ้าใจไม่บอด ก็จะมองเห็นแสงธรรม
10-12-63