บาลีวันละคำ

วิสุทธชนวิลาสินี (บาลีวันละคำ 3,107)

วิสุทธชนวิลาสินี

รอยเท้าแห่งท่านผู้สะอาดหมดจด

อ่านว่า วิ-สุด-ทะ-ชะ-นะ-วิ-ลา-สิ-นี

ประกอบด้วยคำว่า วิสุทธชน + วิลาสินี

(๑) “วิสุทธชน

เขียนแบบบาลีเป็น “วิสุทฺธชน” (มีจุดใต้ ) อ่านว่า วิ-สุด-ทะ-ชะ-นะ แยกศัพท์เป็น วิสุทฺธ + ชน

(ก) “วิสุทฺธ” รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + สุธฺ (ธาตุ = สะอาด) + ปัจจัย, แปลง เป็น ทฺธ, ลบ ธฺ ที่สุดธาตุ, อีกนัยหนึ่งว่า แปลง กับ ธฺ ที่สุดธาตุเป็น ทฺธ

: วิ + สุธฺ = วิสุธฺ + = วิสุธต > วิสุต > วิสุทฺธ

: วิ + สุธฺ = วิสุธฺ + = วิสุธต (> + = ทฺธ) > วิสุทฺธ

วิสุทฺธ” แปลตามศัพท์ว่า “หมดจดอย่างวิเศษจากมลทินมีราคะเป็นต้น” เป็นคำกริยาและใช้เป็นคำวิเศษณ์ หมายถึง (1) สะอาด, บริสุทธิ์, สดใส (clean, pure, bright) (2) บริสุทธิ์, ไม่มีมลทิน, เป็นที่เคารพสักการะ (purified, stainless, sanctified)

(ข) “ชน” บาลีอ่านว่า ชะ-นะ รากศัพท์มาจาก ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + (อะ) ปัจจัย

: ชนฺ + = ชน (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “ผู้ยังกุศลหรืออกุศลให้เกิดได้” เป็นคำแปลที่ตรงตามสัจธรรม เพราะธรรมดาของคน ดีก็ทำได้ ชั่วก็ทำได้

(2) “ผู้ยังตัวตนให้เกิดตามกรรม” หมายความว่า นอกจากทำกรรมได้แล้ว ยังทำ “ตัวตน” (คน) ให้เกิดได้อีก

ชน” หมายถึง บุคคล, สัตว์, คน (an individual, a creature, person, man)

วิสุทฺธ + ชน = วิสุทฺธชน (วิ-สุด-ทะ-ชะ-นะ) แปลว่า “คนผู้บริสุทธิ์หมดจด” ในที่นี้หมายถึงพระอรหันต์

วิสุทฺธชน” เขียนแบบไทยเป็น “วิสุทธชน” (ไม่มีจุดใต้ ) ถ้าไม่มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย อ่านว่า วิ-สุด-ทะ-ชน แต่ในที่นี้มีคำว่า “วิลาสินี” มาสมาสข้างท้าย จึงต้องอ่านว่า วิ-สุด-ทะ-ชะ-นะ-

(๒) “วิลาสินี

รากศัพท์มาจาก วิลาส + อินี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

(ก) “วิลาส” อ่านว่า วิ-ลา-สะ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ลสฺ (ธาตุ = ชอบใจ) + ปัจจัย, ลบ , “ทีฆะต้นธาตุด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” คือ อะ ที่ -(สฺ) เป็น า (ลสฺ > ลาส)

: วิ + ลสฺ = วิลสฺ + = วิลสฺณ > วิลส >วิลาส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่น่าชอบใจโดยพิเศษ

วิลาส” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เสน่ห์, ความสง่างาม, ความงดงาม (charm, grace, beauty)

(2) การทำเล่น, การเล่นสนุก, การทำสะบัดสะบิ้ง (dalliance, sporting, coquetry)

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “วิลาส” ว่า งาม, สวยงาม, การเยื้องกราย, การชมดชม้อย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วิลาส : (คำวิเศษณ์) พิลาส, งามมีเสน่ห์, งามอย่างสดใส. (ป., ส.).”

(ข) วิลาส + อินี = วิลาสินี แปลว่า “(อรรถกถา) อันมีลีลางามวิเศษ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “วิลาสินี” ไว้ด้วย บอกไว้ว่า –

วิลาสินี : (คำวิเศษณ์) งามอย่างสดใส, งามมีเสน่ห์ เช่น อันว่าเจ้ามัทรีวิลาสินีนงราม. (ม. คําหลวง นครกัณฑ์). (ส.).”

วิสุทฺธชน + วิลาสินี = วิสุทฺธชนวิลาสินี > วิสุทธชนวิลาสินี แปลว่า “(อรรถกถา) มีลีลาวิเศษบรรยายประวัติแห่งวิสุทธชนคือท่านผู้บริสุทธิ์หลุดพ้นจากสรรพกิเลสาสวะ” หรือแปลเอาความว่า “อรรถกถาบรรยายประวัติพระอรหันต์

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความไว้ว่า –

…………..

วิสุทธชนวิลาสินี : ชื่ออรรถกถา อธิบายความในคัมภีร์อปทาน แห่งพระสุตตันตปิฎก เรียบเรียงขึ้นเป็นภาษาบาลีโดยอาศัยนัยแห่งอรรถกถาเก่าภาษาสิงหฬที่สืบมาในลังกาทวีป ไม่ปรากฏนามท่านผู้รจนา แต่คัมภีร์จูฬคันถวงส์ (แต่งในพม่า) ว่าเป็นผลงานของพระพุทธโฆสาจารย์.”

…………..

แถม :

พระสุตตันตปิฎก หรือพระสูตร เป็น 1 ในพระไตรปิฎก แบ่งเนื้อหาออกเป็น 5 กลุ่ม เรียกว่า “นิกาย” คือ ทีฆนิกาย, มัชฌิมนิกาย, สังยุตนิกาย, อังคุตรนิกาย และ ขุทกนิกาย

ขุทกนิกายมีคัมภีร์ที่แยกย่อยออกไป 15 คัมภีร์ คือ (1) ขุททกปาฐะ (2) ธรรมบท (3) อุทาน (4) อิติวุตตกะ (5) สุตตนิบาต (6) วิมานวัตถุ (7) เปตวัตถุ (8) เถรคาถา (9) เถรีคาถา (10) ชาดก (11) นิทเทส (มหานิทเทส-จูฬนิทเทส) (12) ปฏิสัมภิทามรรค (13) อปทาน (14) พุทธวงส์ (15) จริยาปิฎก

แต่ละคัมภีร์ก็มีอรรถกถาแยกกันไปแต่ละเล่ม คือคัมภีร์ (1) ขุททกปาฐะ (2) ธรรมบท (3) สุตตนิบาต และ (4) ชาดก ทั้ง 4 คัมภีร์นี้มีอรรถกถาชื่อเหมือนกัน คือชื่อ “ปรมัตถโชติกา” แต่แม้ชื่อจะเหมือนกัน อรรถกถาของแต่ละคัมภีร์ก็เป็นคนละเล่มกัน จบในเล่มของตน ไม่ได้รวมอยู่เป็นเล่มเดียวกัน

คัมภีร์ (1) อุทาน (2) อิติวุตตกะ (3) วิมานวัตถุ (4) เปตวัตถุ (5) เถรคาถา (6) เถรีคาถา และ (7) จริยาปิฎก ทั้ง 7 คัมภีร์นี้มีอรรถกถาชื่อเหมือนกัน คือชื่อ “ปรมัตถทีปนี” แต่ก็แยกกันเป็นคนละเล่มเช่นเดียวกับ “ปรมัตถโชติกา

คัมภีร์นิทเทส แบ่งออกไปอีกเป็น 2 คัมภีร์ คือ มหานิทเทส และจูฬนิทเทส มีอรรถกถาชื่อ “สัทธัมมปัชโชติกา

คัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค มีอรรถกถาชื่อ “สัทธัมมปกาสินี

คัมภีร์อปทาน มีอรรถกถาชื่อ “วิสุทธชนวิลาสินี

…………..

ดูก่อนภราดา!

: แม้จะยังเป็นพระอรหันต์ไม่ได้

: แต่ก็เดินตามรอยพระอรหันต์ได้

#บาลีวันละคำ (3,107)

14-12-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย