มธุรัตถวิลาสินี (บาลีวันละคำ 3,108)
มธุรัตถวิลาสินี
ลีลาอรรถรสอันไพเราะ
อ่านว่า มะ-ทุ-รัด-ถะ-วิ-ลา-สิ-นี
ประกอบด้วยคำว่า มธุรัตถ + วิลาสินี
(๑) “มธุรัตถ”
เขียนแบบบาลีเป็น “มธุรตฺถ” อ่านว่า มะ-ทุ-รัด-ถะ แยกศัพท์เป็น มธุร + อตฺถ
(ก) “มธุร” อ่านว่า มะ-ทุ-ระ รากศัพท์มาจาก มธุ (ธาตุ = ยินดี) + ร ปัจจัย
: มธฺ + ร = มธุร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันผู้คนชอบ”
“มธุร” เป็นคำนาม (นปุงสกลิงค์) มีความหมายดังนี้ –
(1) ความหวาน, เครื่องดื่มที่มีรสหวาน (sweetness, sweet drink)
(2) คำเยินยอ, คำสรรเสริญ (flattery, praise)
“มธุร” เป็นคำวิเศษณ์ มีความหมายดังนี้ –
(1) หวาน (sweet)
(2) มีรสหวานทำให้มึนเมา, เหมือนสุรา, ทำให้เมา (of intoxicating sweetness, liquor-like, intoxicating)
ในที่นี้ “มธุร” เป็นคำวิเศษณ์
(ข) “อตฺถ” อ่านว่า อัด-ถะ รากศัพท์มาจาก –
(1) อรฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ถ ปัจจัย, แปลง รฺ ที่ (อ)-รฺ เป็น ตฺ (อรฺ > อตฺ)
: อรฺ + ถ = อรถ > อตฺถ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นเครื่องให้ดำเนินไปได้” (2) “สิ่งที่ให้ดำเนินไปตามการณ์” (3) “สิ่งอันบุคคลถึง คือได้รับตามครรลองแห่งเหตุ”
(2) อสฺ (ธาตุ = มี, เป็น) + ถ ปัจจัย, แปลง ส ที่ (อ)-สฺ เป็น ตฺ (อสฺ > อตฺ)
: อสฺ + ถ = อสถ > อตฺถ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นเหตุให้มีให้เป็น” (2) “เหตุให้มีศัพท์”
(3) อตฺถฺ (ธาตุ = ขอ, ปรารถนา) + อ (อะ) ปัจจัย
: อตฺถ + อ = อตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ต้องการ”
“อตฺถ” (ปุงลิงค์) มีความหมายหลายอย่าง เช่น –
(1) กำไร, ผลประโยชน์, การได้เปรียบ, ความดี (ทางศีลธรรม), พร, สวัสดิภาพ, ผลที่ได้มา, ความรุ่งเรือง, สวัสดิการ (interest, advantage, gain; (moral) good, blessing, welfare; profit, prosperity, well-being)
(2) ความประสงค์, ความต้องการ, ความปรารถนา (need, want)
(3) เนื้อความ, ความหมาย, ความสำคัญ (ของคำพูด), การหมายถึง (sense, meaning, import, denotation, signification)
(4) เรื่องราว, ความเห็น, คดี (affair, cause, case)
“อตฺถ” ในภาษาไทยนิยมใชอิงสันสกฤตเป็น “อรรถ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อรรถ, อรรถ– : (คำนาม) เนื้อความ เช่น แปลโดยอรรถ, คําที่ยังไม่ได้แปลความหมาย เช่น คําอรรถ. (ส. อรฺถ; ป. อตฺถ).”
ในที่นี้ “อัตถ” เขียนตามรูปบาลี
มธุร + อตฺถ = มธุรตฺถ > มธุรัตถ แปลว่า “เนื้อความอันไพเราะ” หมายถึง เรื่องราวที่น่าสดับตรับฟัง
(๒) “วิลาสินี”
รากศัพท์มาจาก วิลาส + อินี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
(ก) “วิลาส” อ่านว่า วิ-ลา-สะ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ลสฺ (ธาตุ = ชอบใจ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, “ทีฆะต้นธาตุด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” คือ อะ ที่ ล-(สฺ) เป็น อา (ลสฺ > ลาส)
: วิ + ลสฺ = วิลสฺ + ณ = วิลสฺณ > วิลส >วิลาส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่น่าชอบใจโดยพิเศษ”
“วิลาส” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) เสน่ห์, ความสง่างาม, ความงดงาม (charm, grace, beauty)
(2) การทำเล่น, การเล่นสนุก, การทำสะบัดสะบิ้ง (dalliance, sporting, coquetry)
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “วิลาส” ว่า งาม, สวยงาม, การเยื้องกราย, การชมดชม้อย
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิลาส : (คำวิเศษณ์) พิลาส, งามมีเสน่ห์, งามอย่างสดใส. (ป., ส.).”
(ข) วิลาส + อินี = วิลาสินี แปลว่า “(อรรถกถา) อันมีลีลางามวิเศษ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “วิลาสินี” ไว้ด้วย บอกไว้ว่า –
“วิลาสินี : (คำวิเศษณ์) งามอย่างสดใส, งามมีเสน่ห์ เช่น อันว่าเจ้ามัทรีวิลาสินีนงราม. (ม. คําหลวง นครกัณฑ์). (ส.).”
มธุรตฺถ + วิลาสินี = มธุรตฺถวิลาสินี > มธุรัตถวิลาสินี แปลความว่า “(อรรถกถา) มีลีลาวิเศษบรรยายเรื่องราวอันไพเราะ”
ขยายความ :
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความไว้ว่า –
…………..
“มธุรัตถวิลาสินี : ชื่ออรรถกถาอธิบายความในคัมภีร์พุทธวงส์ แห่งพระสุตตันตปิฎก พระพุทธทัตตเถระรจนาที่เมืองท่าชื่อกาวีรปัฏฏนะ ในแดนทมิฬ แห่งอินเดียใต้ เมื่อ พ.ศ. ใกล้จะถึง ๑๐๐๐ ร่วมสมัยกับพระพุทธโฆสาจารย์ ทั้งนี้ ได้เรียบเรียงเป็นภาษาบาลี ตามแนวโปราณัฏฐกถาภาษาสิงหฬ.”
…………..
แถม :
พระสุตตันตปิฎก หรือพระสูตร เป็น 1 ในพระไตรปิฎก แบ่งเนื้อหาออกเป็น 5 กลุ่ม เรียกว่า “นิกาย” คือ ทีฆนิกาย, มัชฌิมนิกาย, สังยุตนิกาย, อังคุตรนิกาย และ ขุทกนิกาย
ขุทกนิกายมีคัมภีร์ที่แยกย่อยออกไป 15 คัมภีร์ คือ (1) ขุททกปาฐะ (2) ธรรมบท (3) อุทาน (4) อิติวุตตกะ (5) สุตตนิบาต (6) วิมานวัตถุ (7) เปตวัตถุ (8) เถรคาถา (9) เถรีคาถา (10) ชาดก (11) นิทเทส (มหานิทเทส-จูฬนิทเทส) (12) ปฏิสัมภิทามรรค (13) อปทาน (14) พุทธวงส์ (15) จริยาปิฎก
แต่ละคัมภีร์ก็มีอรรถกถาแยกกันไปแต่ละเล่ม คือคัมภีร์ (1) ขุททกปาฐะ (2) ธรรมบท (3) สุตตนิบาต และ (4) ชาดก ทั้ง 4 คัมภีร์นี้มีอรรถกถาชื่อเหมือนกัน คือชื่อ “ปรมัตถโชติกา” แต่แม้ชื่อจะเหมือนกัน อรรถกถาของแต่ละคัมภีร์ก็เป็นคนละเล่มกัน จบในเล่มของตน ไม่ได้รวมอยู่เป็นเล่มเดียวกัน
คัมภีร์ (1) อุทาน (2) อิติวุตตกะ (3) วิมานวัตถุ (4) เปตวัตถุ (5) เถรคาถา (6) เถรีคาถา และ (7) จริยาปิฎก ทั้ง 7 คัมภีร์นี้มีอรรถกถาชื่อเหมือนกัน คือชื่อ “ปรมัตถทีปนี” แต่ก็แยกกันเป็นคนละเล่มเช่นเดียวกับ “ปรมัตถโชติกา”
คัมภีร์นิทเทส แบ่งออกไปอีกเป็น 2 คัมภีร์ คือ มหานิทเทส และจูฬนิทเทส มีอรรถกถาชื่อ “สัทธัมมปัชโชติกา”
คัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค มีอรรถกถาชื่อ “สัทธัมมปกาสินี”
คัมภีร์อปทาน มีอรรถกถาชื่อ “วิสุทธชนวิลาสินี”
คัมภีร์พุทธวงส์ มีอรรถกถาชื่อ “มธุรัตถวิลาสินี”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: คำด่าที่ปรารถนาดีโดยสันดาน
: มีค่ากว่าคำหวานที่เกิดจากการเสแสร้ง
15-12-63