บาลีวันละคำ

สัมโมหวิโนทนี (บาลีวันละคำ 3,110)

สัมโมหวิโนทนี

คัมภีร์บรรเทาความโง่เขลาเบาปัญญา

อ่านว่า สำ-โม-หะ-วิ-โน-ทะ-นี

ประกอบด้วยคำว่า สัมโมห + วิโนทนี

(๑) “สัมโมห

เขียนแบบบาลีเป็น “สมฺโมห” อ่านว่า สำ-โม-หะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + มุหฺ (ธาตุ = หลงลืม) + ปัจจัย, ลบ , แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น มฺ (สํ > สม), แผลง อุ ที่ มุ-(หฺ) เป็น โอ (มุหฺ > โมห)

: สํ + มุหฺ = สํมุหฺ + = สํมุหณ > สํมุห > สมฺมุห > สมฺโมห (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ภาวะที่หลงไปหมดทุกอย่าง” (มีเรื่องอะไรกี่อย่าง ก็หลงหมดทุกเรื่อง) (2) “ภาวะเป็นเหตุหลงแห่งสัมปยุตธรรม” (คือเมื่อมันเข้าไปผสมกับอะไรก็ทำให้สิ่งนั้นเกิดอาการหลง)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “โมห” ว่า stupidity, dullness of mind & soul, delusion, bewilderment, infatuation (ความโง่, ความหลงและความลืม, ความเข้าใจผิด, ความงงงวย, ความหลงใหล)

และแปล “สมฺโมห” ว่า bewilderment, infatuation, delusion (ความงงงุน, ความหลง, โมหะ, ความหลงใหล)

(๒) “วิโนทนี

อ่านว่า อ่านว่า วิ-โน-ทะ-นี รากศัพท์มาจาก –

(ก) วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + นุทฺ (ธาตุ = ซัดไป, ขว้าง, ทิ้ง, ขจัด, บรรเทา) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แผลง อุ ที่ นุ-(ทฺ) เป็น โอ (นุทฺ > โนท)

: วิ + นุทฺ = วินุทฺ + ยุ > อน = วินุทน > วิโนทน แปลตามศัพท์ว่า “การขจัดออกไปอย่างวิเศษ” หมายถึง การขับไล่, การบรรเทา, การเอาออก (dispelling, removal)

(ข) วิโนทน + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: วิโนทน + อี = วิโนทนี แปลว่า “(อรรถกถา) เป็นเครื่องขจัดออกไปอย่างวิเศษ

สมฺโมห + วิโนทนี = สมฺโมหวิโนทนี เขียนแบบไทยเป็น “สัมโมหวิโนทนี” แปลความว่า “(อรรถกถา) อันเป็นเครื่องขจัดออกไปอย่างวิเศษซึ่งความโง่เขลาเบาปัญญา

สัมโมหวิโนทนี” เป็นชื่ออรรถกถาอธิบายความในคัมภีร์วิภังค์ อันเป็นคัมภีร์ที่ 2 ในพระอภิธรรมปิฎก พระพุทธโฆสาจารย์เป็นผู้เรียบเรียงขึ้นที่เกาะลังกา โดยอาศัยอรรถกถาเก่าภาษาสิงหฬที่สืบมาแต่เดิมเป็นหลัก เมื่อ พ.ศ.ใกล้จะถึง 1000

ขยายความ :

พระอภิธรรมปิฎกเป็น 1 ในพระไตรปิฎก แบ่งเนื้อหาออกเป็น 7 คัมภีร์ คือ –

1 สังคณี หรือธัมมสังคณี

2 วิภังค์

3 ธาตุกถา

4 ปุคคลบัญญัติ

5 กถาวัตถุ

6 ยมก

7 ปัฏฐาน หรือมหาปกรณ์

โบราณเอาคำแรกของชื่อคัมภีร์ทั้ง 7 มาเรียกรวมกันว่า “สังวิธาปุกะยะปะ” นับถือกันว่าเป็น “หัวใจพระอภิธรรมปิฎก” หรือ “หัวใจพระอภิธรรม”

คัมภีร์วิภังค์ มีอรรถกถาชื่อ “สัมโมหวิโนทนี

…………..

ดูก่อนภราดา!

: วิชาการช่วยเพียงแค่ให้รู้ว่ามันคืออะไร

: แต่ปัญญาช่วยให้รู้ต่อไปว่ามันดีหรือมันชั่ว –

: และรู้ถ้วนทั่วว่าควรปฏิบัติอย่างไรกับมัน

#บาลีวันละคำ (3,110)

17-12-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย