บาลีวันละคำ

กังขาวิตรณี (บาลีวันละคำ 3,111)

กังขาวิตรณี

เครื่องข้ามวิเศษให้พ้นเขตกังขา

อ่านว่า กัง-ขา-วิ-ตะ-ระ-นี

ประกอบด้วยคำว่า กังขา + วิตรณี

(๑) “กังขา

เขียนแบบบาลีเป็น “กงฺขา” อ่านว่า กัง-ขา รากศัพท์มาจาก กงฺขฺ (ธาตุ = สงสัย) + (อะ) ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: กงฺขฺ + = กงฺข + อา = กงฺขา แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่สงสัย

กงฺขา” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ :

(1) ความสงสัย, ความไม่แน่ใจ (doubt, uncertainty)

(2) มีความสงสัย, มีความข้องใจ (doubting, doubtful)

(3) ความคาดหวัง (expectation)

ในทางรูปศัพท์ “กงฺขา” บาลีตรงกับ “กางฺกฺษา” ในสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

กางฺกฺษา : (คำนาม) ความปรารถนา, ความลำเอียง, ความใคร่; wish, inclination, desire.”

ในภาษาไทย เรารู้จัก “กงฺขา-กังขา” ในความหมายว่า สงสัย ข้องใจ แต่เมื่อเทียบกับสันสกฤตจะเห็นได้ว่า “กังขา-กางฺกฺษา” ไม่ใช่สงสัยแบบไม่แน่ใจ ลังเล หรือเคลือบแคลงเฉยๆ แต่เป็นความสงสัยแบบใคร่รู้ คือมีความคาดหวัง แต่ไม่แน่ใจว่าจะสมหวังหรือไม่ ระคนอยู่ในเรื่องนั้นด้วย

โปรดสังเกตคำแปลภาษาอังกฤษ expectation, wish, desire จะเห็นความหมายของ “กังขา” ในด้านที่เราไม่ได้นึกถึงและไม่ได้นำมาใช้

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กังขา : (คำนาม) ความเคลือบแคลง, ความสงสัย. (ป.).”

(๒) “วิตรณี

อ่านว่า วิ-ตะ-ระ-นี รากศัพท์มาจาก –

(ก) วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ตรฺ (ธาตุ = ข้าม) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) และแปลง เป็น

: วิ + ตรฺ = วิตรฺ + ยุ > อน = วิตรน > วิตรณ แปลตามศัพท์ว่า “การข้ามพ้นอย่างวิเศษ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ตรณ” (ไม่มี “วิ-”) ว่า going across, passing over, traversing (การข้ามไป, การผ่านไป, การข้ามพ้น)

และแปล “วิตรณ” (มี “วิ-”)  ว่า overcoming, getting through (การก้าวล่วง, การล่วงพ้น)

(ข) วิตรณ + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: วิตรณ + อี = วิตรณี แปลตามศัพท์ว่า “(อรรถกถา) อันเป็นเครื่องช่วยให้ข้ามพ้นอย่างวิเศษ

ศัพท์นี้ถ้าเป็น “ตรณี” (ไม่มี “วิ-”) หมายถึง เรือ แปลตามศัพท์ว่า “พาหนะเป็นเครื่องข้าม

กงฺขา + วิตรณี = กงฺขาวิตรณี แปลความว่า “(อรรถกถา) อันเป็นเครื่องช่วยให้ข้ามพ้นความสงสัยได้อย่างวิเศษ

กงฺขาวิตรณี” ถ้าเป็นศัพท์เดิม คือ “กงฺขาวิตรณ” (กัง-ขา-วิ-ตะ-ระ-นะ) แปลว่า การข้ามพ้นซึ่งความสงสัย (overcoming of doubt)

กงฺขาวิตรณี” เขียนแบบไทยเป็น “กังขาวิตรณี

ขยายความ :

กังขาวิตรณี” เป็นอรรถกถาอธิบายความในคัมภีร์พระปาติโมกข์ในพระวินัยปิฎก พระพุทธโฆสาจารย์แปลและเรียบเรียงขึ้นเป็นภาษาบาลี เมื่อ พ.ศ. ใกล้จะถึง 1000 โดยอาศัยอรรถกถาภาษาสิงหฬที่มีอยู่ก่อน คือใช้คัมภีร์มหาอัฏฐกถา เป็นหลัก พร้อมทั้งปรึกษาคัมภีร์ มหาปัจจรี และกุรุนที เป็นต้นด้วย

หลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีของคณะสงฆ์ไทย เคยใช้คัมภีร์กังขาวิตรณีเป็นแบบเรียนวิชาแปลมคธเป็นไทย ชั้นประโยค ป.ธ.6 มาตั้งแต่ พ.ศ.2485 แต่ต่อมาได้ยกเลิก และใช้คัมภีร์สมันตปาสาทิกาแทนตั้งแต่ พ.ศ.2508

…………..

ดูก่อนภราดา!

อะไรเอ่ย – ?

“หนองน้อยเท่ารอยโค

ใครฤๅจะโผข้ามพ้น”

: อุตส่าห์ภาวนาว่า พุทโธ พุทโธ

: จะมีข้ามโผล่ไปได้สักกี่คน?

#บาลีวันละคำ (3,111)

18-12-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย