บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

พิธีกรควรรู้ พิมพ์ครั้งที่ ๑๔

พิธีกรควรรู้ พิมพ์ครั้งที่ ๑๔

————————–

ผมเว้นระยะพิมพ์หนังสือเป็นธรรมทานมานาน เนื่องเพราะเหนื่อยในหลายๆ เรื่อง 

อยู่มาวันหนึ่งก็มีญาติมิตรที่โตมาจากสถาบันเดียวกันมาบอกว่าจะขอรับเอาหนังสือที่ผมเขียนไปดำเนินการพิมพ์ ก็เลยมีพิธีกรควรรู้ พิมพ์ครั้งที่ ๑๔ เกิดขึ้น 

หนังสือที่ผมเขียนยังคงยึดหลักการเดิม คือพิมพ์เป็นธรรมทาน 

พิธีกรควรรู้นี่เป็นเล่มที่มีคนต้องการมาก 

มีคนบอกว่าผมควรพิมพ์จำหน่าย 

แต่ผมบอกว่าผมควรพิมพ์เป็นธรรมทาน

มีเรื่องที่ต้องกราบขออภัยญาติมิตรเรื่องหนึ่งคือ “ผมทำรายชื่อผู้บริจาคหาย” 

เรื่องก็คือ เมื่อไม่นานมานี้อุปกรณ์ที่ผมเก็บข้อมูลต่างๆ ไว้เกิดไม่ทำงาน ส่งไปให้ช่างตรวจ ช่างตรวจทุกซอกมุมแล้วบอกว่าเสียใจด้วย มันพังแล้ว 

ข้อมูลหลายอย่างพังตามไปด้วย 

ภาพดีๆ ที่อุตส่าห์ถ่ายเก็บไว้เป็นร้อยๆ ภาพ สุญโญโหติไปหมด 

รายชื่อผู้บริจาคพิมพ์หนังสือก็อยู่ในนั้นด้วย 

เคราะห์ดีนักหนาที่ต้นฉบับบาลีวันละคำสามพันกว่าคำ กับบทความที่เขียนโพสต์ทางเฟซบุ๊ก ผมแยกเก็บไว้ต่างหาก

เรื่องนี้ไม่ใช่นิทาน แต่สอนให้รู้ว่า เล่นกับไฮเทคอย่าประมาท ต้องเตรียมทางหนีทีไล่ไว้ให้พร้อม

เพราะฉะนั้น พิธีกรควรรู้ พิมพ์ครั้งที่ ๑๔ เล่มนี้จึงไม่มีรายชื่อผู้บริจาค แต่ผมให้โรงพิมพ์เขาพิมพ์ไว้ชัดๆ หลังปกว่า

…………………………..

พิธีกรควรรู้ 

พิมพ์ครั้งที่ ๑๔

พิมพ์เป็นธรรมทาน

ด้วยทุนบริจาคของผู้มีจิตศรัทธา

พ.ศ.๒๕๖๓

…………………………..

ไม่พ้นผิด แต่หวังว่าคงจะพอบรรเทาโทษลงไปได้บ้าง

ขอเรียนให้ทราบทั่วกันว่า เงินบริจาคพิมพ์หนังสือนั้นผมเก็บรวมไว้ในบัญชี และไม่ได้ไปแตะต้องอสรพิษตัวนี้ พิมพ์หนังสือทีก็แตะต้องที 

ตอนที่พิมพ์พิธีกรควรรู้ครั้งนี้ ญาติมิตรที่รับไปดำเนินการปรึกษาว่าจะพิมพ์เท่าไรดี ผมบอกว่าสัก ๒,๐๐๐ เล่มก็แล้วกัน กะว่าเงินบริจาคน่าจะมีเพียงพอ 

ปรากฏว่า พิมพ์ ๒,๐๐๐ เล่ม โรงพิมพ์คิดค่าพิมพ์ ๗๐,๐๐๐ (เจ็ดหมื่นบาท)

วันที่โรงพิมพ์เอาหนังสือมาส่ง ผมก็ให้เจ้าหน้าที่โรงพิมพ์โอนเงินจากบัญชีผ่านทางโทรศัพท์ (ธนาคารเป็นคนใส่โปรแกรมไว้ในเครื่องโทรศัพท์ให้ แต่ผมไม่เคยโอนเลย เพราะทำไม่เป็น และไม่เคยคิดจะทำเองด้วย ไม่ประสงค์จะแตะต้องอสรพิษเกินจำเป็น) 

…………………………..

๑ ผมให้เจ้าหน้าที่โรงพิมพ์เปิดโทรศัพท์ผม 

๒ เจอบัญชีแล้วผมเป็นคนกดรหัส 

๓ แล้วให้เจ้าหน้าที่โรงพิมพ์ดำเนินการเอาเอง

๔ เจ้าหน้าที่โรงพิมพ์บอกว่า เงินในบัญชีมีอยู่ ๘๐,๐๐๐ (แปดหมื่นบาท) พอจ่ายค่าพิมพ์หนังสือ

๕ การพิมพ์ครั้งนี้มีผู้บริจาคผ่านทางญาติมิตรที่รับไปดำเนินการพิมพ์ ๓,๐๐๐ (สามพันบาท) และญาติมิตรที่รับไปดำเนินการพิมพ์ได้มอบเงินให้โรงพิมพ์ไปแล้ว

๖ โรงพิมพ์คงโอนจากบัญชีอีก ๖๗,๐๐๐ (หกหมื่นเจ็ดพันบาท) 

๗ คงมีเงินบริจาคเหลือในบัญชีอีก ๑๓,๐๐๐ (หนึ่งหมื่นสามพันบาท)

จบเรื่องการจ่ายค่าพิมพ์และเงินบริจาคคงเหลือ

…………………………..

คราวนี้ก็มาถึงการแจกจ่ายเป็นธรรมทาน 

ขอเล่าขั้นตอนการทำงานให้ญาติมิตรฟังก่อน

เริ่มจากรวบรวมรายชื่อ (จ่าหน้าซอง) ของผู้ที่ขอหนังสือมา

เอาจ่าหน้าซองมาจัดลงเป็นไฟล์เท่ากระดาษ A4 หน้าหนึ่งก็จะได้ประมาณ ๑๕ ชื่อ

แล้วปริ๊นท์ออกมา

แล้วตัดเป็นแผ่นเล็กๆ แผ่นละชื่อ

แล้วเอาซองมาประทับตราชื่อผู้ส่ง และตราข้อความ “สิ่งตีพิมพ์”

แล้วเอาหนังสือบรรจุซอง ผนึกซอง

แล้วเอากาวทาแผ่นจ่าหน้าซองที่เตรียมไว้แปะบนซอง

แล้วติดแสตมป์ 

เป็นอันว่าหนังสือพร้อมส่ง

ถ้าไม่มากนัก ผมก็เอาใส่ถุง สะพายเดินไปส่งที่ทำการไปรษณีย์

ถ้ามากเกินกำลัง ก็เอาใส่รถขับไปส่งที่ทำการไปรษณีย์

หนังสือก็จะไปถึงมือญาติมิตรตามเวลาที่สมควรต่อไป

รายไหนถูกไปรษณีย์ตีกลับ ก็แก้ปัญหากันเป็นรายๆ ไป

ขอเล่าแทรกไว้ตรงนี้ว่า – 

ค่าซองค่าแสตมป์ผมสงวนสิทธิ์ออกเอง เพราะอยากจะได้บุญมั่ง 

แต่ก็มักมีญาติมิตรเข้ามาสมทบ มีรายหนึ่งยกซองมาเป็นลังๆ (ดูภาพประกอบ) ใช้ได้เป็นปี ขนมาให้เองถึงบ้าน ขอถ่ายรูปผู้บริจาคก็ไม่อนุญาต เมื่อไม่นานมานี้ยังถามไถ่มาว่าซองหมดหรือยัง

บางท่านรู้แกว ส่งแสตมป์มาตัดหน้าเป็นร้อยดวง ชิงไหวชิงพริบกันน่าดู ผมจะได้บุญน้อยลงก็ตรงนี้แหละ

ในขั้นตอนกระบวนการบรรจุซองนั้น จะมีมดงานชุดหนึ่งที่รู้เรื่องเข้า ก็จะนัดหมายกันยกพลมาที่บ้านผม มาช่วยกันตะลุมบอน บางทีเห็นผมเงอะงะงุ่มง่าม ท่านรำคาญนักก็ช่วยทำตั้งแต่จัดรายชื่อเข้าเครื่องปริ๊นท์โน่นเลย

มดงานกลุ่มนี้มาทำงานโดยไม่ได้อะไร นอกจากเอาบุญเป็นกำไร 

ขออนุโมทนาสาธุการกับทุกท่านทุกคนมา ณ ที่นี้ 

—————–

ทีนี้ก็ได้เวลาแสดงความจำนงกันมาได้แล้วนะครับ 

พิธีกรควรรู้ พิมพ์ครั้งที่ ๑๔ พิมพ์เป็นธรรมทานด้วยทุนบริจาคของผู้มีจิตศรัทธา ท่านผู้ใดประสงค์จะได้ไว้ศึกษา โปรดแจ้ง “จ่าหน้าซอง” มาที่ผมได้ตั้งแต่บัดนี้

พิมพ์ชัดๆ

อย่าลืมรหัสไปรษณีย์

และไม่ต้องหวังดีถ่ายเป็นรูปตัวหนังสือจ่าหน้าซองมานะครับ

แบบนั้นผมก็ต้องเอามาพิมพ์ใหม่อยู่ดี เป็นการเพิ่มภาระขึ้นอีก

คำแนะนำสุดท้าย เมื่อขอมาเรียบร้อยแล้วก็โปรดรอ และทำใจเย็นๆ ถือเป็นการปฏิบัติธรรมไปในตัว

โปรดอนุโมทนาให้แก่กันและกันในบุญกิริยาครั้งนี้โดยทั่วหน้าเถิด

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๓

๑๕:๑๐

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *