บาลีวันละคำ

ลีนัตถปกาสินี (บาลีวันละคำ 3,113)

ลีนัตถปกาสินี

คัมภีร์ประกาศอรรถธรรมที่ลี้ลับ

อ่านว่า ลี-นัด-ถะ-ปะ-กา-สิ-นี

ประกอบด้วยคำว่า ลีนัตถ + ปกาสินี

(๑) “ลีนัตถ

เขียนแบบบาลีเป็น “ลีนตฺถ” อ่านว่า ลี-นัด-ถะ แยกศัพท์เป็น ลีน + อตฺถ

(ก) “ลีน” (ลี-นะ) รากศัพท์มาจาก ลี (ธาตุ = ปกปิด) + ปัจจัย, แปลง เป็น

: ลี + = ลีต > ลีน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ปกปิด

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “ลีน” ว่า ซ่อนเร้น, ลับ, ปกปิด

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ลีน” ว่า

(1) clinging, sticking (เกาะ, ติด);

(2) slow, sluggish (ค่อย ๆ, เชื่องช้า)

(3) shy, reserved, dull (อายหรือไม่กล้า, สำรวม, โง่)

(ข) “อตฺถ” (อัด-ถะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) อรฺ (ธาตุ = ไป, ถึง เป็นไป; พินาศ) + ปัจจัย, แปลง รฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ (อรฺ > อตฺ)

: อรฺ + = อรฺถ > อตฺถ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นเครื่องให้ดำเนินไปได้” (2) “สิ่งที่ให้ดำเนินไปตามการณ์” (3) “สิ่งอันบุคคลถึง คือได้รับตามครรลองแห่งเหตุ” (4) “ภาวะที่พินาศ

(2) อสฺ (ธาตุ = มี, เป็น) + ปัจจัย, แปลง สฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ (อสฺ > อตฺ)

: อสฺ + = อสฺถ > อตฺถ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นเหตุให้มีให้เป็น” (2) “เหตุให้มีศัพท์

(3) อตฺถฺ (ธาตุ = ขอ, ปรารถนา) + (อะ) ปัจจัย

: อตฺถฺ + = อตฺถ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ต้องการ

อตฺถ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) กำไร, ผลประโยชน์, การได้เปรียบ; ความดี, พร, สวัสดิภาพ; ผลที่ได้มา, ความรุ่งเรือง, สวัสดิการ (interest, advantage, gain; good, blessing, welfare; profit, prosperity, well-being)

(2) ความประสงค์, ความต้องการ, ความปรารถนา, ประโยชน์ (need, want, use)

(3) เนื้อความ, ความหมาย, ความสำคัญ (ของคำพูด), การหมายถึง (sense, meaning, import [of a word], denotation, signification)

(4) ข้อความ, สิ่งของ (matter, thing)

(5) เรื่องราว, ความเห็น, คดี (affair, cause, case)

ลีน + อตฺถ = ลีนตฺถ > ลีนัตถ แปลว่า “ความหมายที่ยังไม่กระจ่างแจ้ง” หมายถึง เรื่องราวข้อธรรมที่เข้าใจยาก

(๒) “ปกาสินี

อ่านว่า ปะ-กา-สิ-นี รากศัพท์มาจาก ปกาส + อินี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

(ก) “ปกาส” รากศัพท์มาจาก (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + กาสฺ (ธาตุ = ส่องแสง, ส่งเสียง) + (อะ) ปัจจัย

: + กาสฺ = ปกาสฺ + = ปกาส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ส่องสว่างทั่ว” “ผู้ส่งเสียงไปทั่ว

ปกาส” ในบาลีมักใช้ในความหมายว่า แสงสว่าง, ความสว่าง (light)

ถ้าใช้ในความหมายว่า การอธิบาย, การทำให้ทราบ, ข่าวสาร, หลักฐาน, การชี้แจง, การประกาศ, การเผยแพร่ (explaining, making known; information, evidence, explanation, publicity) บาลีนิยมใช้ในรูป “ปกาสน” (ปะ-กา-สะ-นะ) ( + กาสฺ + ยุ > อน = ปกาสน) แต่ “ปกาส” ที่ใช้ในความหมายเดียวกับ “ปกาสน” ก็มี

บาลี “ปกาส” สันสกฤตเป็น “ปฺรกาศ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ปฺรกาศ : (คำนาม) ‘ประกาศ,’ สูรยาตบะ, สูรยาโลก, แสงแดด; โศภา, ประภา; ความเบิกบาน, ความสร้าน, ความแสดงไข; หัวเราะ; ยิ้ม; ความเปิดเผยหรือแพร่หลาย; ธาตุสีขาวหรือธาตุหล่อระฆัง; sunshine; luster, light, expansion, diffusion, manifestation; a laugh; a smile; publicity; white or bellmetal.”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ยังมีคำว่า “ปฺรกาศ” ที่ใช้เป็นคำกริยาวิเศษณ์ บอกไว้ว่า –

ปฺรกาศ : (คำกริยาวิเศษณ์) ‘ประกาศ,’ โดยเปิดเผย; openly, publicly.”

และมีรูปคำ “ปฺรกาศน” เช่นเดียวกับ “ปกาสน” ในบาลี บอกไว้ดังนี้ –

ปฺรกาศน : (คำนาม) ‘ประกาศน์,’ การจุดประทีปโคมไฟ, การให้แสงสว่าง; การแสดงไข; illuminating, giving light; making clear or manifest.”

ในภาษาไทยใช้อิงรูปสันสกฤตเป็น “ประกาศ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ประกาศ : (คำกริยา) ป่าวร้อง, แจ้งให้ทราบ, เช่น ประกาศงานบุญงานกุศล. (คำนาม) ข้อความที่แจ้งให้ทราบทั่วกัน เช่น ประกาศของวัด ประกาศของบริษัท; ข้อความที่ทางราชการแจ้งให้ประชาชนทราบหรือวางแนวทางให้ปฏิบัติ เช่น ประกาศพระบรมราชโองการ ประกาศกระทรวง ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี. (ส. ปฺรกาศ; ป. ปกาส).”

(ข) ปกาส + อินี = ปกาสินี แปลว่า “(ฎีกา) อันส่องสว่างทั่วถ้วน” หรือ “(ฎีกา) อันประกาศให้เข้าใจชัด

ลีนตฺถ + ปกาสินี = ลีนตฺถปกาสินี > ลีนัตถปกาสินี แปลความว่า “(ฎีกา) อันส่องสว่างให้เห็นพระสัทธรรมทั่วถ้วน” หรือ “(ฎีกา) อันประกาศพระสัทธรรมให้เข้าใจชัด

หมายเหตุ : คำนี้ว่าตามหลักบาลีไวยากรณ์ว่าด้วยการสมาส ย่อมนิยมซ้อน ปฺ ระหว่าง ลีนตฺถ กับ ปกาสินี เนื่องจากศัพท์หลังขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ

: ลีนตฺถ + ปฺ + ปกาสินี = ลีนตฺถปฺปกาสินี (ลี-นัด-ถับ-ปะ-กา-สิ-นี)

แต่เมื่อใช้เป็นคำไทย นิยมตัดตัวซ้อนออก เขียนเป็น “ลีนัตถปกาสินี

ขยายความ :

ลีนัตถปกาสินี” เป็นชื่อคัมภีร์ชั้นฎีกา อธิบายอรรถกถาแห่งนิกายทั้งสี่ คือ “สุมังคลวิลาสินี” อรรถกถาของทีฆนิกาย “ปปัญจสูทนี” อรรถกถาของมัชฌิมนิกาย “สารัตถปกาสินี” อรรถกถาของสังยุตนิกาย “มโนรถปูรณี” อรรถกถาของอังคุตรนิกาย และอธิบายอรรถกถาแห่งชาดกอีกคัมภีร์หนึ่ง

กล่าวอีกอย่างหนึ่ง คัมภีร์ชั้นฎีกาที่อธิบายอรรถกถาแห่งทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตนิกาย อังคุตรนิกาย และอรรถกถาแห่งชาดก เป็นคัมภีร์ชื่อเดียวกัน คือชื่อ “ลีนัตถปกาสินี

ผู้รจนาคัมภีร์ฎีกาดังกล่าวนี้ คือพระอาจารย์ธรรมปาละ แห่งพทรติตถวิหารซึ่งอยู่ในอินเดียตอนใต้ อาศัยแนวของโปราณัฏฐกถาที่รักษาสืบต่อกันมาในลังกาทวีป ซึ่งเป็นภาษาสิงหฬ รจนาขึ้นเป็นภาษาบาลี ในสมัยภายหลังพระพุทธโฆสาจารย์ไม่นานนัก

…………..

ดูก่อนภราดา!

: พุทธธรรมลึกล้ำที่สุด

: จิตมนุษย์ลึกลับที่สุด

#บาลีวันละคำ (3,113)

20-12-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย