บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ข้อสอบตัวจริง

ข้อสอบตัวจริง

————–

ระยะนี้สำนักเรียนบาลีต่างๆ กำลังจัดการอบรมเข้มกันอย่างคึกคัก 

น่าดีใจที่การเรียนบาลีในบ้านเรามีผู้สนใจเรียนและมีผู้มีศรัทธาสนับสนุนกันมาก ควรแก่การอนุโมทนา 

และขออนุโมทนาสาธุการไว้ ณ ที่นี้ด้วย

อีกไม่นานก็จะถึงวันกำหนดสอบ 

…………………………

วันที่ ๑๕-๑๖ มกราคม ๒๕๖๔ สอบประโยค ป.ธ.๗

วันที่ ๑๗-๑๘-๑๙ มกราคม ๒๕๖๔ สอบประโยค ป.ธ.๘-๙

วันที่ ๗-๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ สอบประโยค ๑-๒, ประโยค ป.ธ.๔-๕

วันที่ ๗-๘-๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ สอบประโยค ป.ธ.๓

…………………………

ในกระบวนการติวเข้มนั้นก็จะมีการกะเก็งกันว่า ปีนี้ข้อสอบน่าจะออกตรงไหน 

“ข้อสอบน่าจะออกตรงไหน” หมายความว่ากระไร?

หมายความว่าอย่างนี้ครับ – ในหลักสูตรบาลีของคณะสงฆ์ไทยกำหนดให้ใช้คัมภีร์ดังต่อไปนี้เป็นแบบเรียน 

๑ ธัมมปทัฏฐกถา มี ๘ เล่ม

๒ มังคลัตถทีปนี มี ๒ เล่ม

๓ สมันตปาสาทิกา มี ๓ เล่ม

๔ วิสุทธิมรรค มี ๓ เล่ม

๕ อภิธัมมัตถวิภาวินี มี ๑ เล่ม

ชั้นไหนเรียนคัมภีร์ไหน เฉพาะวิชาแปลมคธเป็นไทย (แปลบาลีเป็นไทย) กำหนดไว้ดังนี้ –

๑ ธัมมปทัฏฐกถา ประโยค 1-2 และประโยค ป.ธ.๓

๒ มังคลัตถทีปนี ประโยค ป.ธ.๔ และ ๕

๓ สมันตปาสาทิกา ประโยค ป.ธ.๖ และ ๗

๔ วิสุทธิมรรค ประโยค ป.ธ.๘

๕ อภิธัมมัตถวิภาวินี ประโยค ป.ธ.๙

นักเรียนแต่ละชั้นจึงย่อมรู้ว่าเนื้อหาวิชาที่จะเรียนมีอยู่ตามคัมภีร์เหล่านี้

ข้อสอบจะยกข้อความในคัมภีร์เหล่านี้มาให้นักเรียนแปล จะยกข้อความตรงไหน แล้วแต่ผู้ออกข้อสอบ-ซึ่งโดยปกติก็คือแม่กองบาลีสนามหลวง-จะเป็นผู้เลือก

เพราะฉะนั้น กระบวนการ “เก็ง” ข้อสอบจึงย่อมเกิดขึ้นได้

เก็งตรงไหน ก็ฝึกหัดแปลข้อความตรงนั้นให้แม่นยำช่ำชอง

ถ้าข้อสอบออกตรงตามที่เก็ง ก็ทำข้อสอบได้ดี มีโอกาสสอบได้สูง

จะเห็นได้ว่า คัมภีร์ที่ถูกนำมาศึกษาเล่าเรียนกันในเมืองไทย-ตามหลักสูตรบาลีของคณะสงฆ์ไทย-มีเพียง ๕ คัมภีร์เท่านั้น 

และเป็นคัมภีร์ระดับ “อรรถกถา” ลงมาทั้งสิ้น

ไม่มีพระไตรปิฎกแม้แต่เล่มเดียว (พระไตรปิฎกบาลีอักษรไทยมี ๔๕ เล่ม) 

เว้นแต่บางส่วนในพระไตรปิฎก เช่นธรรมบท และมงคลสูตรเป็นต้น

นักเรียนบาลีในเมืองไทยจะแปลกันอย่างแหลกละเอียดอยู่ในเฉพาะ ๕ คัมภีร์นี่เท่านั้น 

กี่ปีกี่ชาติก็แปลกันอยู่ ๕ คัมภีร์นี้ 

(และส่วนมากเป็นการแปลเพื่อเตรียมเอาไปทำข้อสอบเพื่อให้สอบได้ในแต่ละปี ไม่ใช่แปลโดยมุ่งจะศึกษาพระธรรมวินัยให้เข้าใจถูกต้องเพื่อเอาไปประพฤติปฏิบัติและเผยแผ่ต่อไป)

คัมภีร์ในพระพุทธศาสนามีอีกเป็น ๑๐๐ คัมภีร์ ที่นักเรียนบาลีไม่เคยแปล และอาจจะไม่เคยเห็นด้วยซ้ำ

นี่คือจุดอับอย่างหนึ่งในการเรียนบาลีในบ้านเรา

ผมไม่ได้คัดค้านหรือโต้แย้งการเรียนบาลีเพื่อสอบได้ ตรงข้าม ผมสนับสนุนอย่างยิ่ง และไม่ใช่สนับสนุนแต่ปาก หากแต่ได้ลงมือทำมาตลอด 

เพียงแต่ผมข้อร้องว่า อย่าให้จบแค่สอบได้ (ทุกวันนี้จบแค่สอบได้กันแทบทั้งหมด) 

แต่ขอให้ต่อยอดไปจนถึง-เรียนให้ได้ความรู้ แล้วเอาความรู้ไปศึกษาพระธรรมวินัยในคัมภีร์อื่นๆ (ที่มีอีกเป็น ๑๐๐ และนักเรียนบาลียังไม่เคยแปลหรือยังไม่เคยเห็นด้วยซ้ำ) ต่อไปอีก

แล้วเอาความรู้ที่ถูกต้องมาประพฤติปฏิบัติ

แล้วเผยแผ่สืบต่อไปอีกเรื่อยๆ

พระศาสนาของเราจะดำรงอยู่และดำเนินไปได้ด้วยอาการอย่างนี้

————–

ต้อไปนี้เป็น “ข้อสอบตัวจริง” ที่ผมไปเจอมา ขอนำมาเล่าให้นักเรียนบาลีฟัง 

ท่านที่ไม่มีพื้นบาลี อาจจะเข้าใจยากหรืออาจไม่เข้าใจเลย ก็ขอให้ทนอ่านพอเป็นอุปนิสัยเป็นปัจจัย

แต่นักเรียนบาลีควรอ่าน เพราะนี่คือของจริง

………………

ตอนที่เขียนบทความชุด “อย่าดูถูกความคิดผู้ใหญ่” ผมต้องค้นเรื่องบางตอนในพระไตรปิฎก มีอยู่ตอนหนึ่งที่พูดถึงคนที่ไม่รู้จักบุญคุณคน ผมต้องการจะอ้างภาษิตที่ว่า คนพักใต้ร่มไม้ต้นใด ไม่ควรหักก้านรานกิ่งไม้ต้นนั้น ผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นคนเลวแท้

ถ้านึกเอาตามพื้นความรู้ที่เรียนมาตั้งแต่ชั้นนักธรรม ก็น่าจะไปค้นหาภาษิตดังกล่าวนี้ในหนังสือพุทธศาสนสุภาษิต เล่ม ๒ และเล่ม ๓

ถ้าทำแบบนั้นก็จะได้แค่ตัวภาษิต แต่ไม่ได้ต้นเรื่อง 

เพราะฉะนั้นก็ทำเพียงใช้หนังสือพุทธศาสนสุภาษิตเป็นสะพานเชื่อมไปหาต้นเรื่องในพระไตรปิฎก

เรื่องนี้อยู่ในคัมภีร์ชาดก เรื่องมหาโพธิชาดก ปัญญาสนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม ๒๘ ข้อ ๖๓ 

ภาษิตนี้ยังมีในพระไตรปิฎกอีกแห่งหนึ่ง คือในคัมภีร์เปตวัตถุ เรื่องอังกุรเปตวัตถุ พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๑๐๖ 

แต่ในคัมภีร์เปตวัตถุมีภาษิตที่น่าสนใจอีกตอนหนึ่ง กล่าวไว้ว่า –

……………………………

ยสฺเสกรตฺตึปิ ฆเร วเสยฺย 

อนฺเนน ปาเนน อุปฏฺฐิโต สิยา 

น ตสฺส ปาปํ มนสาปิ เจตเย 

อทุพฺภปาณี ทหเต มิตฺตทุพฺภึ. 

……………………………

พระไตรปิฎกฉบับแปลเป็นไทย แปลไว้ว่า –

……………………………

บุคคลพึงพักอาศัยในเรือนของบุคคลใดแม้เพียงคืนหนึ่ง

พึงได้รับบำรุงด้วยข้าวและน้ำ 

ก็ไม่พึงคิดชั่วต่อบุคคลนั้นแม้ด้วยใจ

บุคคลผู้มีมืออันไม่เบียดเบียนย่อมแผดเผาบุคคลผู้ประทุษร้ายมิตร

……………………………

ข้อความที่ชวนให้สงสัย คือข้อความว่า “บุคคลผู้มีมืออันไม่เบียดเบียนย่อมแผดเผาบุคคลผู้ประทุษร้ายมิตร” (อทุพฺภปาณี ทหเต มิตฺตทุพฺภึ.) หมายความว่าอย่างไร?

อรรถกถาท่านต้องการจะอธิบายความข้อนี้ ท่านจึงอธิบายเป็นภาษาบาลีว่า –

……………………

อทุพฺภปาณีติ  อหึสกหตฺโถ  หตฺถสํยโต.  ทหเต  มิตฺตทุพฺภินฺติ  ตํ  มิตฺตทุพฺภึ  ปุคฺคลํ  ทหติ  วินาเสติ  อปฺปทุฏฺเฐ  หิตชฺฌาสยสมฺปนฺเน  ปุคฺคเล  ปเรน  กโต  อปราโธ  อวิเสเสน  ตสฺเสว  อนตฺถาวโห  อปฺปทุฏฺโฐ  ปุคฺคโล  อตฺถโต  ตํ  ทหติ  นาม.

ที่มา: ปรมตฺถทีปนี เปตวตฺถุวณฺณนา หน้า ๑๖๓

……………………

พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล (ชุด ๙๑ เล่ม) แปลความข้อนี้เป็นภาษาไทยว่า –

……………………

บทว่า อทุพฺภปาณี ได้แก่ ผู้มีมือไม่เบียดเบียน คือผู้สำรวมมือ. 

บทว่า ทหเต มิตฺตทุพิภึ ความว่า ย่อมแผดเผา คือย่อมทำบุคคลผู้มักประทุษร้ายต่อมิตรนั้นให้พินาศ 

ว่าโดยอรรถ ชื่อว่าย่อมแผดเผาบุคคลผู้ไม่ประทุษร้าย ผู้อันคนอื่นกระทำความผิดในบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยอัธยาศัยที่เป็นประโยชน์ ผู้ไม่ประทุษร้าย คือนำมาซึ่งความพินาศแก่บุคคลนั้นนั่นแลโดยไม่แปลกกัน.

……………………

ขอยกคำบาลีมาเทียบให้ดูด้วย ดังนี้ –

……………………

(๑) อทุพฺภปาณีติ อหึสกหตฺโถ หตฺถสํยโต. 

บทว่า อทุพฺภปาณี ได้แก่ ผู้มีมือไม่เบียดเบียน คือผู้สำรวมมือ. 

(๒) ทหเต มิตฺตทุพฺภินฺติ ตํ มิตฺตทุพฺภึ ปุคฺคลํ ทหติ วินาเสติ

บทว่า ทหเต มิตฺตทุพิภึ ความว่า ย่อมแผดเผา คือย่อมทำบุคคลผู้มักประทุษร้ายต่อมิตรนั้นให้พินาศ 

(๓) อปฺปทุฏฺเฐ หิตชฺฌาสยสมฺปนฺเน ปุคฺคเล ปเรน กโต อปราโธ อวิเสเสน ตสฺเสว อนตฺถาวโห อปฺปทุฏฺโฐ ปุคฺคโล อตฺถโต ตํ ทหติ นาม.

ว่าโดยอรรถ ชื่อว่าย่อมแผดเผาบุคคลผู้ไม่ประทุษร้าย ผู้อันคนอื่นกระทำความผิดในบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยอัธยาศัยที่เป็นประโยชน์ ผู้ไม่ประทุษร้าย คือนำมาซึ่งความพินาศแก่บุคคลนั้นนั่นแลโดยไม่แปลกกัน.

……………………

ข้อ (๑) และข้อ (๒) แปลชัดเจน เข้าใจได้ไม่ยาก

แต่ข้อ (๓) อ่านหลายเที่ยวแล้วก็ยังไม่เข้าใจว่า ต้องการจะอธิบายว่าอย่างไร 

เฉพาะข้อ (๓) ลองเอาภาษาบาลีใส่กำกับไว้ตรงคำแปลแต่ละท่อนดูโดยคงภาษาไทยตรงตามที่แปลไว้ ดังนี้ –

……………………

ว่าโดยอรรถ (อตฺถโต) 

ชื่อว่าย่อมแผดเผาบุคคลผู้ไม่ประทุษร้าย (อปฺปทุฏฺโฐ ปุคฺคโล … ตํ ทหติ นาม) 

ผู้อันคนอื่นกระทำความผิด (ปเรน กโต อปราโธ) 

ในบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยอัธยาศัยที่เป็นประโยชน์ (หิตชฺฌาสยสมฺปนฺเน) 

ผู้ไม่ประทุษร้าย (อปฺปทุฏฺเฐ) 

คือนำมาซึ่งความพินาศแก่บุคคลนั้นนั่นแล (ตสฺเสว อนตฺถาวโห) 

โดยไม่แปลกกัน (อวิเสเสน) 

……………………

จะเห็นได้ว่าแปลครบหมดทุกคำ

แต่รวมความทั้งหมดแล้วเข้าใจยากอย่างยิ่ง แปลแล้วก็ไม่รู้ว่าอรรถกถาท่านต้องการจะอธิบายไขความว่ากระไรกันแน่

—————-

หลังจากพยายามขบความและจับความในประโยคภาษาบาลีหลายเที่ยว ผมจึงเข้าใจ 

ต่อไปนี้เป็นคำอธิบายตามที่ผมเข้าใจ 

……………………

ข้อความในบาลีที่เป็นปัญหาคือ –

“บุคคลผู้มีมืออันไม่เบียดเบียนย่อมแผดเผาบุคคลผู้ประทุษร้ายมิตร” (อทุพฺภปาณี ทหเต มิตฺตทุพฺภึ.)

ปัญหาคือ คนที่ไม่เบียดเบียนใคร แต่กลับไปแผดเผา คือเบียดเบียนคนที่ประทุษร้ายมิตรเสียอีก นี่มันยังไงกัน

คำอธิบายของอรรถกถา เป็นดังนี้ –

ทหเต  มิตฺตทุพฺภินฺติ  ตํ  มิตฺตทุพฺภึ  ปุคฺคลํ  ทหติ  วินาเสติ  

คนที่ไม่ทำร้ายใคร (อทุพฺภปาณี หมายถึงเจ้าของบ้านที่ต้อนรับให้พักอยู่ด้วย) ย่อมแผดเผาคนที่ทำร้ายมิตร (มิตฺตทุพฺภึ คือคนที่เขาให้พักที่บ้าน ให้ข้าวให้น้ำ แต่แล้วก็กลับคิดร้ายต่อเขา) คือทำให้คนที่ทำร้ายมิตรกลับต้องพินาศเอง

หมายความว่าอย่างไร?

หมายความว่า –

(อ่านข้ามคำบาลีในวงเล็บไปเลยก็ได้)

(อปฺปทุฏฺโฐ  ปุคฺคโล) คนที่ไม่ได้ทำร้ายใคร (คือเจ้าของบ้าน) 

(ปเรน  กโต  อปราโธ) เขาถูกอีกคนหนึ่งทำความผิดให้ (คือถูกคนที่มาพักด้วยทำร้าย) 

(อวิเสเสน  ตสฺเสว  อนตฺถาวโห) ความผิดที่คนมาพักด้วยทำนั้นก็จะนำความพินาศมาให้แก่คนทำเหมือนกับที๋เขาทำแก่เจ้าของบ้านนั่นเอง 

(อวิเสเสน) โดยไม่แปลกกัน คือทำกับเจ้าของบ้านอย่างไร ตัวเองก็จะได้รับผลอย่างนั้นเหมือนกัน) 

เพราะฉะนั้นท่านจึงว่า –

โดยเนื้อหาจริงๆ (อตฺถโต) แล้ว 

เจ้าของบ้านซึ่งไม่ได้ทำร้ายใครเลยนั่นเอง (อปฺปทุฏฺโฐ  ปุคฺคโล) 

(ตํ  ทหติ  นาม) ชื่อว่าย่อมแผดเผาคนที่คิดร้ายนั้น 

จริงๆ แล้วเจ้าของบ้านไม่ได้เป็นคนให้โทษแก่คนคิดร้าย หากแต่ผลกรรมของคนคิดร้ายนั่นเองเป็นตัวให้โทษ แต่เพราะกรรมนั้นทำแก่เจ้าของบ้าน จึงเหมือนกับว่าเจ้าของบ้านเป็นคนให้โทษ

นี่คือความหมายของความในบาลีที่ว่า “บุคคลผู้มีมืออันไม่เบียดเบียนย่อมแผดเผาบุคคลผู้ประทุษร้ายมิตร”

กว่าจะเข้าใจได้ เล่นเอาเหนื่อยไปเหมือนกัน

จะเห็นได้ว่า การแปลบาลีนั้นไม่ใช่ทำได้ง่ายๆ 

แปลออกมาเป็นคำๆ หรือแม้เป็นประโยคๆ น่ะแปลได้ไม่ยาก 

แต่แปลแล้วคนอ่านจะเข้าใจได้หรือไม่ หรือแม้เข้าใจได้ แต่เข้าใจถูกต้องหรือเปล่า-นี่สิเป็นเรื่องสำคัญ

……………………

เรื่องที่ผมเขียนนี้อาจไม่เป็นประโยชน์เลยแก่นักเรียนบาลีที่กำลังติวเข้มกันอยู่ในขณะนี้ เพราะไม่ใช่ประโยคเก็ง และเนื้อหาของเรื่องไม่ได้อยู่ในคัมภีร์ที่เป็นแบบเรียน

แต่เรื่องทำนองนี้แหละคือ “ข้อสอบตัวจริง” ที่รอให้นักเรียนบาลีเข้าไปทำ

ทำข้อสอบของบาลีสนามหลวงได้แล้ว กรุณาอย่าจบแค่นั้นนะขอรับ

ข้อสอบตัวจริงยังรอทำอยู่อีกเยอะเลย

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๙ ธันวาคม ๒๕๖๓

๑๘:๕๘

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย


ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *