บาลีวันละคำ

วิมติวิโนทนี (บาลีวันละคำ 3,117)

วิมติวิโนทนี

คัมภีร์ที่บรรเทาความสงสัย

อ่านว่า วิ-มะ-ติ-วิ-โน-ทะ-นี

ประกอบด้วยคำว่า วิมติ + วิโนทนี

(๑) “วิมติ

อ่านว่า วิ-มะ-ติ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + มนฺ (ธาตุ = รู้, เข้าใจ) + ติ ปัจจัย, ลบ นฺ ที่สุดธาตุ (มนฺ > )

: วิ + มนฺ = วิมนฺ + ติ = วิมนติ > วิมติ แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะเป็นเหตุให้สำคัญไปโดยอาการต่างๆ” หมายถึง ความสงสัย, ความเคลือบแคลง, ความงุนงง (doubt, perplexity, consternation)

คำนี้ในภาษาไทยใช้เป็น “วิมัติ” อ่านว่า วิ-มัด ถ้ามีคำอื่นสมาสข้างท้าย อ่านว่า วิ-มัด-ติ- เช่น “วิมัติกังขา” อ่านว่า วิ-มัด-ติ-กังขา ไม่ใช่ วิ-มัด-กัง-ขา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วิมัติ : (คำนาม) ความเคลือบแคลง, ความสงสัย. (ป., ส. วิมติ).”

(๒) “วิโนทนี

อ่านว่า วิ-โน-ทะ-นี รูปคำเดิมมาจาก วิโนทน + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

(ก) “วิโนทน” รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + นุทฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง, ประกาศ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แผลง อุ ที่ นุ-(ทฺ) เป็น โอ (นุทฺ > โนท)

: วิ + นุทฺ = วินุทฺ + ยุ > อน = วินุทน > วิโนทน แปลตามศัพท์ว่า “เหตุเป็นเครื่องบรรเทา” หมายถึง การขับไล่, การบรรเทา, การเอาออก (dispelling, removal)

(ข) วิโนทน + อี = วิโนทนี แปลตามศัพท์ว่า “(ฎีกา) เป็นเครื่องบรรเทา-”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ไม่ได้เก็บคำว่า “วิโนทน” และ “วิโนทนี” ไว้ แต่เก็บคำว่า “วิโนทก” ซึ่งมีรากศัพท์มาทางเดียวกัน บอกไว้ว่า –

วิโนทก : (คำนาม) ผู้บรรเทา. (ป., ส.).

วิมติ + วิโนทนี = วิมติวิโนทนี แปลความว่า “(ฎีกา) เป็นเครื่องบรรเทาความสงสัย”

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความไว้ว่า –

…………..

วิมติวิโนทนี : ชื่อคัมภีร์ฎีกาอธิบายพระวินัย แต่งโดยพระกัสสปเถระ ชาวแคว้นโจฬะ ในอินเดียตอนใต้.”

…………..

แถม :

พระวินัยปิฎกเป็น 1 ในพระไตรปิฎก แบ่งเนื้อหาออกเป็น 5 คัมภีร์ คือ –

1 อาทิกรรม

2 ปาจิตตีย์

3 มหาวรรค

4 จุลวรรค

5 ปริวาร

โบราณเอาคำแรกของชื่อคัมภีร์ทั้ง 5 มาเรียกรวมกันว่า “อาปามะจุปะ” นับถือกันว่าเป็น “หัวใจพระวินัยปิฎก”

คัมภีร์ชั้นอรรถกถาที่อธิบายพระวินัยปิฎกมีชื่อว่า “สมันตปาสาทิกา” อธิบายพระวินัยจบครบทั้ง 5 คัมภีร์

คัมภีร์ชั้นฎีกาที่อธิบายพระวินัยปิฎกมีหลายคัมภีร์ เฉพาะที่สำคัญมี 3 คัมภีร์ คือ –

๑ “วชิรพุทธิฎีกา” พระอาจารย์นามว่าวชิรพุทธิเถระเป็นผู้รจนา

๒ “วิมติวิโนทนี” เล่มที่กำลังกล่าวถึงนี้

๓ “สารัตถทีปนี” ผู้แต่งคือพระอาจารย์ชื่อสารีบุตร (ไม่ใช่พระสารีบุตรอัครสาวก)

เท่าที่ทราบในเวลาที่เขียนบาลีวันละคำนี้ คัมภีร์ “วิมติวิโนทนี” ที่พิมพ์เป็นบาลีอักษรไทยมีฉบับที่มูลนิธิภูมิพโลภิกขุจัดพิมพ์ แบ่งเป็น 2 ภาค

…………..

ดูก่อนภราดา!

: บรรเทากิเลสได้มากเท่าใด

: บรรเทาปัญหาหัวใจได้มากเท่านั้น

#บาลีวันละคำ (3,117)

24-12-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย