ใครจะเข้ามาร่วมกันช่วยสานฝันนี้ให้เป็นจริงบ้าง
ใครจะเข้ามาร่วมกันช่วยสานฝันนี้ให้เป็นจริงบ้าง
————————————
ผมโพสต์ถามเรื่องคาถาพาหุงแปลโดยพยัญชนะไปเมื่อวานนี้ (๒๓ ธันวาคม ๒๕๖๓) ในชื่อ “ฤๅจะมีค่าแค่เพียงเสียงเพรียกหา”
…………………………………..
…………………………………..
ปรากฏว่ามีเสียงกู่ร้องตอบรับเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่ง
ใครเคยเดินป่าจะรู้ซึ้งถึงความรู้สึกแบบนี้ได้ดี
ผมโชคดีที่โตมากับทุ่งนาป่าเขา เคยทำนา เคยเดินป่า เคยนอนป่า แต่ไม่ทันได้ “ขัดห้างนอน” เหมือนรุ่นผู้ใหญ่ (ขัดห้าง: ทําที่พักบนต้นไม้ในป่าชั่วคราวสําหรับคอยเฝ้าดูเหตุการณ์หรือดักยิงสัตว์เป็นต้น. – พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยฯ)
เวลาแยกกันเดิน แล้วไม่รู้ว่ากลุ่มไหนไปถึงไหนแล้ว สมัยโน้น (กว่าครึ่งศตวรรษขึ้นไป) ไม่มีเครื่องมือสื่อสารไฮเทคเหมือนสมัยนี้ อุปกรณ์สื่อสารที่ดีที่สุดคือเขาควายหรือเขางัว คนเดินป่าสมัยโน้นจึงมักมีเขาควายติดไปด้วย และต้องรู้วิธีเป่าเขา
ดูภาพประกอบจะเห็นลักษณะเขาควายที่ว่านี้ แต่ที่ชาวบ้านทำใช้กันเองไม่หรูเลิศขนาดนี้ วิธีเป่าก็ให้ดูเทียบกับภาพเทวดาเป่าสังข์ (ตราสัญลักษณ์กรมประชาสัมพันธ์) เพียงแต่เปลี่ยนจากสังข์เป็นเขาควาย
เป่าเขาควายนี่จะได้ยินข้ามทุ่งไปไกลทีเดียว พอๆ กับเสียงระฆังวัด
เป่าเขาควายเป็นการส่งสัญญาณให้รู้ว่ามีเหตุอะไรบางอย่างเกิดขึ้น ให้รีบไปดู หรืออย่างธรรมดาๆ ก็เป็นการส่งสัญญาณบอกตำแหน่งว่าใครอยู่ที่ไหน จะได้รู้ทิศทางและไปหากันได้ถูก
แต่ถ้าไม่มีเขาควาย วิธีธรรมชาติก็คือ “กู่” (กู่: ส่งเสียงเป็นสัญญาณให้รู้ว่าอยู่ที่ไหน โดยปรกติเปล่งเสียง วู้. – พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยฯ)
กู่ออกไปแล้ว ถ้าเงียบ ไม่มีเสียงกู่ตอบ แปลว่าอาจจะกำลังหลงป่าหรือพลัดกันเข้าแล้ว ก็ชักใจไม่ดี
แต่ถ้ามีเสียงกู่ตอบ ก็เป็นอันรู้กันว่าใครอยู่ตรงไหน ไม่หลงแน่
แต่เสียงกู่ตอบนี่ก็ต้องระวังไว้ด้วยว่าเป็นพวกเดียวกัน หรือว่าอาจเป็นพวกอื่นที่เผอิญผ่านมาทางเดียวกัน อาจมาดีหรือมาร้ายก็ได้
แต่โดยปกติธรรมดา ธรรมชาติคนเดินป่าแบบชาวบ้านคือเข้าไปหาของป่า ไม่ได้มีเจตนาจะเข้าไปทำผิดคิดร้ายอะไรใคร ถ้าเป็นพวกอื่นหรือ “คนบ้านอื่น” ก็เพียงแต่ทักทายกันแล้วก็ต่างคนต่างแยกกันไป
เล่าบอกจากประสบการณ์ครับ
——————
ดีใจที่มีเสียงกู่รับ พร้อมกับได้ข้อมูลเพิ่มเติมในระดับที่น่าพอใจ
อย่างแรกคือ ได้รู้แน่ว่าคาถาพาหุงมีผู้แปลโดยพยัญชนะไว้แล้ว
ไม่ต้องเสียเวลาแปลใหม่ เพียงแต่ต้องตรวจสอบว่าที่แปลไว้นั้นถูกต้องเรียบร้อยดีหรือมีข้อบกพร่องประการไร ก็เป็นงานที่ต้องช่วยกันทำในลำดับต่อไป
ผมกะไว้ว่า งานต่อไปก็คือวิเคราะห์ศัพท์ต่างๆ ในตัวบท ซึ่งควรจะวิเคราะห์โดยละเอียดทุกศัพท์ งานนี้ญาติมิตรหลายท่านที่เป็น “นักเลงบาลี” น่าจะเข้ามาร่วมด้วยช่วยกันได้เป็นอย่างดี ผมเล็งๆ ไว้บ้างแล้ว
ท่านหนึ่ง ยกมือมาแต่ไกล-จากสุพรรณ ยินดีด้วยช่วยแน่
หนุ่มไฟแรงคนหนึ่งจากอุบลบอกว่า เดี๋ยวจะส่งหนังสือ “ฎีกาพาหุง” มาเข้าขบวนด้วย – นับถือน้ำใจครับ
หากมีท่านใดจะรับอาสา ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง ทั้งเป็นการแสดงออกถึงสิ่งที่เรียกกันว่า spirit อีกด้วย
โปรดระลึกว่า-นี่เป็นงานหรือเป็น “หน้าที่” โดยตรงของพวกเราชาวนักเรียนบาลีนะครับ
นักเรียนบาลีที่กำลังเรียน-กำลังจะสอบ เอาใจช่วยท่านให้สอบได้
นักเรียนบาลีที่เรียนจบแล้ว เอาความรู้มาช่วยกันทำงาน
งานจัดทำเกี่ยวกับ “คาถาพาหุง” เป็นเพียงตัวอย่างงานเดียวที่ผมเสนอขึ้นมา
………………
๑ วิเคราะห์ศัพท์ แปลศัพท์
๒ แปลตัวบทโดยพยัญชนะ
๓ แปลตัวบทโดยอรรถ
๔ ชี้เฉพาะคำที่มักเขียนผิด พูดผิด สวดผิด เข้าใจผิด
๕ จัดทำคำอธิบายความหมายในตัวบท
๖ อธิบายขยายความเรื่องราวในตัวบท
๗ ศึกษาประวัติความเป็นมาของคาถาพาหุง (แต่งสมัยไหน ใครแต่ง ฯลฯ)
๘ รวบรวมบทวิจารณ์เกี่ยวกับคาถาพาหุงในแง่มุมต่างๆ เท่าที่มีผู้เขียนไว้เป็นกรณีศึกษา เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจกว้างขวางออกไป
๙ รวบรวมข้อมูลหลักฐานทั้งปวงเกี่ยวคาถาพาหุงที่ช่วยกันสืบเสาะหามาได้รวมทั้งที่ช่วยกันจัดทำขึ้นเข้าไว้ในที่เดียวกัน ในแบบรูปเล่มหรือแบบใดแบบหนึ่งที่เห็นสมควร (มาที่นี่ที่เดียวได้ทุกเรื่องที่ต้องการเกี่ยวกับคาถาพาหุง!)
๑๐ แล้วเผยแผ่ออกสู่สาธารณชน-โดยเฉพาะในวงการคณะสงฆ์
๑๑ เป้าหมายสูงสุดคือ ขอให้คณะสงฆ์ฝึกซ้อมสวดบทพาหุงให้ถูกต้องตรงกันเป็นเอกภาพทั่วสังฆมณฑล
………………
ฝันครับ ฝัน
ใครจะเข้ามาร่วมกันช่วยสานฝันนี้ให้เป็นจริงบ้าง?
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๓
๑๕:๒๐
…………………………….