ทุกกฏ (บาลีวันละคำ 1,263)
ทุกกฏ
ผู้เขียนบาลีวันละคำได้อ่านบทความเรื่อง “สังคมอาบัติ” ในเนชั่นสุดสับดาห์ ปีที่ 24 ฉบับที่ 1220 วันที่ 16-22 ตุลาคม 2558 หน้า 22 มีข้อความตอนหนึ่งว่า –
“… อาบัติเบาที่เกิดจากกระทำทางร่างกาย เช่น ไปรับของฉันจากมือผู้หญิง หรือไปฉันอาหารที่ไม่ได้มีผู้ถวาย หรือทำผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ (ซึ่งมีชื่อเรียกน่ารักดีว่า ‘อาบัติทุกกฎ’ แต่จริงๆ แล้วไม่ได้แปลว่าอาบัติหมดทุกเรื่องนะครับ ทุกกฎ เป็นภาษาบาลี หมายถึงทำผิดกฎนั่นแหละครับ อ่านว่า ทุ-กะ-กด ไม่ใช่ ทุก-กด) เช่น สวมเสื้อ สวมหมวก ซึ่งเป็นอาบัติที่เห็นได้ชัดเจน …”
ตรงที่บอกว่า “ทุกกฎ … อ่านว่า ทุ-กะ-กด ไม่ใช่ ทุก-กด” นั้น เป็นข้อความที่ผิดพลาดอย่างตรงกันข้าม
คำนี้ภาษาบาลีเขียน “ทุกฺกฎ” ก ไก่ 2 ตัว มีจุดใต้ กฺ ตัวหน้า, ตัวตาม ก ไก่ คือ ฏ ปฏัก ไม่ใช่ ฎ ชฎา
“ทุกฺกฎ” ภาษาบาลีอ่านว่า ทุก-กะ-ตะ รากศัพท์มาจาก ทุ (ชั่ว, ไม่ดี, ยาก, เสีย) + กต (กระทำแล้ว) ซ้อน กฺ, แปลง ต เป็น ฏ
: ทุ + กฺ + กต = ทุกฺกต > ทุกฺกฏ แปลตามศัพท์ว่า “กรรมที่ทำไม่ดี”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต อธิบายไว้ว่า –
“ทุกกฏ : ‘ทำไม่ดี’ ชื่ออาบัติเบาอย่างหนึ่ง เป็นความผิดถัดรองลงมาจากปาฏิเทสนียะ เช่น ภิกษุสวมเสื้อ สวมหมวก ใช้ผ้าโพกศีรษะ ต้องอาบัติทุกกฏ.”
คำนี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 สะกดเป็น “ทุกฏ” (ตัด ก ออกตัวหนึ่ง) บอกไว้ว่า –
“ทุกฏ [ทุกกด] (แบบ) น. ความชั่ว; ชื่ออาบัติจําพวกหนึ่งในอาบัติทั้ง ๗. (ป. ทุกฺกฏ).”
แต่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ได้แก้ไขการสะกดเป็น “ทุกกฏ” (คง ก ไว้ทั้ง 2 ตัว) บทนิยามก็ปรับแก้ใหม่ โดยบอกไว้ว่า –
“ทุกกฏ [ทุกกด] น. ชื่ออาบัติจําพวกหนึ่งในอาบัติทั้ง ๗ จัดไว้ในพวกลหุกาบัติคืออาบัติเบาที่เปรียบด้วยลหุโทษ. (ป.).”
ส่วนคำอ่าน (ในวงเล็บเหลี่ยม []) ยังคงเหมือนเดิม คืออ่าน ทุก-กด
“ทุกฺกฎ” ภาษาบาลีอ่านว่า ทุก-กะ-ตะ (ทุก- ก สะกด ไม่ใช่ ทุ-)
พจน.42 และ 54 บอกว่า ทุกกฏ อ่านว่า ทุก-กด
แต่ผู้เขียนบทความบอกว่า ทุกกฏ อ่านว่า ทุ-กะ-กด ซ้ำยังย้ำอีกว่า “ไม่ใช่ ทุก-กด”
กลายเป็นชี้ผิดว่าเป็นถูก และชี้ถูกว่าเป็นผิด
อนึ่ง คำว่า “ทุกฺกฎ” นี้ ภาษาบาลี ฏ ปฏัก สะกด ในภาษาไทยก็คงใช้ ฏ ปฏัก สะกดตามบาลี แต่ในบทความดังกล่าวใช้ ฎ ชฎา สะกด เป็นการผิดเพิ่มขึ้นไปอีก
: สุดยอดแห่งความวิปริต ก็คือชี้ผิดว่าเป็นถูก และชี้ถูกว่าเป็นผิด
13-11-58