บาลีวันละคำ

สารัตถทีปนี (บาลีวันละคำ 3,118)

สารัตถทีปนี

คัมภีร์แสดงอรรถแห่งธรรมวินัยอันเป็นสาระ

อ่านว่า สา-รัด-ถะ-ที-ปะ-นี

ประกอบด้วยคำว่า สารัตถ + ทีปนี

(๑) “สารัตถ” แยกศัพท์เป็น สาร + อัตถ

(ก) “สาร” บาลีอ่านว่า สา-ระ รากศัพท์มาจาก –

(1) สรฺ (ธาตุ = ขยาย, พิสดาร) + ปัจจัย, ลบ , “ทีฆะต้นธาตุ” คือ อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (สรฺ > สาร)

: สรฺ + = สรณ > สร > สาร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายออก

(2) สา (ธาตุ = มีกำลัง, สามารถ) + ปัจจัย

: สา + = สาร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่มีกำลัง

สาร” (ปุงลิงค์) ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) สำคัญ, ประเสริฐยิ่ง, แข็งแรง (essential, most excellent, strong)

(2) ชั้นในที่สุด และส่วนที่แข็งที่สุดของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง, แก่นหรือแกนของไม้ (the innermost, hardest part of anything, the heart or pith of a tree)

(3) แก่นสาร, ส่วนสำคัญ, ส่วนที่ดีที่สุด (substance, essence, choicest part)

(4) คุณค่า (value)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “สาร” ไว้หลายคำ ขอยกมา 2 คำดังนี้ –

(1) สาร ๑, สาร– ๑ : (คำนาม) แก่น, เนื้อแท้, มักใช้เข้าคู่กับคำ แก่น เป็น แก่นสาร; ข้อความ, ถ้อยคำ, เรื่องราว, เช่น กล่าวสาร สื่อสาร, หนังสือ เช่น นิตยสาร วารสาร, จดหมาย เช่น เขียนสาร สารของนายกรัฐมนตรีถึงเยาวชน. (ป., ส.).

(2) สาร ๒ : (คำนาม) สิ่งที่มีองค์ประกอบเป็นอย่างเดียวกัน มีสมบัติเฉพาะของตนเอง และไม่สามารถใช้วิธีกลใด ๆ มาแบ่งแยกให้เป็นส่วนอื่นที่มีองค์ประกอบและสมบัติแตกต่างออกไปได้; (คำโบราณ) เรียกธาตุจําพวกหนึ่งและธาตุที่เข้าแทรกในต้นไม้ว่า สาร.

(ข) “อัตถ” เขียนแบบบาลีเป็น “อตฺถ” อ่านว่า อัด-ถะ รากศัพท์มาจาก –

(1) อรฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ปัจจัย, แปลง รฺ ที่ (อ)-รฺ เป็น ตฺ (อรฺ > อตฺ)

: อรฺ + = อรถ > อตฺถ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นเครื่องให้ดำเนินไปได้” (2) “สิ่งที่ให้ดำเนินไปตามการณ์” (3) “สิ่งอันบุคคลถึง คือได้รับตามครรลองแห่งเหตุ

(2) อสฺ (ธาตุ = มี, เป็น) + ปัจจัย, แปลง ที่ (อ)-สฺ เป็น ตฺ (อสฺ > อตฺ)

: อสฺ + = อสถ > อตฺถ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นเหตุให้มีให้เป็น” (2) “เหตุให้มีศัพท์

(3) อตฺถฺ (ธาตุ = ขอ, ปรารถนา) + (อะ) ปัจจัย

: อตฺถ + = อตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ต้องการ

อตฺถ” (ปุงลิงค์) มีความหมายหลายอย่าง เช่น –

(1) กำไร, ผลประโยชน์, การได้เปรียบ, ความดี (ทางศีลธรรม), พร, สวัสดิภาพ, ผลที่ได้มา, ความรุ่งเรือง, สวัสดิการ (interest, advantage, gain; (moral) good, blessing, welfare; profit, prosperity, well-being)

(2) ความประสงค์, ความต้องการ, ความปรารถนา (need, want)

(3) เนื้อความ, ความหมาย, ความสำคัญ (ของคำพูด), การหมายถึง (sense, meaning, import, denotation, signification)

(4) เรื่องราว, ความเห็น, คดี (affair, cause, case)

อตฺถ” ในภาษาไทยนิยมใชอิงสันสกฤตเป็น “อรรถ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อรรถ, อรรถ– : (คำนาม) เนื้อความ เช่น แปลโดยอรรถ, คําที่ยังไม่ได้แปลความหมาย เช่น คําอรรถ. (ส. อรฺถ; ป. อตฺถ).”

ในที่นี้ “อัตถ” เขียนตามรูปบาลี

สาร + อตฺถ = สารตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “ความหมายอันเป็นแก่นสาร” หรือ “ประโยชน์อันเป็นแก่นสาร

บาลี “สารตฺถ” ในภาษาไทยใช้เป็น “สารัตถ-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) และ “สารัตถะ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

สารัตถ-, สารัตถะ : (คำนาม) เนื้อหาหลัก, ใจความสําคัญ, ความคิดสําคัญของเรื่อง.”

(๒) “ทีปนี

อ่านว่า ที-ปะ-นี รากศัพท์มาจาก ทีปฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง, ประกาศ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: ทีปฺ + ยุ > อน = ทีปน + อี = ทีปนี แปลตามศัพท์ว่า (1) “(อรรถกถา) เป็นเครื่องส่องสว่าง” (2) “(อรรถกถา) เป็นเครื่องประกาศ”

สารตฺถ + ทีปนี = สารตฺถทีปนี > สารัตถทีปนี แปลความว่า “(ฎีกา) เป็นเครื่องส่องสว่างให้เห็นอรรถแห่งธรรมวินัยอันเป็นสาระ” หรือ “(ฎีกา) เป็นเครื่องประกาศสารัตถธรรม

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความไว้ว่า –

…………..

สารัตถทีปนี : ชื่อคัมภีร์ฎีกาอธิบายความในสมันตปาสาทิกา ซึ่งเป็นอรรถกถาแห่งพระวินัยปิฎก พระสารีบุตรเถระแห่งเกาะลังกา เป็นผู้รจนาในรัชกาลของพระเจ้าปรักกมพาหุที่ ๑ (พ.ศ. ๑๖๙๖–๑๗๒๙)”

…………..

แถม :

คัมภีร์ชั้นฎีกาที่อธิบายพระวินัยปิฎกมีหลายคัมภีร์ เฉพาะที่สำคัญมี 3 คัมภีร์ คือ –

๑ “วชิรพุทธิฎีกา” พระอาจารย์นามว่าวชิรพุทธิเถระเป็นผู้รจนา

๒ “วิมติวิโนทนี” พระกัสสปเถระ ชาวแคว้นโจฬะ ในอินเดียตอนใต้ เป็นผู้รจนา

๓ “สารัตถทีปนี” เล่มที่กำลังกล่าวถึงนี้ ผู้แต่งคือพระอาจารย์ชื่อสารีบุตร (ไม่ใช่พระสารีบุตรอัครสาวก) พิมพ์เป็นบาลีอักษรไทย 4 เล่ม ใช้เป็นคัมภีร์ประกอบการศึกษาชั้นเปรียญธรรม 6 และ 7 ประโยค ตามหลักสูตรการศึกษาบาลีของคณะสงฆ์ไทย

หนังสือ สารัตถทีปนี ฎีกาพระวินัย ภาค 1 ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ.2542 ผู้แปลคือ อาจารย์สิริ เพ็ชรไชย ได้เขียนคำนำกล่าวถึงการเรียนบาลีในสมัยก่อนและการเรียนคัมภีร์สารัตถทีปนี มีเรื่องที่ควรทราบไว้ประดับความรู้บางประการ ขอนำข้อความตอนหนึ่งมาเสนอไว้ในที่นี้ ดังนี้

…………..

ฎีกาพระวินัยนั้นมีอยู่ด้วยกัน ๓ พระคัมภีร์ ฎีกาแรกเรียกว่า วชิรพุทธิ ฎีกาที่สองเรียกว่า สารัตถทีปนี ฎีกาที่สามเรียกว่า วิมติวิโนทนี ฎีกาแรกที่เรียกว่าวชิรพุทธินี้ เป็นคัมภีร์ที่อธิบายพระวินัย แต่มีปนภาษาสิงหลซึ่งเป็นภาษาเก่าไว้บ้าง เป็นคัมภีร์ที่ยาก แปลยาก เพราะฉะนั้นท่านอาจารย์พระสารีบุตรจึงได้เห็นว่า การที่จะศึกษาพระวินัยโดยอาศัยพระคัมภีร์สมันตปาสาทิกาให้รู้เรื่อง จะต้องแต่งคัมภีร์ขึ้นใหม่ จึงได้รจนาคัมภีร์ฎีกาชื่อว่าสารัตถทีปนีภาษามคธนี้ขึ้น เป็นฎีกาที่มีความยาวมาก เป็นใบลานหลายผูก ในประเทศไทยเราก็ได้มีการพิมพ์ฎีกาพระวินัยชื่อว่าสารัตถทีปนีนี้เป็นจำนวน ๔ เล่ม มีจำนวนหลายพันหน้า คัมภีร์นี้เป็นคัมภีร์อธิบายสมันตปาสาทิกาตั้งแต่อธิบายปณามคาถา อธิบายพาหิรนิทาน เรื่อยไปโดยลำดับเบื้องต้นซึ่งเป็นหนังสือภาษามคธอ่านอย่างพิสดาร ท่านผู้แต่งคือพระสารีบุตรเถระเป็นชาวลังกาทวีป เป็นนักปราชญ์สำคัญทางภาษาบาลีหรือภาษามคธ เป็นนักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่ในสมัยเมื่อ ๑๗๐๐ ปีมาแล้ว ในสมัยนั้น พระสารีบุตรเถระนี้ได้เป็นอาจารย์ของพระฎีกาจารย์อื่นๆ หลายองค์ แม้แต่พระสุมังคลาจารย์ผู้แต่งพระคัมภีร์อภิธัมมัตถวิภาวินี ฎีกาอภิธัมมัตถสังคหะ ซึ่งเป็นหลักสูตรประโยค ๙ ในปัจจุบัน ก็เป็นศิษย์ของท่านพระสารีบุตรเถระนี้ ท่านพระสารีบุตรเถระนี้แตกฉานมากในคัมภีร์พระพุทธศาสนา ท่านก็ได้รจนาคัมภีร์สารัตถทีปนีขึ้นไว้ ได้อธิบายความอย่างละเอียดโดยอาศัยคัมภีร์คัณฐี ซึ่งอธิบายสมันตปาสาทิกาเป็นภาษาสิงหล เป็นคัณฐี เรียกว่า จุลคัณฐี มัชฌิมคัณฐี มหาคัณฐี ๓ คัณฐีนี้ เมื่อเวลาอ้างถึง ท่านจะปรารภถึงคัมภีร์เหล่านี้ เพราะฉะนั้น เมื่ออ้างถึงคัมภีร์ใด ท่านก็จะอธิบายอย่างพิสดาร เอามาพูด เอามาอธิบาย ในสิ่งที่เล็กๆ น้อยๆ ทำให้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งได้มาก.

การที่ท่านพระสารีบุตรเถระได้อธิบายคัมภีร์พระวินัย ที่เรียกว่าสมันตปาสาทิกานี้อย่างพิสดาร หาผู้ที่อธิบายอย่างนี้ได้ยาก เพราะฉะนั้น ท่านพระเถระชาวไทยในอดีตเห็นความสำคัญของคัมภีร์สารัตถทีปนี จึงได้เอาคัมภีร์สารัตถทีปนีนี้เป็นหลักสูตรการสอบพระปริยัติธรรมเปรียญเอก หรือต่อมาเรียกว่าเปรียญ ๙ ประโยค จนกระทั่งมาถึงในสมัยกลางรัชกาลที่ ๕ เพิ่งมาเปลี่ยนเป็นคัมภีร์อภิธัมมัตถวิภาวินี้ ทั้งนี้เพราะเหตุไร ก็เพราะว่าต้องการให้นักเรียนนักศึกษาที่จะมีภูมิรู้เป็นเปรียญเอก หรือเปรียญ ๙ ประโยคนั้น มีความรู้ทางด้านพระธรรมวินัยนี้แตกฉานกว้างขวาง รู้ตลอด.

เมื่อข้าพเจ้า นายสิริ เพ็ชรไชย ผู้แปลพระคัมภีร์สารัตถทีปนี  ขณะเป็นสามเณรอยู่ ได้เข้ามาศึกษาในสำนักวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ หรือที่เรียกว่ามหาธาตุวิทยาลัยนี้ เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๔ ข้าพเจ้าได้เป็นเปรียญ ๔ ประโยคมาแล้วจากวัดทุ่งแก้ว หรือวัดมณีสถิตกปิฏฐาราม จังหวัดอุทัยธานี ได้เข้ามาศึกษาพระธรรมวินัย ก็ได้เรียนพระคัมภีร์สมันตปาสาทิกา ตติยภาค หรือภาค ๓ ซึ่งเป็นหลักสูตรของเปรียญธรรม ๕ ประโยค อาจารย์ที่สอนข้าพเจ้านั้นคือ อาจารย์ปลั่ง บุญศิริ หรือพระมหาปลั่ง อิงฺคาโภ ป.ธ.๙ และมีพระมหาบุญเลิศ ป.ธ.๗ อีกท่านหนึ่งสอนข้าพเจ้ามา ในการเรียนครั้งนั้น ข้าพเจ้าต้องแปลด้วยปาก เรียกว่า แปลยกศัพท์ กับอาจารย์ทุกครั้ง และต่อมาข้าพเจ้าก็ได้ศึกษาสมันตปาสาทิกา ภาค ๑ และภาค ๒ ที่เรียกว่า ปฐมภาค และทุติยภาค กับอาจารย์วิเชียร บำรุงผล หรือพระมหาวิเชียร วิธูโร ต่อมาเป็นพระราชาคณะและได้ลาสิกขาไป ในการเรียนสมันตปาสาทิกานี้ ข้าพเจ้าก็ได้อ่านคัมภีร์สารัตถทีปนีประกอบในการที่จะไปแปลกับครูอาจารย์โดยตลอดทุกครั้ง เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าได้เรียนพระวินัยนี้ตั้งแต่ครั้งเป็นสามเณร ก็ได้ศึกษามาโดยตลอด ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงมีความสนใจในคัมภีร์สารัตถทีปนีนี้เป็นพิเศษ.

…………..

ดูก่อนภราดา!

: บอกให้รู้ว่าอะไรเป็นสาระที่แท้จริง ก็ว่ายากอยู่แล้ว

: บอกให้เร่งสั่งสมสาระนั้นเข้าไว้เถิด ยิ่งยากหนักขึ้นไปอีก

: แต่บอกให้ยอมรับว่าสิ่งที่ยึดถือไว้นั้นไม่ใช่สาระที่แท้จริง นี่ยากที่สุดในสามโลก

#บาลีวันละคำ (3,118)

25-12-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย