บาลีวันละคำ

พระปรมาภิไธย (บาลีวันละคำ 931)

พระปรมาภิไธย

—————–

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี

จักรีนฤบดินทร

สยามินทราธิราช

บรมนาถบพิตร

—————–

มีคำที่เป็นบาลีสันสกฤตว่าอย่างไรบ้าง

ขอบเขต :

(๑) แยกศัพท์ที่เป็นบาลีสันสกฤตในพระปรมาภิไธย

(๒) แสดงความหมายของแต่ละศัพท์

(๓) ไม่แสดงความหมายโดยรวมในพระปรมาภิไธย เว้นแต่คำที่สมาสสนธิกันบางคำ

หมายเหตุ :

๑ เลขไทยในวงเล็บ () หมายถึงลำดับคำที่แยกได้ในชั้นต้น

๒ เลขไทยในวงเล็บปิดเดี่ยว ) หมายถึงลำดับคำที่แยกย่อยออกมาจากคำในวงเล็บ () ในข้อ ๑

๓ เลขอารบิกในวงเล็บ () หมายถึงลำดับคำทั้งหมดที่สามารถแยกย่อยออกมาได้

——————

(๑) (1) พระบาท

บาท” บาลีเป็น “ปาท” (ปา-ทะ) แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องดำเนินไป” ใช้ในความหมายว่า เท้า, โคนไม้, รากไม้, เชิงเขาหรือส่วนล่างของภูเขา, วรรคหนึ่งของฉันท์หรือคาถา (กาพย์กลอนในบาลี), อัตราหนึ่งของเงินที่ใช้ซื้อขาย

คำว่า “บาท” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า “ตีน, ราชาศัพท์ว่า พระบาท”

คำว่า “บาท” ในคำว่า “พระบาทสมเด็จ” ที่เป็นคำขึ้นต้นพระปรมาภิไธยนั้น จะเป็นคำเดียวกับ “ปาทบาท” ในบาลีหรือไม่ สมควรศึกษาสอบสวนต่อไป

ผู้เขียนบาลีวันละคำเคยได้เห็นสำนวนหนังสือโบราณอันเป็นพงศาวดารชาติในแหลมทองมีกัมพูชาเป็นต้น กล่าวถึงข้าราชบริพารรับราชการสนองพระเดชพระคุณในพระมหากษัตริย์มีข้อความบางตอนว่า “… เฝ้าบำเรอพระบาทสมเด็จพระ (ออกพระนามพระเจ้าแผ่นดิน) …” ทำให้สงสัยว่าคำว่า “พระบาทสมเด็จ..” ดีร้ายจะตัดมาจาก “…บำเรอพระบาท…” นี่แหละกระมัง (บาลีมีคำว่า “ปาทปริจาริก” แปลว่า “ผู้บำเรอเท้า” หมายถึงผู้รับใช้ใกล้ชิดติดตัว)

คำเต็มคือ “บำเรอพระบาท-” พระบาทของท่านผู้ใดก็ระบุลงไป แต่ครั้นตัดมาแค่ “-พระบาท” อันเป็น “กรรม” ไม่มี “บำเรอ-” อันเป็นคำ “กริยา” แล้วใช้พูดกันนานไป คำว่า “-พระบาทสมเด็จ-” เลยกลายเป็นคำขึ้นต้นพระนามพระเจ้าแผ่นดินไป – ขอฝากนักภาษา/โบราณคดีสืบสวนเป็นองค์ความรู้ต่อไปด้วยเทอญ

คำว่า “พระ” ที่อยู่ข้างหน้า ดูที่หมายเลข (3) ข้างหน้า

(๒) (2) สมเด็จ

คำนี้ พิจารณาแล้วเห็นว่าน่าจะมิใช่คำบาลีสันสกฤต จึงอยู่นอกขอบเขตของ “บาลีวันละคำ”

แต่เพื่อความสมบูรณ์ ขอยกความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มาแสดงไว้ในที่นี้ด้วยดังนี้ –

สมเด็จ : (คำนาม) คํายกย่องหน้าชื่อฐานันดรศักดิ์โดยกำเนิด หรือแต่งตั้ง หมายความว่า ยิ่งใหญ่หรือประเสริฐ เช่น สมเด็จพระราชินี สมเด็จเจ้าฟ้า สมเด็จเจ้าพระยา สมเด็จพระราชาคณะ, ใช้แต่ลำพังว่า สมเด็จ ก็มี.”

(๓) (3) พระ

คำว่า “พระ” มีผู้ให้ความเห็นว่าน่าจะมาจาก “วร” (วะ-ระ) ในบาลีสันสกฤต แปลว่า “ผู้ประเสริฐ” แปลง เป็น ออกเสียงว่า พะ-ระ แล้วกลายเสียงเป็น พฺระ (ร กล้ำ)

ในที่นี้ใช้ตามที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ตอนหนึ่งว่า –

“… ใช้ประกอบหน้าคําอื่นแสดงความยกย่อง ๑. เทพเจ้าหรือเทวดาผู้เป็นใหญ่ … ๒. พระเจ้าแผ่นดินหรือของที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายชั้นสูง เช่น พระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ …”

(๔) ปรมินทร < ปรม + อินทร

๔/๑) (4) ปรม

ปรม” (ปะ-ระ-มะ) เป็นคุณศัพท์ มีความหมายว่า สูงสุด, พิเศษสุด, เป็นเลิศ, ดีที่สุด (highest, most excellent, superior, best)

ปรม” ภาษาไทยใช้ว่า “บรม” (บอ-รม) พจน.54 บอกไว้ว่า –

บรม, บรม– : (คำวิเศษณ์) อย่างยิ่ง, ที่สุด, (มักใช้นําหน้าคําที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า พระเจ้าแผ่นดิน และพระอัครมเหสี เป็นต้น เพื่อแสดงพระเกียรติยศยิ่งใหญ่) เช่น บรมศาสดา บรมบพิตร บรมราชินี บรมมหาราชวัง. (ป., ส. ปรม).”

ปรม” คงเป็น ปรม– เมื่อสมาสกับคำอื่นก็มี เช่น ปรม + อินทร = ปรมินทร์, ปรเมนทร์  

๔/๒) (5) อินทร

อินทร” เป็นรูปสันสกฤต บาลีเป็น “อินฺท” แปลว่า ผู้เป็นใหญ่

: ปรม + อินทร = ปรมินทร แปลว่า ผู้เป็นใหญ่ยิ่ง, ผู้เป็นใหญ่สูงสุด

(๕) (6) มหา

มหา” (มะ-หา, คำเดิม “มหนฺต”) แปลว่า ใหญ่, ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต, สำคัญ, เป็นที่นับถือ บางทีใช้ในความหมายว่า “มาก

(๖) (7) ภูมิ

ภูมิ” บาลีอ่านว่า พู-มิ แปลตามรากศัพท์ว่า “สถานที่มีอยู่เป็นอยู่แห่งสัตว์โลก” มีความหมายหลายอย่าง กล่าวคือ พื้นดิน, ดิน, แผ่นดิน, สถานที่, ถิ่น, แคว้น, แถบ, ภูมิภาค, พื้น, พื้นราบ, ขั้นตอน, ระดับ (ground, soil, earth, place, quarter, district, region, plane, stage, level)

พจน.54 บอกความหมายของ “ภูมิ” ไว้ว่า แผ่นดิน, ที่ดิน; พื้น, ชั้น, พื้นเพ; ความรู้; สง่า, โอ่โถง, องอาจ, ผึ่งผาย

(๗) (8) พล

พล” บาลีอ่านว่า พะ-ละ แปลว่า ความแข็งแรง, พลัง, อำนาจ (strength, power, force) กองทัพ, กองกำลังทหาร (an army, military force)

(๘) (9) อดุลย

สันสกฤตเป็น “อตุลฺย” แต่บาลีก็มีรูปคำ “อตุลฺย” (อะ-ตุน-เลียะ) ด้วยเช่นกัน แปลว่า เปรียบเทียบไม่ได้, ไม่มีที่เปรียบ, วัดไม่ได้หรือสุดที่จะเปรียบ (incomparable, not to be measured, beyond compare or description)

(๙) (10) เดช

เดช” บาลีเป็น “เตช” (เต-ชะ) พจน.54 บอกความหมายไว้ว่า อํานาจ; ความร้อน, ไฟ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลความหมายของคำว่า “เตช” ไว้ดังนี้ –

“sharpness” heat, flame, fire, light; radiance, effulgence, splendour, glory, energy, strength, power (“ความคม”, ความร้อน, เปลวไฟ, ไฟ, แสงสว่าง; ความเปล่งปลั่ง, ความรุ่งโรจน์, ความโชติช่วง, ความงดงาม, พลัง, ความแข็งแรง, อำนาจ)

(๑๐) มหิตลาธิเบศร < มหิ + ตล + อธิบ < อธิป + อีศ

๑๐/๑) (11) มหิ

มหิ” (มะ-หิ) ศัพท์เดิมในบาลีเป็น “มหี” (มะ-ฮี) ตามศัพท์แปลว่า “ผู้ยิ่งใหญ่” (Great One) ในที่นี้หมายถึง แผ่นดิน

๑๐/๒) (12) ตล

ตล” (ตะ-ละ) แปลว่า “พื้น” (ground)

: มหี + ตล = มหีตล แปลตามศัพท์ว่า “พื้นแห่งแผ่นดิน” แต่มีความหมายว่า “แผ่นดิน” (the earth)

มหีตล” เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทย ใช้กฎ “รัสสะ อี เป็น อิ = ทำเสียงสระ อี ให้สั้น” จึงเป็น “มหิตล” เขียนแบบไทยว่า “มหิดล” อ่านว่า มะ-หิ-ดน

๑๐/๓) (13) อธิบ < อธิป

พจน.54 บอกไว้ว่า –

อธิป, อธิป– [อะทิบ, อะทิปะ-, อะทิบปะ-] : พระเจ้าแผ่นดิน, นาย, หัวหน้า, ผู้เป็นใหญ่, มักใช้พ่วงท้ายศัพท์ เช่น นราธิป ชนาธิป, แต่เมื่อนําหน้าคําที่ขึ้นต้นด้วยสระ มักใช้ อธิบ เช่น นราธิเบศร์ นราธิเบนทร์. (ป., ส.).”

๑๐/๔) (14) อีศ

สันสกฤต “อีศ” และแตกลูกออกไปเป็น อีศฺวร ที่เราคุ้นกันในคำว่า “อิศวร” (อิ-สวน) ซึ่งมีความหมายตรงกับ “อิสฺสร” ในบาลี

อีศ บาลีเป็น “อีส” (อี-สะ) แปลว่า ผู้เป็นเจ้า, ผู้ปกครอง, ผู้เป็นนาย, หัวหน้า (lord, owner, ruler)

: อธิบ + อีศ = อธิเบศ > อธิเบศร (เติม เข้าไปอีกตัวหนึ่ง ดังจะให้เข้าใจว่า เอา “” มาจาก อิศวร > อิศร : อธิบ + อิศร = อธิเบศร) แปลว่า พระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นใหญ่

: มหิตล + อธิเบศร = มหิตลาธิเบศร

(๑๑) รามาธิบดี < ราม + อธิบดี

๑๑/๑) (15) ราม

คำว่า “ราม” ในที่นี้หมายถึง “พระราม” ในมหากาพย์รามายณะอันเป็นต้นกำเนิดเรื่อง “รามเกียรติ์” ของไทย

ราม” ในรามเกียรติ์ หมายถึง “กษัตริย์องค์ที่สี่แห่งอยุธยา, คือพระนารายณ์อวตารลงมาเป็นโอรสท้าวทศรถกับนางเกาสุริยา, สีกายเขียว, มีศักดานุภาพด้วยเชิงศรศิลป์, ได้ปราบพวกอสูรเหล่าพาลซึ่งเป็นเสี้ยนหนามต่อความสงบของโลก” (จาก สมญาภิธานรามเกียรติ์ ของ “นาคะประทีป”)

คติไทยถือว่า พระมหากษัตริย์เป็นเสมือนพระรามคือพระนารายณ์อวตารลงมาปราบยุคเข็ญในโลก จึงมีคำว่า “ราม” หรือ “รามาธิบดี” ปรากฎในพระปรมาภิไทยเสมอ

บาลีมีคำว่า “ราม” อ่านว่า รา-มะ แปลตามศัพท์ว่า “-อันเหล่าชนเห็นคุณค่าประดุจว่าทองคำ” หมายถึง ความยินดี, ความสนุกสนาน, ความเพลิดเพลิน, สุขารมณ์ (pleasure, sport, amusement)

๑๑/๒) (16) อธิบดี

อธิบดี” บาลีเป็น “อธิปติ” (อะ-ทิ-ปะ-ติ) ประกอบด้วย อธิ + ปติ

อธิ” เป็นคำอุปสรรค แปลว่า ยิ่ง, ใหญ่, ทับ, เหนือ, บน

ปติ” แปลว่า พ่อบ้าน, นาย, เจ้าของ, ผู้นำ; สามี, เป็นเจ้า, เป็นใหญ่, เป็นนาย, เป็นหัวหน้า

อธิ + ปติ = อธิปติ แปลว่า ผู้เป็นใหญ่, หัวหน้า, เจ้านาย. ทับศัพท์ว่า อธิบดี

: ราม + อธิบดี = รามาธิบดี แปลว่า “พระรามผู้เป็นใหญ่” ถ้าแปลจากหลังไปหน้าก็ต้องแปลว่า “ผู้เป็นใหญ่ดุจดังพระราม

(๑๒) (17) จักรี

จักรี” เป็นรูปสันสกฤต (จกฺรี หรือ จกฺรินฺ) บาลีเป็น “จกฺกี” อ่านว่า จัก-กี

จกฺกี” มาจาก จกฺก + อี = จกฺกี แปลว่า “ผู้มีจักร

จกฺก” (ไทยเขียน “จักร”) ความหมายสามัญคือ ล้อรถ สัญลักษณ์แห่งการขับเคลื่อนพัฒนาของมนุษยชาติ แล้วพัฒนาเป็นแผ่นกลม คือ อาวุธสำหรับขว้าง เป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจเพื่อปราบยุคเข็ญ

เมื่อเกิดคติว่า พระนารายณ์อวตารลงมาปราบยุคเข็ญ จึงเรียกพระนารายณ์ว่า “จกฺกีจักรีผู้มีจักร

ต่อมา “จักรี” หมายถึง พระราชา ตามคติความเชื่อของไทยที่ถือว่าพระราชาเป็นพระนารายณ์อวตาร

คำว่า “จักรี” ยังหมายถึง “ราชวงศ์จักรี” ได้อีกด้วย

(๑๓) นฤบดินทร < นฤ + บดี + อินทร / นฤ + บดินทร

๑๓/๑) (18) นฤ (นะ-รึ)

เป็นรูปสันสกฤต บาลีเป็น “นร” (นะ-ระ) แปลว่า คน, มนุษย์

๑๓/๒) (19) บดี

มาจาก “ปติ” (ปะ-ติ) แปลว่า พ่อบ้าน, นาย, เจ้าของ, ผู้นำ; สามี, เป็นเจ้า, เป็นใหญ่, เป็นนาย, เป็นหัวหน้า

นฤ + บดี = นฤบดี บาลีเป็น “นรปติ” (นะ-ระ-ปะ-ติ) แปลว่า จอมคน, พระราชา

๑๓/๓) (20) อีกนัยหนึ่ง นฤ + บดินทร = นฤบดินทร

: บดินทร < บดี + อินทร < ปติ (เจ้านาย) + อินฺท (ผู้เป็นใหญ่) = ปตินฺท > บดินทร แปลว่า “เจ้านายผู้เป็นใหญ่” หรือ “ผู้เป็นใหญ่ในหมู่เจ้านาย” หมายถึง พระเจ้าแผ่นดิน

(๑๔) สยามินทราธิราช < สยาม + อินทร + อธิ + ราช

๑๔/๑) (21) สยาม

เคยสันนิษฐานกันว่ามาจาก “ศฺยาม” ในสันสกฤต ตรงกับบาลีว่า “สาม” (สา-มะ) แปลว่า ดำ, คล้ำ, สีน้ำตาล นักบาลีในไทยใช้ทับศัพท์ว่า “สฺยาม” (เซียม-มะ, มีจุดใต้ สฺ)

แต่พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สาม” อีกความหมายหนึ่งว่า yellow, of a golden colour, beautiful (เหลือง, มีสีทอง, งดงาม) คำแปลนี้น่าจะเกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญกับชื่อดินแดน “สุวรรณภูมิ”

๑๔/๒) (22) อินทร

ดูที่หมายเลข (5)

๑๔/๓) (23) อธิราช

: อธิ (ยิ่ง, ใหญ่, ทับ, เหนือ) + ราช (พระราชา) = อธิราช แปลว่า พระราชาผู้ยิ่งใหญ่

: สยาม + อินทร = สยามินทร + อธิราช = สยามินทราธิราช แปลตามศัพท์ว่า “พระราชาผู้ยิ่งใหญ่ผู้เป็นจอมสยาม

(๑๕) (24) บรม

ดูที่หมายเลข (4)

(๑๖) (25) นาถ

บาลีอ่านว่า นา-ถะ แปลตามศัพท์ว่า “ประกอบประโยชน์สุขแก่สัตว์ทั้งหลาย” หมายถึง ที่พึ่ง, ผู้เป็นที่พึ่ง, ผู้ปกป้อง, สรณะ, การช่วยเหลือ (protector, refuge, help)

(๑๗) (26) บพิตร

มาจากสันสกฤตว่า “ปวิตฺร” บาลีเป็น “ปวิตฺต” (ปะ-วิด-ตะ) แปลว่า ผู้สะอาด, ผู้หมดจด, ผู้บริสุทธิ์

ในภาษาไทย > และ > : ปวิตฺต > ปวิตฺร > บพิตร  

พจน.54 บอกไว้ว่า –

บพิตร : (คำแบบ) (คำนาม) พระองค์ท่าน เช่น บํารุงฤทัยตระโบม บพิตรผู้อย่าดูเบา, โดยมากเป็นคําที่พระสงฆ์ใช้แก่เจ้านาย เช่น บรมวงศบพิตร.”

—————

คำอ่านพระปรมาภิไธย :

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

พระ บาด สม เด็ด พระ ปะ ระ มิน ทฺระ มะ หา พู มิ พน อะ ดุน ละ ยะ เดด

มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี

มะ หิด ตะ ลา ทิ เบด รา มา ทิ บอ ดี

จักรีนฤบดินทร

จัก กฺรี นะ รึ บอ ดิน

สยามินทราธิราช

สะ หยา มิน ทฺรา ทิ ราด

บรมนาถบพิตร

บอ รม มะ นาด ถะ บอ พิด

————

หมายเหตุ:

เฉพาะวรรคสุดท้าย “บรมนาถบพิตร” นั้น ผู้เขียนบาลีวันละคำเคยได้ยินท่านผู้ใหญ่ที่พิถีพิถันในการอ่านภาษาไทยท่านหนึ่ง (คลับคล้ายคลับคลาว่าจะเป็น พลอากาศเอก หะริน หงสกุล แต่ไม่อาจยืนยันได้) ท่านอ่านคำว่า “นาถบพิตร” ว่า นาด-“ถะ”-บอ-พิด อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นการถูกต้องตามหลักการอ่านคำสมาสที่ต้องออกเสียงพยางค์ที่เชื่อมคำต่อคำให้ครบถ้วน อย่างที่ น.ม.ส.ใช้คำว่า “อ่านอย่างมีลูกเก็บ” (ลูกเก็บ : การบรรเลงที่เพิ่มเติมเสียงสอดแทรกให้มีพยางค์ถี่ขึ้นกว่าทำนองเนื้อเพลงธรรมดา – พจน.54)

คำเทียบเพื่อความเข้าใจชัดเจนขึ้น เช่น “อดุลยเดช

ถ้าอ่านแบบไม่มีลูกเก็บ (และมักง่าย) ก็อ่านว่า อะ-ดุน-เดด

ดีขึ้นมาหน่อยก็อ่านว่า อะ-ดุน-ยะ-เดด

แต่อ่านอย่างมีลูกเก็บและถูกต้องคือ อะ-ดุน-ละ-ยะ-เดด

ทุกวันนี้ได้ยินอ่านวรรค “บรมนาถบพิตร”นี้ว่า บอ รม มะ นาดบอ พิด (ไม่มี “ถะ” ระหว่าง นาถ+บพิตร) ทั่วกันไปหมด และสังเกตเห็นว่าไม่มีท่านผู้ใดรู้สึกว่าผิดหรือด้อยความไพเพราะแต่อย่างหนึ่งอย่างใดเลย นับว่าเป็นความเรียวลงอย่างหนึ่งของภาษาไทย

: ทีฆายุโก  โหตุ  มหาราชา

: ขอจงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

—————

(ตามคำเสนอแนะของ Supachoke Thaiwongworakool)

#บาลีวันละคำ (931)

5-12-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *