บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

แล้วจะเรียนบาลีไปทำไม?

แล้วจะเรียนบาลีไปทำไม?

————————-

แม่กองบาลีสนามหลวงประกาศเลื่อนการสอบบาลีสนามหลวงออกไปโดยไม่มีกำหนด สาเหตุเนื่องมาจากการกลับมาแพร่ระบาดของโรคโควิด

การศึกษาพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์ไทยมี ๒ สาย คือสายนักธรรมและสายบาลี กำหนดสอบเลื่อนชั้นปีละครั้ง

วันสอบกำหนดเป็นวันทางจันทรคติยืนพื้น

—————

วันทางจันทรคติคือวันขึ้น-แรม เดือนอ้ายเดือนยี่

วันทางสุริยคติคือวันที่- เดือนมกรา-กุมภา

ธรรมเนียมไทยของเรากำหนดงานกันด้วยวันทางจันทรคติทั้งสิ้น

เพียงแค่เมื่อผมเป็นเด็ก ผู้ใหญ่สมัยนั้นพูดถึงวันเดือนปีกันด้วยขึ้น-แรม เดือนอ้ายเดือนยี่ปีชวดฉลู

ไม่ใช่วันที่- เดือนมกรา-กุมภา ปี พ.ศ.เท่านั้นเท่านี้เหมือนคนไทยรุ่นปัจจุบัน 

(ซึ่ง-ปี-ก็เริ่มจะทิ้ง พ.ศ. เปลี่ยนไปใช้ ค.ศ. กันแทบจะทั้งประเทศอยู่แล้ว)

ทุกวันนี้คนไทยรุ่นใหม่คุ้นเคยกับวันทางสุริยคติกันหมดแล้ว

พร้อมกับที่เริ่มจะไม่รู้จักวันทางจันทรคติกันหมดแล้วด้วย

ที่เห็นได้ชัดมากๆ ก็คือ คนรุ่นใหม่แทบจะไม่รู้และไม่ได้คิดถึงว่า ในรอบสัปดาห์ เมื่อไรเป็นวันพระ

คณะสงฆ์ไทยยังคงยึดวันทางจันทรคติในการทำกิจสำคัญๆ 

เพราะวันสำคัญทางพระพุทธศาสนากำหนดด้วยวันทางจันทรคติทั้งสิ้น

—————

กำหนดสอบบาลีสนามหลวงปีละ ๑ ครั้ง แต่แบ่งเป็น ๒ ช่วง

(๐) ช่วงแรก ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๓ ใช้เวลา ๕ วัน

สอบประโยค ป.ธ.๖-๗ ๒ วัน 

ต่อด้วยประโยค ป.ธ.๘-๙ อีก ๓ วัน

(๐) ช่วงหลัง แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๓ ใช้เวลา ๓ วัน

สอบประโยค ๑-๒ และ ป.ธ.๓-๔-๕ ใช้เวลา ๒ วัน 

เฉพาะประโยค ป.ธ.๓ สอบต่อไปอีก ๑ วัน

……………………..

*หมายเหตุ เฉพาะประโยค ๑-๒ และ ป.ธ.๓-๔-๕ หลังจากตรวจข้อสอบแล้ว ถ้ามีบางวิชาที่ไม่ผ่าน กำหนดให้สอบซ่อมเฉพาะวิชานั้นได้อีกครั้งหนึ่ง

……………………..

ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๓ ที่จะถึงข้างหน้า ตรงกับวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๖๔

แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๓ ตรงกับวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔

เป็นอันว่าวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๖๔ และวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ จะไม่มีการสอบบาลีประจำปี ๒๕๖๔ 

จะสอบเมื่อไรต้องรอฟังประกาศต่อไป

—————

พอเลื่อนสอบ การอบรมเข้มเพื่อเตรียมตัวสอบก็พลอยชะงักตามไปด้วย

การเรียนบาลีในบ้านเรามีมุมอับ คือเรียนคัมภีร์ระดับอรรถกถาฎีกาเพียง ๕ คัมภีร์ 

คัมภีร์พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม ไม่ได้เรียน 

อรรถกถาฎีกาอีกเป็นอันมากก็ไม่ได้เรียน

มิหนำซ้ำยังเป็นการเรียนเพียงครึ่งทาง คือพอสอบประโยค ป.ธ.๙ ได้ ก็หยุดอยู่แค่นั้น บอกกันว่าเรียนจบแล้ว

ไม่ได้เอาความรู้ที่เรียนมาไปใช้งาน

งานของนักเรียนบาลีก็คือ ศึกษาพระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกาทั้งปวง ซึ่งก็คือศึกษาพระธรรมวินัยอันเป็นตัวพระศาสนา

เรามีแผนกันแค่ “เรียนจบ”

แต่จบแล้วเอาความรู้บาลีไปใช้งาน เราไม่มีแผน

อาจจะมีหรือเคยมี แต่เราไม่เคยเอาแผนนั้นมาใช้จริง

อย่างดีที่บางส่วนทำกันอยู่ก็คือ เรียนจบแล้วเป็นครูสอนบาลี เพื่อให้มีคนจบบาลีต่อไปอีก และวนอยู่ในวงจรนี้เรื่อยไป

เราจึงมีคนจบบาลีเยอะ

แต่คนทำงานค้นคว้าศึกษาพระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกามีน้อยอย่างยิ่ง จนแทบจะเป็นศูนย์

แล้วก็มีคนออกมาแก้ต่างหรือแก้ตัวให้กันว่า-เรื่องแบบนี้มันขึ้นอยู่กับอัธยาศัยของแต่ละคน บังคับกันไม่ได้ (คือบังคับไม่ได้ว่า-เรียนบาลีจบแล้วต้องใช้ความรู้ค้นคว้าศึกษาพระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกาต่อไป ใครจะทำหรือไม่ทำเป็นไปตามอัธยาศัย!!)

และเราก็มีคนที่สนับสนุนส่งเสริมให้คนเรียนให้จบบาลีเยอะด้วย

แต่คนที่สนับสนุนส่งเสริมให้คนเรียนจบบาลีแล้วใช้ความรู้บาลีไปศึกษาพระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกาต่อไป มีน้อยอย่างยิ่ง จนแทบจะเป็นศูนย์เช่นกัน

เราไม่ได้บอกเน้นย้ำกันไปตั้งแต่ต้นว่า เรียนบาลีมีเป้าหมายอยู่ที่ศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกาอันเป็นตัวพระศาสนา 

เราได้แต่บอกกันว่า เรียนบาลีมีเป้าหมายอยู่ที่ประโยค ๙

พอสอบประโยค ๙ ได้ ก็บอกกันว่าบรรลุเป้าหายแล้ว 

เพราะตั้งเป้าหมายกันแค่ครึ่งทางแบบนี้ คนเรียนบาลีก็ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก และไม่เห็นคุณค่าของการทำงานบาลี

เพียงแค่ประกาศเลื่อนสอบบาลี จึงดูเหมือนว่าการทำงานบาลีจะต้องหยุดไปด้วย

ความจริงแล้วงานบาลีมีให้ทำอีกมาก หรือจะพูดให้ถูกก็ต้องบอกว่า งานบาลีที่ถูกทิ้งค้างไว้ไม่มีคนทำยังมีอีกเป็นปริมาณมหึมา 

แต่เพราะเราตั้งเป้าหมายไว้ที่สอบได้ จึงมองไม่เห็นงานที่จะต้องทำ

แต่ที่หนักไปกว่านั้น คือมองไม่เห็นประโยชน์ของงานที่ควรจะทำ-หรือพูดให้ถูก-งานที่เป็นหน้าที่โดยตรงที่จะต้องทำ

—————

คาถาพาหุงนั้น ถ้าเทียบกับพระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกาที่เรามีอยู่และรอการศึกษาค้นคว้า ก็เป็นแค่เศษเสี้ยวเล็กๆ

เมื่อผมบอกว่าจะทำเรื่องคาถาพาหุง และขอร้องขอแรงไปตามบรรดาญาติมิตรที่เป็นนักเรียนบาลีให้ช่วยกันทำงานนี้ 

มีคนร้องถามว่าจะทำไปทำไม?

ผมควรจะตอบอย่างไรดี?

หรือควรจะร้องถามกลับไปว่า-แล้วจะเรียนบาลีไปทำไม?

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๖ ธันวาคม ๒๕๖๓

๑๖:๑๐

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *