วิมลวิลาสินี (บาลีวันละคำ 3,120)
วิมลวิลาสินี
ลีลาวิลาสสะอาดหมดจด
อ่านว่า วิ-มะ-ละ-วิ-ลา-สิ-นี
ประกอบด้วยคำว่า วิมล + วิลาสินี
(๑) “วิมล”
รูปคำบาลีประกอบด้วย วิ + มล
(ก) “วิ” เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่างๆ กัน
(ข) “มล” บาลีอ่านว่า มะ-ละ รากศัพท์มาจาก มลฺ (ธาตุ = เคลื่อนที่; มัวหมอง) + อ (อะ) ปัจจัย
: มลฺ + อ = มล แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่เคลื่อนออกมา” (เช่นสิ่งสกปรกจากร่างกาย) (2) “สิ่งเป็นเหตุให้มัวหมอง”
“มล” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง สิ่งที่ไม่บริสุทธิ์, มลทิน; ความสกปรก, ของโสโครก; ความไม่บริสุทธิ์ (anything impure, stain; dirt; impurity)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “มล” ในสันสกฤตไว้ดังนี้ –
“มล : (คุณศัพท์) เปื้อนเปรอะ; dirty; – (คำนาม) สิ่งโสมมหรือเปื้อนเปรอะทั่วไป; บาป; dirt or filth in general; sin.”
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “มละ” เป็นอังกฤษว่า –
Mala: dirt; impurity; stain; refuse; dust.
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มล, มล– : (คำนาม) ความมัวหมอง, ความสกปรก, ความไม่บริสุทธิ์; สนิม, เหงื่อไคล. (คำวิเศษณ์) มัวหมอง, สกปรก, ไม่บริสุทธิ์. (ป., ส.).”
วิ + มล = วิมล (วิ-มะ-ละ) (คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “มีมลทินไปปราศแล้ว” หมายถึง ปราศจากมลทิน, ไม่ด่างพร้อย, ไม่แปดเปื้อน, สะอาด, บริสุทธิ์ (without stains, spotless, unstained, clean, pure)
คำนี้ในภาษาไทยอ่านว่า วิ-มน แต่ในที่นี้คงอ่านตามบาลีว่า วิ-มะ-ละ-
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิมล : (คำวิเศษณ์) ปราศจากมลทิน, ไม่มีตําหนิ, ใส, สะอาด, บริสุทธิ์, กระจ่าง, งาม. (ป., ส.).”
(๒) “วิลาสินี”
รากศัพท์มาจาก วิลาส + อินี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
(ก) “วิลาส” อ่านว่า วิ-ลา-สะ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ลสฺ (ธาตุ = ชอบใจ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, “ทีฆะต้นธาตุด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” คือ อะ ที่ ล-(สฺ) เป็น อา (ลสฺ > ลาส)
: วิ + ลสฺ = วิลสฺ + ณ = วิลสฺณ > วิลส >วิลาส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่น่าชอบใจโดยพิเศษ”
“วิลาส” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) เสน่ห์, ความสง่างาม, ความงดงาม (charm, grace, beauty)
(2) การทำเล่น, การเล่นสนุก, การทำสะบัดสะบิ้ง (dalliance, sporting, coquetry)
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “วิลาส” ว่า งาม, สวยงาม, การเยื้องกราย, การชมดชม้อย
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิลาส : (คำวิเศษณ์) พิลาส, งามมีเสน่ห์, งามอย่างสดใส. (ป., ส.).”
(ข) วิลาส + อินี = วิลาสินี แปลว่า “(อรรถกถา) อันมีลีลางามวิเศษ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “วิลาสินี” ไว้ด้วย บอกไว้ว่า –
“วิลาสินี : (คำวิเศษณ์) งามอย่างสดใส, งามมีเสน่ห์ เช่น อันว่าเจ้ามัทรีวิลาสินีนงราม. (ม. คําหลวง นครกัณฑ์). (ส.).”
วิมล + วิลาสินี = วิมลวิลาสินี แปลความว่า “(อรรถกถา) มีลีลาวิเศษบรรยายความอย่างกระจ่างหมดจด”
ขยายความ :
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต กล่าวถึงคัมภีร์อรรถกถาที่ชื่อ “วิมลวิลาสินี” ไว้สั้นๆ ว่า –
…………..
พึงทราบ: ปรมัตถทีปนี ที่เป็นอรรถกถา แห่งวิมานวัตถุ และเปตวัตถุ มีอีกชื่อหนึ่งว่า วิมลวิลาสินี; …
…………..
ขยายความเพิ่มเติมว่า พระสุตตันตปิฎก หรือพระสูตร เป็น 1 ในพระไตรปิฎก แบ่งเนื้อหาออกเป็น 5 กลุ่ม เรียกว่า “นิกาย” คือ ทีฆนิกาย, มัชฌิมนิกาย, สังยุตนิกาย, อังคุตรนิกาย และ ขุทกนิกาย
4 นิกายข้างต้นมีเนื้อความเป็นกลุ่มเดียวกัน รวมเป็นคัมภีร์ใหญ่ 4 คัมภีร์ แต่นิกายสุดท้ายคือขุทกนิกาย มีลักษณะแตกต่างไปจากนิกายอื่น คือเป็นคัมภีร์ที่แยกย่อยออกไปหลายคัมภีร์ เท่าที่ตกลงยุติแล้วนับได้ 15 คัมภีร์ คือ (1) ขุททกปาฐะ (2) ธรรมบท (3) อุทาน (4) อิติวุตตกะ (5) สุตตนิบาต (6) วิมานวัตถุ (7) เปตวัตถุ (8) เถรคาถา (9) เถรีคาถา (10) ชาดก (11) นิทเทส (มหานิทเทส-จูฬนิทเทส) (12) ปฏิสัมภิทามรรค (13) อปทาน (14) พุทธวงส์ (15) จริยาปิฎก
แต่ละคัมภีร์จะนับเป็นแต่ละนิกายก็ไม่ได้ ท่านจึงรวมทุกคัมภีร์เข้าเป็นกลุ่มเดียวกัน (รวมเข้าเป็นกลุ่มเดียวกัน ไม่ใช่รวมเข้าเป็นคัมภีร์เดียวกัน) แล้วจัดเป็นอีกนิกายหนึ่ง เรียกว่า “ขุทกนิกาย” แปลว่า “กลุ่มเรื่องย่อย”
ที่เรียกว่า “เรื่องย่อย” ไม่ได้หมายถึงเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องไม่สลักสำคัญ บางเรื่องเป็นเรื่องยาวหรือเรื่องใหญ่มาก เช่นชาดก บางเรื่องก็สำคัญมาก เช่นธรรมบท เป็นที่รู้จักกันมากยิ่งกว่าพระสูตรหลายๆ พระสูตรเสียด้วยซ้ำ
คัมภีร์ย่อยลำดับที่ (6) วิมานวัตถุ และ (7) เปตวัตถุ มีอรรถกถาชื่อ “ปรมัตถทีปนี” [ดูเพิ่มเติมที่ “ปรมัตถทีปนี” บาลีวันละคำ (3,104) 11-12-63]
อรรถกถาชื่อ “ปรมัตถทีปนี” ฉบับดังกล่าวนี้แหละมีอีกชื่อหนึ่งว่า “วิมลวิลาสินี” ที่กำลังกล่าวถึงนี้
ผู้รจนาอรรถกถา “วิมลวิลาสินี” คือพระธรรมปาละแห่งสำนักพทรติตถวิหารซึ่งอยู่ในอินเดียตอนใต้ ปัจจุบันคือเมืองนาคปัฏฏัน ตอนใต้ของเมืองมัทราส
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ความงามทำให้คนสะอาดไม่ได้
: แต่ความสะอาดทำให้คนงามได้
#บาลีวันละคำ (3,120)
27-12-63