ฤๅษี (บาลีวันละคำ 4,389)
ฤๅษี
ต้องมีส่วนควบหางยาว
อ่านว่า รือ-สี
“ฤๅษี” เป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “อิสิ” อ่านว่า อิ-สิ รากศัพท์มาจาก อิสฺ (ธาตุ = แสวงหา; ปรารถนา; ไป) + อิ ปัจจัย
: อิสฺ + อิ = อิสิ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้แสวงหาคุณธรรม” (2) “ผู้ปรารถนาสิวะคือพระนิพพาน” (3) “ผู้ไปสู่สุคติ”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อิสิ” ว่า a holy man, one gifted with special powers of insight & inspiration, an anchoret, a Seer, Sage, Saint (คนศักดิ์สิทธิ์, ผู้มีพรสวรรค์เกี่ยวกับกำลังภายใน และผู้มีตาทิพย์, โยคี, ฤๅษี, มุนี, นักบุญ)
ในการพูดกันทั่วไปในภาษาไทย แทบจะไม่มีใครรู้จักคำว่า “อิสิ” แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ก็เก็บคำว่า “อิสิ” และ “อิสี” ไว้ด้วย บอกไว้ว่า –
“อิสิ, อิสี : (คำนาม) ผู้แสวงคุณความดี, ฤษี, ผู้ถือบวช. (ป.; ส. ฤษิ).”
บาลี “อิสิ” สันสกฤตเป็น “ฤษิ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ฤษิ : (คำนาม) พระฤษี [พระฤษีมีอยู่ ๗ จำพวก คือ สฺรุตรฺษิ, กานฺทรฺษิ, ปรมรฺษิ, มหรฺษิ, ราชรฺษิ, พฺรหฺมรฺษิ, เทวรฺษิ]; พระเวท; แสง; a sanctified personage [there are seven orders of these saints, as Srutarshi, Kāntarshi, Paramrshi, Maharshi, Rājarshi, Brahmarshi, and Devarshi]; a Veda; a ray of light.”
บาลี “อิสิ” สันสกฤต “ฤษิ” ในภาษาไทยมีทั้ง “ฤษี” (รึ-สี) และ “ฤๅษี” (รือ-สี)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
(1) ฤษี : (คำนาม) ฤๅษี, นักบวชพวกหนึ่ง มีมาก่อนพุทธกาล สละบ้านเรือนออกไปบําเพ็ญพรตแสวงหาความสงบ. (ส. ฤษี ว่า ผู้เห็น, ผู้แต่งพระเวท; ป. อิสิ).
(2) ฤๅษี : (คำนาม) ฤษี, นักบวชพวกหนึ่ง มีมาก่อนพุทธกาล สละบ้านเรือนออกไปบําเพ็ญพรตแสวงหาความสงบ.
ขยายความ :
ระวัง! อย่าเขียนผิด :
ข้อที่ต้องทราบก็คือ ตัว “ฤๅ” (รือ) ในคำว่า “ฤๅษี” ไม่ใช่ ฤ + สระ า เครื่องหมาย –ๅ เช่นนี้ไม่ใช่สระ อา หางยาวอย่างที่บางคนชอบเรียก แต่เป็นส่วนควบหรือตัวเต็ม ๆ ของตัว “ฤๅ”
เหมือนเราเขียน ญ หญิง ต้องมีเชิง หรือ ฐ ฐาน ก็ต้องมีเชิง
เชิงนั้นคือส่วนควบหรือตัวเต็ม ๆ ของ ญ และ ฐ ฉันใด
เครื่องหมาย –ๅ ก็เป็นส่วนควบหรือตัวเต็ม ๆ ของ “ฤๅ” ฉันนั้น
เพราะฉะนั้น คำว่า “ฤๅษี” ต้องเขียนอย่างนี้
ถ้าเขียน “ฤาษี” (ฤ + สระ า) แบบนี้คือเขียนผิด
แถมบ่น :
บาลีวันละคำวันนี้ตั้งใจเตือนผู้ที่เขียนคำว่า “ฤๅษี” เป็น “ฤาษี” (ฤ + สระ า) ว่ากรุณาหมั่นเปิดพจนานุกรมกันหน่อยเถิด อย่าอ้างว่าเขียนตามความเคยชิน
ความจริง จะต้องบอกว่า เขียนเช่นนั้น (ฤาษี) ไม่ใช่เพราะเคยชินหรือเคยมือ แต่เพราะความเข้าใจผิด คือเข้าใจผิดไปว่า ฤ + สระ า เป็นคำที่ถูกต้อง
วิธีแก้คือ –
(1) เมื่อจะสะกดคำแปลก ๆ ใด ๆ ให้สงสัยไว้เสมอว่าสะกดอย่างไรถูก
(2) หมั่นเปิดพจนานุกรม พูดตรงๆ ว่า อย่าขี้เกียจเปิดพจนานุกรม
ถ้าอ้างว่า เครื่องที่ใช้พิมพ์มีแต่สระ อา ไม่มีตัวส่วนควบของ ฤๅ ก็ต้องช่วยกันเรียกร้องผู้ผลิตให้พัฒนาโปรแกรม อย่ายอมจำนนเขียนผิดเรื่อยไป
…………..
ดูก่อนภราดา!
ภาษาเป็นสมบัติวัฒนธรรมของชาติ –
: เขียนผิด วัฒนธรรมก็วิปลาส
: เขียนพลาด วัฒนธรรมก็วิปริต
#บาลีวันละคำ (4,389)
18-6-67
…………………………….
…………………………….