อนุตตานทีปนี (บาลีวันละคำ 3,119)
อนุตตานทีปนี
คัมภีร์ที่ทำเรื่องยากให้ง่าย
อ่านว่า อะ-นุด-ตา-นะ-ที-ปะ-นี
ประกอบด้วยคำว่า อนุตตาน + ทีปนี
(๑) “อนุตตาน”
เขียนแบบบาลีเป็น “อนุตฺตาน” (มีจุดใต้ ต ตัวหน้า) อ่านว่า อะ-นุด-ตา-นะ ประสมขึ้นจาก น + อุตฺตาน
(ก) “น” (นะ)
เป็นศัพท์จำพวกนิบาต แปลว่า ไม่, ไม่ใช่ (no, not)
(ข) “อุตฺตาน”
อ่านว่า อุด-ตา-นะ โปรดสังเกตว่า มีจุดใต้ ตฺ ตัวหน้า บังคับให้เป็นตัวสะกด ถ้าไม่มีจุด คือเขียนเป็น “อุตตาน” เหมือนคำไทย ต้องอ่านว่า อุ-ตะ-ตา-นะ รากศัพท์มาจาก อุ (คำอุปสรรค = ขึ้น, นอก) + ตนฺ (ธาตุ = แผ่ไป, ขยาย) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ซ้อน ตฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (อุ + ตฺ + ตนฺ), ทีฆะ อะ ต้นธาตุเป็น อา “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” (ตนฺ > ตาน)
: อุ + ตฺ + ตนฺ = อุตฺตนฺ + ณ = อุตฺตนฺณ > อุตฺตน > อุตฺตาน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่มีการแผ่ไปข้างบนเป็นประมาณ”
“อุตฺตาน” (คุณศัพท์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) เหยียดยาวราบ, ทอดหลังลง, นอนหงาย (stretched out flat, lying on one’s back, supine)
(2) ชัด, แจ่มแจ้ง, เปิดเผย, มองเห็น (clear, manifest, open, evident)
(3) ผิวเผิน, ราบ, ตื้น (superficial, flat, shallow)
น + อุตฺตาน แปลง น เป็น อน ตามกฎการประสมของ น + กล่าวคือ :
(1) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ แปลง น เป็น อ–
(2) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยสระ (อ อา อิ อี อุ อู เอ โอ) แปลง น เป็น อน–
ในที่นี้ “อุตฺตาน” ขึ้นต้นด้วยสระ คือ อุ– จึงต้องแปลง น เป็น อน
น > อน + อุตฺตาน = อนุตฺตาน หมายถึง ไม่ชัดเจน, ไม่ได้อธิบาย, ไม่แจ่มแจ้ง (unclear, not explained)
(๒) “ทีปนี”
อ่านว่า ที-ปะ-นี รากศัพท์มาจาก ทีปฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง, ประกาศ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: ทีปฺ + ยุ > อน = ทีปน + อี = ทีปนี แปลตามศัพท์ว่า (1) “(ฎีกา) เป็นเครื่องส่องสว่าง” (2) “(ฎีกา) เป็นเครื่องประกาศ”
อนุตฺตาน + ทีปนี = อนุตฺตานทีปนี > อนุตตานทีปนี แปลความว่า “(ฎีกา) เป็นเครื่องส่องสว่างให้เห็นความหมายที่ไม่ตื้น” หรือ “(ฎีกา) เป็นเครื่องแสดงข้อธรรมวินัยที่ยังไม่แจ่มแจ้ง”
“อนุตตานทีปนี” เป็นชื่อคัมภีร์ชั้นฎีกาในส่วนพระวินัย อธิบายความในคัมภีร์ปาลิมุตตกวินัยวินิจฉัยสังคหะ
ในขณะที่เขียนบาลีวันละคำคำนี้ยังไม่ทราบรายละเอียดอื่นๆ ท่านที่ทราบรายละเอียด หากจะกรุณานำมาร่วมบูรณาการเพื่อเป็นองค์ความรู้ร่วมกัน ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ไม่ทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก
: เท่ากับช่วยทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย
26-12-63