บาลีวันละคำ

วัฏโทษ (บาลีวันละคำ 3,618)

วัฏโทษ

ความผิดของวัฏฏะ

อ่านว่า วัด-ตะ-โทด

ประกอบด้วยคำว่า วัฏ + โทษ

(๑) “วัฏ

บาลีเป็น “วฏฺฏ” อ่านว่า วัด-ตะ รากศัพท์มาจาก วฏฺฏ (ธาตุ = หมุน, วน) + (อะ) ปัจจัย

: วฏฺฏ + = วฏฺฏ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่กลม” “สิ่งที่หมุนเวียน” 

วฏฺฏ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) รอบ, กลม, วงกลม (round, circular; circle)

(2) หมุนไป, วงรอบของความเป็นอยู่, วัฏสงสาร, วิวัฒน์ (rolling on, the round of existences, cycle of transmigrations, evolution)

บาลี “วฏฺฏ” ภาษาไทยใช้เป็น “วัฏฏะ” และตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “วัฏ-” (กรณีมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วัฏ-, วัฏฏะ : (คำแบบ) (คำนาม) วงกลม; การหมุน, การเวียนไป, รอบแห่งการเวียนเกิดเวียนตาย.ว. กลม, เป็นวง. (ป.; ส. วฺฤตฺต).”

(๒) “โทษ

บาลีเป็น “โทส” อ่านว่า โท-สะ รากศัพท์มาจาก ทุสฺ (ธาตุ = ประทุษร้าย, เกลียดชัง) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อุ ที่ ทุ-(สฺ) เป็น โอ (ทุสฺ > โทส)

: ทุสฺ + = ทุสณ > ทุส > โทส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การประทุษร้าย” “การเกลียดชัง” “เครื่องประทุษร้ายกัน” “เหตุทำให้เกลียดชังกัน

โทส” ในบาลีมีความหมาย 2 นัย คือ –

(1) ความชั่ว, มลทิน, ความผิด, สภาพไม่ดี, ความบกพร่อง; ความเลวร้าย, ความเสื่อมทราม (corruption, blemish, fault, bad condition, defect; depravity, corrupted state)

(2) โทสะ, ความโกรธ, ความประสงค์ร้าย, เจตนาร้าย, ความชั่วช้า, ความมุ่งร้าย, ความเกลียด (anger, ill-will, evil intention, wickedness, corruption, malice, hatred)

หรือจำสั้นๆ :

(1) ความชั่ว (corruption) 

(2) ความโกรธ (anger)

บาลี “โทส” สันสกฤตเป็น “โทษ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

โทษ : (คำนาม) โทษ, ความผิด, พิรุทธ; บาป; โทษ, การละเมิด; ธาตุพิการ, หรือที่พิการ, และลมในร่างเดิรไม่สะดวก; fault, defect, blemish; sin; offence; transgression; disorder of the humours of the body or defect in the functions of the bile, and circulation of the mind.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้ทั้ง “โทส” ตามบาลี และ “โทษ” ตามสันสกฤต บอกไว้ว่า –

(1) โทส-, โทสะ, โทโส : (คำนาม) ความโกรธ, ความฉุนเฉียว. (ป.; ส. โทษ).

(2) โทษ, โทษ– : (คำนาม) ความไม่ดี, ความชั่ว, เช่น โทษแห่งความเกียจคร้าน, ความผิด เช่น กล่าวโทษ, ผลแห่งความผิดที่ต้องรับ เช่น ถูกลงโทษ, ผลร้าย เช่น ยาเสพติดให้โทษ.ก. อ้างเอาความผิดให้ เช่น อย่าโทษเด็กเลย. (ส.; ป. โทส).

ในที่นี้ใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “โทษ” หมายถึง ความผิด (offence)

วฏฺฏ + โทส = วฏฺฏโทส (วัด-ตะ-โท-สะ) แปลว่า “ความผิดของวัฏฏะ

วฏฺฏโทส” เขียนแบบไทยเป็น “วัฏโทษ” อ่านว่า วัด-ตะ-โทด

รูปคำเทียบในภาษาไทย เช่น วัฏจักร วัฏทุกข์ วัฏสงสาร

คำว่า “วัฏโทษ” ยังไม่มีในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 

ขยายความ :

คำว่า “วัฏโทษ” เป็นคำที่ผู้เขียนบาลีวันละคำคิดขึ้นโดยอาศัยข้อความตามเรื่องราวตอนหนึ่งในคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา

เรื่องย่อมีว่า พระเถระรูปหนึ่งได้รับนิมนต์ไปฉันที่บ้านของช่างเจียระไนเพชรทุกวันติดต่อกันมา 12 ปี วันหนึ่งทางวังส่งเพชรมาให้เจียระไน ประจวบเป็นเวลาที่ช่างเพชรกำลังหันเนื้อเพื่อปรุงเป็นภัตตาหาร ช่างเพชรรับเพชรแล้ววางไว้บนเขียง ลุกไปล้างมือหลังบ้าน 

นกกระเรียนซึ่งเลี้ยงปล่อยภายในบ้านได้กลิ่นเนื้อก็มาจิกเนื้อบนเขียงกิน แล้วพลอยกลืนเพชรเข้าไปด้วย พระเถระซึ่งนั่งอยู่ไม่ไกลเห็นเหตุการณ์นี้โดยตลอด

ช่างเพชรกลับออกมาไม่เห็นเพชร ถามใครก็ไม่ได้ความ ก็เข้าใจว่าพระเถระคงจะเอาไปเพราะตรงนั้นไม่มีใครอีก จึงคาดคั้นพระเถระ 

พระเถระปฏิเสธเพราะท่านไม่ได้เอาเพชรไป แต่ท่านก็ไม่บอกความจริง เพราะถ้าบอก นกกระเรียนก็ต้องตาย ช่างเพชรคาดคั้นถึงขั้นทำร้ายร่างกายพระเถระ ท่านก็ไม่พูดความจริง พอดีนกกระเรียนตัวนั้นเข้ามาป้วนเปี้ยนอีก ช่างเพชรกำลังโกรธ เตะนกกระเรียนตาย 

นกตายแล้วพระเถระจึงบอกความจริง ท่านว่าถ้านกไม่ตาย แม้ตัวท่านจะต้องตายท่านก็จะไม่บอก

ช่างเพชรผ่าท้องนก เห็นเพชรอยู่ในท้องนกก็ตกใจและเสียใจที่ทำร้ายพระเถระซึ่งไม่มีความผิด พร้อมทั้งขอขมาโทษ

พระเถระตอบตามข้อความในคัมภีร์ว่า –

…………..

เนว  ตุยฺหํ  โทโส  อตฺถิ,

น  มยฺหํ,

วฏฺฏสฺเสว  โทโส.

โยมไม่มีความผิดเลย

อาตมาก็ไม่มี

เป็นความผิดของวัฏฏะโดยแท้

ที่มา: มณิการกุลุปกติสฺสตฺเถรวตฺถุ

ธัมมปทัฏฐกถา ภาค 5 หน้า 34

…………..

ไขความ :

คำว่า “วฏฺฏสฺเสว  โทโส” ถอดรูปออกมาเป็น “วัฏโทษ = ความผิดของวัฏฏะ” หมายความว่า เพราะยังเวียนว่ายตายเกิดจึงต้องประสบกับเหตุการณ์แบบนี้ รวมทั้งความทุกข์ความเดือดร้อนอื่นๆ อีกสารพัดไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าจะเอาผิดกันให้ถึงที่สุด ก็ต้องเอาผิดกับวัฏฏะคือการเวียนว่ายตายเกิด อย่างนี้แหละจึงเรียกว่า “ความผิดของวัฏฏะ

ดังนั้น ถ้าตัดวงจรการเวียนว่ายตายเกิดเสียได้ ก็เท่ากับตัดปัญหาทั้งหมดได้

ตัดวงจรการเวียนว่ายตายเกิดนี่แล คือเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา

…………..

ดูก่อนภราดา!

: การแก้แค้น

: คือการผูกแค้น

#บาลีวันละคำ (3,618)

9-5-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *