สตรีกับดอกไม้
—————————–
และคิดต่อไปถึงศีลกับธรรม
………
นำร่อง
——-
ผมกำลังจับงานทำ “คาถาพาหุง” ดังที่ได้กล่าวเกริ่นไปแล้ว ได้ขอความร่วมมือจากญาติมิตรและได้รับความความร่วมมืออย่างอบอุ่น
ตอนนี้
๑ มีตัวบทคาถาพาหุงทั้งที่เขียนแบบบาลีและเขียนแบบคำอ่านเป็นต้นฉบับมาตรฐานเพื่อการอ้างอิงอยู่ในมือเรียบร้อยแล้ว
๒ มีคำแปลโดยพยัญชนะอยู่ในมือเรียบร้อยแล้ว
๓ งานลำดับต่อไปคือ คัดคำศัพท์ออกมาจากตัวบทและบทให้หมดทุกคำ แล้วส่งมอบให้ “นักเรียนบาลีอาสาสมัคร” ทำหน้าที่วิเคราะห์รากศัพท์ทำนองเดียวกับที่ผมทำอยู่ใน “บาลีวันละคำ” เพื่อให้ผู้ศึกษาคาถาพาหุงได้รับความรู้เกี่ยวกับถ้อยคำในตัวบทอย่างกระจ่างแจ้งครบถ้วน (อยากรู้ว่าคำนี้แปลว่าอะไร รากศัพท์มาอย่างไร มาที่นี่ที่เดียว ได้ครบ!)
งานในขั้นตอนนี้กำลังดำเนินการอยู่ และน่าจะต้องให้เวลานักเรียนบาลีอาสาสมัครทำงานเงียบๆ สงบๆ สักพักใหญ่
เพราะฉะนั้น ตอนนี้ก็เป็นช่วงว่าง หรือ “เวลาตาย”
ผมขออนุญาตเปลี่ยนบรรยากาศ หรือคั่นรายการด้วยบทความขนาดครึ่งสั้นครึ่งยาวที่เขียนไว้นานแล้ว และหวังใจว่าจะเป็นแนวคิดทางธรรมที่เป็นประโยชน์แก่ญาติมิตรพอสมควร
ขอโพสต์เป็นตอนสั้นๆ พออ่านกันเพลินๆ นะครับ
………………..
กระดังงาลนไฟ
………………..
ผมชอบฟังเพลงของ ทูล ทองใจ มาตั้งแต่เป็นวัยรุ่น (ผมเป็นวัยรุ่นนะครับ ไม่ใช่ ทูล ทองใจ เป็นวัยรุ่น) มีผู้ให้ความเห็นว่า เสียงของทูล ทองใจ นั้นเย็นและนุ่มแน่น ผมชอบตรงที่เขาร้องชัดถ้อยชัดคำ โดยเฉพาะเสียง ร เรือ ล ลิง และคำควบกล้ำ เขาจะร้องชัดมาก เป็นแบบฉบับที่ดีของการออกเสียงภาษาไทย
วันหนึ่งผมได้ฟังเพลง กระดังงาลนไฟ ของทูล ทองใจ ซึ่งมีเนื้อร้องดังต่อไปนี้
………………..
กระดังงาลนไฟ
หอมเอย หอมกลิ่น
ดอกประทุมหรือกระถินกลิ่นหอมมา
หอมเหมือนมีมนตรา
แทรกซึมซ่านใจซึ้งในอุรา
เหมือนแก้มสุดาเคยหอม
กลิ่นกรุ่นกรุ่นละมุนละไม
ยิ่งถวิลกลิ่นสไบ
กลิ่นร่ำมาลัยแนบเนื้อพะยอม
นวลปรางน้องนางที่เคยได้ดมได้ดอม
ไม่เคยลืมแก้มหอมในห้วงฤทัย
ดอกเอ๋ย เจ้าดอกกระดังงา
กลิ่นหอมเจ้าจะมีค่า
เมื่อถูกนำมาลนไฟเอย
เอ๋ย จริงหรือไม่เอย
หอมลอยอ้อยอิ่ง
กลิ่นสาบสาวหอมเสียยิ่งสิ่งหอมไกล
หอมเหนือมวลมาลัย
ร้อยพันบุปผาหาเทียมเปรียบได้
หอมตรึงหทัยนักหนา
อันนารีที่จะหอม
ก็คงเหมือนดังพะยอม
ที่ถูกลนไฟให้ล้ำเลอค่า
ควรจะเป็นเช่นดังดอกกระดังงา
ที่ใคร่ปรารถนาไว้คู่ฤทัย.
………………..
………………..
ฟังเพลงนี้แล้วผมก็เอามาคิดต่อ ตามประสาคนที่มีความเชื่ออยู่ว่า คนเราควรฟังเพลงให้ได้มากกว่าความเพลิดเพลิน
ผมจินตนาการไปตามเนื้อเพลงว่า ….
ชายหนุ่มคนหนึ่งมีนางในดวงใจของเขาอยู่คนหนึ่ง
แน่ละ ต้องเป็นสาวบริสุทธิ์ และสวยงาม
เพราะนางในดวงใจของชายหนุ่มทั้งหลายย่อมจะต้องสาวและสวยเสมอ
และตามจิตนาการในเพลงนี้ นางในดวงใจของเขาก็ควรจะหอมเหมือนดอกกระดังงานั่นแล้ว
ครั้นแล้ว …
เขาก็นึกถึงธรรมชาติของดอกกระดังงาที่ว่า ถ้าเอาไปลนไปเสียหน่อยกลิ่นก็จะหอมแรงยิ่งขึ้น
เขาก็จึงปรารถนาที่จะให้นางในดวงใจของเขาเป็นเหมือนดอกกระดังงานั้นบ้าง ดังเนื้อเพลงตอนท้ายที่ว่า –
…………………..
อันนารีที่จะหอม
ก็คงเหมือนดังพะยอม
ที่ถูกลนไฟให้ล้ำเลอค่า
ควรจะเป็นเช่นดังดอกกระดังงา
ที่ใคร่ปรารถนาไว้คู่ฤทัย.
…………………..
คิดมาถึงตรงนี้ ผมก็เลยตั้งคำถามเป็นลำดับกระบวนการขึ้นมาว่า –
มีดอกกระดังงาอยู่ดอกหนึ่ง
เหมือนกับมีนางในดวงใจอยู่คนหนึ่ง
จะให้ดอกกระดังงาหอมแรงยิ่งขึ้น
ก็ต้องเอาไปลนไฟ
แต่จะให้นางในดวงใจหอมแรงเหมือนดอกกระดังงา
จะต้องทำอย่างไร?
ก็คือผมไม่ทราบว่าจะเอานางในดวงใจไปลนไฟแบบไหน หรือเอาไปทำอย่างไรจึงจะเหมือนกระดังงาลนไฟนั่นเอง
ต่อมามีท่านผู้หนึ่งได้ยินผมคิดดังๆ เช่นว่านี้ ท่านก็มีเมตตาบอกว่า คุณไม่รู้ความหมายของคำว่า “กระดังงาลนไฟ” ดอกหรือ
ว่าแล้วท่านก็เปิดหนังสือพจนานุกรมและอ่านให้ผมฟังว่า –
…………………..
กระดังงาลนไฟ ก็คือ หญิงที่เคยแต่งงานหรือผ่านผู้ชายมาแล้ว ย่อมรู้จักชั้นเชิงทางปรนนิบัติและเอาอกเอาใจผู้ชายได้ดีกว่าหญิงที่ยังไม่ได้แต่งงาน
…………………..
อันที่จริงผมก็พอจะทราบความหมายของคำว่า “กระดังงาลนไฟ” อยู่บ้าง และเพราะทราบความหมายอยู่บ้างนั่นเองผมจึงสงสัยว่า ในเมื่อนางในดวงใจของชายหนุ่มในเพลงคนนั้นเป็นสาวบริสุทธิ์ (ตามจินตนาการของผม) และสวยงาม เขาจะทำอย่างไรจึงจะให้เธอผู้อยู่ในดวงใจของเขาคนนั้นเป็นดอกกระดังงาลนไฟขึ้นมาให้ได้ตามที่ปรารถนา ดังที่บอกไว้ในเนื้อเพลงว่า – ควรจะเป็นเช่นดังดอกกระดังงา ที่ใคร่ปรารถนาไว้คู่ฤทัย
แต่ถ้าความจริงปรากฏว่า นางในดวงใจของชายหนุ่มในเพลงนี้ไม่ใช่สาวบริสุทธิ์ หากแต่เป็น “หญิงที่เคยแต่งงานหรือผ่านผู้ชายมาแล้ว รู้จักชั้นเชิงทางปรนนิบัติและเอาอกเอาใจผู้ชายได้ดี” ตามความหมายของคำว่า “กระดังงาลนไฟ” แล้วไซร้
สุนทรีย์หรือความงดงามละเมียดละไมของเพลงนี้ก็แทบจะไม่มีเหลืออยู่เลย
และเพลงนี้ก็น่าจะเปลี่ยนชื่อเป็น “รักแม่หม้าย” ที่ ยอดรัก สลักใจ ร้อง หรืออะไรทำนองนั้น และลีลาอารมณ์ของเพลงก็จะอยู่กันคนละโลกไปเลย
……………………
สตรีเหมือนดอกไม้
……………………
ขอพักปัญหาเรื่องทำอย่างไรนางในดวงใจที่เป็นสาวสวยบริสุทธิ์จึงจะมีสรรพคุณเหมือนกระดังงาลนไฟไว้เพียงแค่นี้
ท่านผู้ใดจะคิดต่อไปหรือไม่คิด ก็เชิญตามอัธยาศัย
ที่ผมยกเรื่องนี้มาปรารภก็เพื่อเป็นบทนำเข้าสู่ประเด็นที่ตั้งไว้ว่า “สตรีกับดอกไม้” เท่านั้นเอง เพียงแต่อาจจะนำนานไปหรือนำยาวไปหน่อย
…………
ดูเหมือนจะเป็นที่ยอมรับกันไปทั่วโลกมนุษย์ว่า สตรีกับดอกไม้เป็นของคู่กันในหลายๆ แง่มุม
ในที่นี้ผมจะขอชวนท่านคิดใน ๒ แง่มุม คือ –
สตรีเหมือนดอกไม้
และ สตรีมักชอบดอกไม้
ค่านิยมการตั้งชื่อคนตามวัฒนธรรมไทย เป็นพยานยืนยันได้อย่างหนึ่งว่า คนไทยยอมรับว่าสตรีเหมือนดอกไม้
เรานิยมเอาชื่อดอกไม้ไปตั้งเป็นชื่อสตรี หรือจะพูดใหม่ว่า นิยมตั้งชื่อสตรีตามชื่อดอกไม้ ก็คงได้ความเท่ากัน
กาหลง ชงโค
โยทะกา ราตรี
บุหงา มาลี
จำปี จำปา สารภี
ถ้าบอกว่านี่เป็นชื่อคน เราก็รู้ได้เลยว่าเจ้าของชื่อเป็นผู้หญิง
ดอกไม้เป็นตัวแทนหรือเป็นสัญลักษณ์ของความสวยงามฉันใด
สตรีก็เป็นฉันนั้น
ธรรมชาติสร้างสตรีเพศขึ้นมาก็เพื่อให้เป็นความสวยงามของมนุษยชาตินั่นเอง
ถ้าโลกนี้ไม่มีสตรี เราก็คงไม่รู้ว่าจะไปมองหาความสวยงามในหมู่มนุษย์กันที่ไหน
นี่เป็นสัจธรรม คือความเป็นจริงอย่างหนึ่งของโลก
อีกประการหนึ่ง เมื่อความเป็นจริงสตรีเป็นความสวยงามของมนุษยชาติเช่นนั้น ธรรมชาติของสตรีจึงเป็นเพศที่มักจะรักดอกไม้
และดอกไม้ก็เป็นสัญลักษณ์แห่งความสวยงาม
ก็จึงเท่ากับบอกว่า สตรีเป็นเพศที่รักสวยรักงามนั่นเอง
เพราะฉะนั้น จะว่าไปแล้วทั้ง ๒ แง่มุมนี้ (สตรีเหมือนดอกไม้ และสตรีมักชอบดอกไม้) ก็เป็นแง่มุมเดียวกันนั่นเอง คือธรรมชาติของสตรีต้องงามเหมือนดอกไม้ คือสีสวย และกลิ่นหอม
พิจารณาในแง่สวยและหอม ดอกไม้ในโลกนี้ก็มีอยู่ ๔ ชนิด คือ –
สวยแต่ไม่หอม
หอมแต่ไม่สวย
ทั้งสวยทั้งหอม
ไม่สวยไม่หอม
สตรีในโลกนี้ก็มี ๔ ประเภทเช่นเดียวกัน ท่านคงสามารถจำแนกประเภทโดยเปรียบเทียบกับดอกไม้ได้เอง จึงขอผ่านประเด็นนี้ไป
เราคงประจักษ์สัจธรรมที่ว่า “สตรีเป็นเพศที่รักสวยรักงาม” กันอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน
ผมเชื่อว่าไม่มีสตรีคนไหนที่ไม่รักสวยรักงาม
ความรักสวยรักงามนั้นแสดงออกชัดเจนที่การแต่งตัว
เพราะสัจธรรมเป็นเช่นนี้ คำที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนหน้าที่ของสามีที่จะพึงปฏิบัติต่อภรรยา จึงมีอยู่ประการหนึ่งว่า “ให้เครื่องแต่งตัว” (อลงฺการานุปฺปทาเนน)
ปัญหาน่าคิดมีอยู่ว่า สตรีแต่งตัวให้สวยงามเพื่ออะไร?
โปรดอย่าลืมว่า ธรรมชาติที่รักสวยรักงามเป็น “เหตุ” ให้สตรีชอบแต่งตัวให้สวยงาม
ปัญหาน่าคิดก็คือ แล้ว “ผล” ที่ต้องการในการแต่งตัวให้สวยงามนั้นคืออะไร?
เพราะเหตุจะไม่มีผลไม่ได้
และผลจะไม่มาจากเหตุก็ไม่ได้
จะตอบปัญหานี้ให้ถูกต้องตรงตามสัจธรรมได้ ก็ต้องไม่ลืมคิดถึงธรรมชาติของดอกไม้ เพราะเรายอมรับกันแล้วว่า สตรีกับดอกไม้เป็นของคู่กัน
………………
ดอกไม้ให้เธอ
………………
ถามว่า ดอกไม้คืออะไร?
คงเป็นคำถามที่ไม่จำเป็นต้องตอบ หรืออันที่จริงไม่จำเป็นต้องถาม เพราะคงไม่มีใครที่รู้เดียงสาแล้วจะไม่รู้ว่าดอกไม้คืออะไร
แต่ถ้าถามว่า ดอกไม้ทำหน้าที่อะไรให้แก่ต้นไม้?
คำถามนี้ชักจะน่าสนใจ และคนส่วนใหญ่อาจจะไม่เคยนึกสนใจมาก่อน
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกความหมายของคำว่า ดอกไม้ ไว้ว่า –
…………………..
ส่วนหนึ่งของพรรณไม้ที่ผลิออกจากต้นหรือกิ่ง มีหน้าที่ทําให้เกิดผลและเมล็ดเพื่อสืบพันธุ์ มีเกสรและเรณูเป็นเครื่องสืบพันธุ์
…………………..
ฟังคำอธิบายของพจนานุกรมแล้ว ลองหวนนึกถึงสัจธรรมที่ยอมรับกันว่าสตรีกับดอกไม้เป็นของคู่กัน และสตรีเหมือนดอกไม้ เราก็น่าจะเห็นคำตอบ-ถ้าจะถามว่า สตรีทำหน้าที่อะไรให้แก่มนุษยชาติ
และเมื่อเห็นคำตอบข้อนี้แล้วก็เท่ากับได้คำตอบด้วยว่า สตรีแต่งตัวให้สวยงามเพื่ออะไร
………………
เป็นธรรมเนียมของหนุ่มสาวแทบทุกชาติทุกภาษาที่นิยมมอบดอกไม้ให้แก่คู่รัก
แล้วธรรมเนียมนี้ก็แพร่หลายออกไปถึงคนทั่วไปด้วย แม้ไม่ใช่คู่รักก็นิยมมอบดอกไม้ให้กันในโอกาสพิเศษต่างๆ เช่น วันเกิด วันรับปริญญาบัตร เป็นต้น
มีนักคิดตั้งประเด็นชวนให้คิดว่า ในเมื่อดอกไม้เป็นสัญลักษณ์แห่งการทําให้เกิดผลและเมล็ดเพื่อสืบพันธุ์เช่นนี้ หนุ่มสาวที่มอบดอกไม้ให้แก่กันนั้น ถ้ารู้ความหมายที่แท้จริงของดอกไม้แล้ว จะรู้สึกอย่างไร?
ถ้าหนุ่มมอบให้สาว …
ถอดความออกมาเป็นภาษาดอกไม้
ก็เท่ากับบอกว่า ฉันอยากจะสืบพันธุ์กับเธอ
ถ้าสาวมอบให้หนุ่ม …
ก็เท่ากับบอกว่า ฉันพร้อมที่จะให้เธอสืบพันธุ์
ถ้าฟังแล้วรู้สึกว่าหยาบคาย ก็ขอประทานโทษด้วย
แต่นี่เป็นคำอธิบายของนักคิด
และท่านว่าเป็นสัจธรรมความจริงดั้งเดิม
แต่เราทำตามๆ กันมาจนกระทั่งในที่สุดก็ลืมความหมายดั้งเดิมกันไปหมดสิ้น
วันนี้ ถ้าใครเห็นสุภาพสตรีมอบดอกไม้ให้แก่สุภาพบุรุษ แล้วเข้าไปบอกเธอว่า
“นั่นคุณกำลังบอกผู้ชายคนนั้นว่า ‘ฉันพร้อมที่จะให้เธอสืบพันธุ์’ นะ”
คงจะต้องเกิดเรื่องใหญ่แน่
นี่ก็เพราะเราทำตามๆ กันมาจนกระทั่งไม่ได้นึกถึงความหมายดั้งเดิมนั่นเอง
เรื่องเหตุผลในการที่สตรีแต่งตัวให้สวยงามก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่นักคิดท่านบอกว่าเป็นการทำตามๆ กันมาโดยไม่ได้นึกถึงเหตุผลต้นเดิม
………………….
ถือศีล-หมดสวย?
………………….
ก่อนจะชวนให้คิดต่อไป เรื่องที่ควรจะทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อน จะได้ไม่ต้องมาถกเถียงขัดใจกันทีหลัง ก็คือ ความหมายหรือกรอบขอบเขตของคำว่า “แต่งตัว”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกว่า –
…………………..
แต่งตัว ก็คือ สวมเสื้อผ้าหรือประดับประดาร่างกาย
…………………..
ผมคิดว่าเกณฑ์อันหนึ่งที่สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องวินิจฉัยความหมาย หรือความมุ่งหมาย หรือเจตนาของการแต่งตัวได้อย่างชัดเจนดีที่สุดก็คือ ศีลแปด โดยเฉพาะศีลข้อที่ ๗ ซึ่งมีข้อความว่า
…………………..
นัจจะคีตะวาทิตะวิสูกะทัสสะนะ มาลาคันธะวิเลปะนะธาระณะมัณฑะนะวิภูสะนัฏฐานา เวระมะณี
…………………..
แปลเอาความว่า –
…………………..
เจตนางดเว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี ดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล ทัดทรง ประดับ ตกแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ ของหอม เครื่องย้อม เครื่องทา เครื่องผัดผิวต่างๆ
…………………..
คำที่เป็นหลักในศีลข้อนี้มีดังต่อไป –
“นัจจะ” = การฟ้อนรำ เช่น เต้นรำ ลีลาศ รำวง รำไทย รำในขบวนแห่
“คีตะ” = ขับร้อง คือ ร้องเพลง ไม่ว่าจะเปล่งเสียงออกมาเป็นถ้อยคำ หรือทำเสียงสูงต่ำในลำคอ (ที่รู้จักกันในคำฝรั่งว่า hum ฮัมเพลง)
“วาทิตะ” = ประโคมดนตรี คือบรรเลงเครื่องดนตรีต่าง เช่น เป่าปี่ สีซอ ตีกลอง ดีดกีตาร์
การปรบมือให้จังหวะก็น่าจะเข้าข่ายด้วย
“วิสูกะทัสสะนะ” = ดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ดูการแสดงต่างๆ เพื่อความเพลิดเพลิน
“มาลา” = ดอกไม้ ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ธรรมดา หรือดอกไม้ที่เอามาร้อยเป็นพวงเป็นรูปทรงต่างๆ รวมทั้งสิ่งที่ทำเป็นรูปดอกไม้ เพื่อใช้ทัดหู สวมข้อมือ หรือประดับศีรษะเป็นต้น ให้ดูสวยงาม
“คันธะ” = ของหอม เช่น น้ำอบ น้ำหอม แป้งหอม เพื่อให้เกิดความพึงพอใจเมื่อได้กลิ่น
“วิเลปะนะ” = เครื่องย้อม เครื่องทา เครื่องผัดผิวต่างๆ คือที่เรียกรวมๆ ว่าเครื่องสำอาง กิริยาที่ใช้ก็คือที่เรียกว่า ผัดแป้ง แต่งหน้า ทาปาก เขียนคิ้ว ทำผม ย้อมผม โกรกผม ทำเล็บ เพื่อให้เกิดความพึงพอใจแก่ผู้ที่มองเห็นด้วยตาหรือได้สัมผัสด้วยกาย
ตรงนี้มีปัญหาน่าคิดที่ถามไถ่กันในหมู่ผู้ถืออุโบสถว่า คนที่ทำผม ย้อมผม โกรกผม มาก่อนแล้ว เมื่อถึงวันอุโบสถผลของการกระทำเช่นนั้นก็ยังปรากฏอยู่ เช่นผมที่ย้อมหรือทำให้เป็นสีต่างๆ ก็ยังเป็นสีดำหรือสีนั้นๆ อยู่ อย่างนี้จะขัดกับการถืออุโบสถหรือไม่
จึงขอแทรกปัญหานี้ฝากให้แก่ท่านผู้ใฝ่ใจในทางธรรมไว้คิดเป็นการบ้านกันไปพลางๆ
“ธาระณะ” = ทัดทรง เช่น ทัดดอกไม้ ใส่หมวก (ใส่เพื่อสวยงาม)
“มัณฑะนะ” = ประดับ เช่น สวมสายสร้อย ห้อยต่างหู สวมแหวน
“วิภูสะนะ” = ตกแต่งร่างกาย เช่น สวมเสื้อ กางเกง กระโปรง ถุงน่อง รองเท้า ที่ออกแบบให้ดูหรูหรา เกินกว่าเจตนาที่จะใช้ปกปิดความอายป้องกันหนาวร้อน หรือมีเจตนาเพื่ออวดทรวดทรงองค์เอวเนื้อหนังมังสา
เมื่อใดก็ตามที่แต่งตัว แล้วมีการใช้ มาลาคันธะ เรื่อยมาจนถึง วิภูสะนะ ไม่ว่าจะหลายอย่างพร้อมๆ กัน หรือแม้แต่อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อนั้นโปรดทราบว่า นั่นคือการแต่งตัวเพื่อให้สวยงาม คือสตรีกำลังทำตัวให้เป็นดอกไม้ ตามความหมายที่เรากำลังพูดกันอยู่นี้
………….
อันที่จริง ศีลแปดหรือศีลอุโบสถข้อ ๗ นี้ มี ๒ ท่อน คือ ตั้งแต่ “นัจจะคีตะวาทิตะวิสูกะทัสสะนะ” นี่เป็นท่อนหนึ่ง และตั้งแต่ “มาลาคันธะวิเลปะนะธาระณะมัณฑะนะวิภูสะนะ” นี่เป็นอีกท่อนหนึ่ง
และถ้าไปดูศีล ๑๐ ของสามเณรก็จะพบว่า มีศีลข้อนี้ด้วยเช่นกัน แต่ท่านแยกเป็น ๒ ข้อ คือ –
นัจจะคีตะวาทิตะวิสูกะทัสสะนะ เป็นข้อที่ ๗
มาลาคันธะวิเลปะนะธาระณะมัณฑะนะวิภูสะนะ เป็นข้อที่ ๘
อุจจาสะยะนะมะหาสะยะนะ เป็นข้อที่ ๙
และเพิ่ม ชาตะรูปะระชะตะปะฏิคคะหะนะ (เว้นจากการรับเงินทอง) เป็นข้อที่ ๑๐
ดังนั้น ถ้าจะพูดให้ถูกแล้ว ศีลแปดหรือศีลอุโบสถนั้นเมื่อเทียบกับศีล ๑๐ ก็ต้องเป็น ๙ ข้อ ไม่ใช่ ๘ ข้อ
พูดอีกอย่างหนึ่งว่า ศีลอุโบสถนั้นน้อยกว่าศีลของสามเณรเพียงข้อเดียวเท่านั้น
……………………………..
กระบวนการดอมดมชมมาลี
……………………………..
ขอชวนท่านผู้อ่านคิดต่อไป
คือ สรรพสิ่งมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป
สิ่งมีชีวิต เช่นคน พืช สัตว์ ก็ตกอยู่ในคติอันนี้
เมื่อดับไปแล้ว ก็จะต้องมีกระบวนการเพื่อให้มีการเกิดขึ้นใหม่ต่อไปอีก ไม่เช่นนั้นก็จะสูญพันธุ์
กระบวนการเพื่อให้เกิดขึ้นใหม่นี่แหละที่เรียกกันว่า สืบพันธุ์ เป็นกระบวนการที่สำคัญที่สุดในวงจรชีวิตของคน พืช สัตว์
เมื่อยอมรับว่าการสืบพันธุ์เป็นกระบวนการที่สำคัญที่สุดแล้ว ก็จะเห็นได้ชัดเจนขึ้นว่า ดอกไม้เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญที่สุดของพรรณไม้ เพราะเป็นส่วนที่เริ่มต้นของกระบวนการสืบพันธุ์
แล้วก็จะเห็นความเกี่ยวโยงของความหมายที่เรายอมรับกันว่า สตรีเหมือนดอกไม้
ถ้าตั้งการสืบพันธุ์เป็นเป้าหมายของชีวิตในระดับหนึ่งก่อน
แล้วลองเอาศีลแปดมาพิจารณาเทียบดู ก็จะเห็นความสอดคล้องบางประการที่น่าสนใจ
กล่าวคือ –
การฆ่า การลักขโมย การโกหก (ศีลข้อ ๑ ข้อ ๒ ข้อ ๔) ก็คือวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งของกินของใช้ในการดำรงชีวิต
การเสพของมึนเมา (ศีลข้อ ๕) เป็นทั้งกระบวนการสนับสนุนเพื่อให้ทำกิจเหล่านั้นได้แน่นอนเด็ดขาดยิ่งขึ้น และเป็นทั้งการเสพเสวยสุขในระหว่างดำรงชีวิตไปในตัว
การบริโภคหลังตะวันเที่ยง (ศีลข้อ ๖) ผู้รู้ท่านวิเคราะห์กันแล้วสรุปว่า เป็นการบริโภคเพื่อบำรุงกาม เพราะไม่มีความจำเป็นต่อการดำรงอยู่ของชีวิตร่างกายเท่าไรนัก
เท่ากับเป็นการเตรียมร่างกายให้พร้อมเพื่อเข้าสู่กระบวนการสืบพันธุ์นั่นเอง
การฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี ดูการละเล่น (ศีลข้อ ๗ ท่อนแรก) ก็คือการเล้าโลม โน้มน้าว กล่อมจิตใจอารมณ์เพื่อให้เกิดความต้องการที่จะเข้าสู่กระบวนการสืบพันธุ์
จะเรียกว่าเป็นขั้นการอุ่นเครื่องก็ได้
การทัดทรง ประดับ ตกแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ ของหอม เครื่องย้อม เครื่องทา เครื่องผัดผิวต่างๆ (ศีลข้อ ๗ ท่อนหลัง) ก็คือขั้นการจูงใจ ดึงดูด ก่อนนำเข้าสู่กระบวนการสืบพันธุ์
หรือจะเรียกว่าเตรียมความพร้อมก่อนปฏิบัติการ ก็ได้
ศีลข้อ ๗ ท่อนหลังนี่เอง ก็คือที่เรากำลังพูดกันว่า การแต่งตัวก็เพื่อให้สวยงาม
ส่วนศีลข้อ ๓ (กรรมอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์) ที่ยังเหลือข้อเดียวก็ชัดเจนอยู่แล้ว คือเมื่อเตรียมการในกระบวนการสืบพันธุ์ทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมหมดแล้ว ก็เป็นขั้นลงมือปฏิบัติการ
เมื่อเอาศีลแปดหรือศีลอุโบสถมาพิจารณาดังกล่าวมานี้ ก็จะเห็นได้ชัดเจนว่า —
การแต่งตัวเพื่อให้สวยงามนั้น
ก็คือขั้นเตรียมความพร้อม
อันจะนำไปสู่ขั้นปฏิบัติการเพื่อการสืบพันธุ์นั่นเอง
………………………..
ฤดูฤดีแด สัตว์สู่ กันนา
………………………..
นักคิดท่านชี้ให้สังเกตธรรมชาติของสัตว์ด้วย
ท่านว่า สัตว์ทั่วๆ ไปก็จะมีขั้นตอนการเตรียมความพร้อมแบบเดียวกันนี้
เช่น นกหลายชนิดเมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ ตัวผู้ (หรือบางชนิดก็ตัวเมีย) จะเปลี่ยนสีขนให้ดูสดสวย หรือฉูดฉาดบาดตายิ่งนักเพื่อดึงดูดความสนใจของเพศตรงข้าม
สัตว์บางชนิดจะมีกลิ่นตัวพิเศษที่ล่อใจเพศตรงข้ามในช่วงเวลาที่จะผสมพันธุ์
บางชนิดใช้เสียงร้องเป็นสื่อบอกที่อยู่และเป็นสัญญาณให้เพศตรงข้ามรู้ว่าพร้อมที่จะผสมพันธุ์
พฤติกรรมของสัตว์ดังว่านี้ ก็เกิดขึ้นด้วยจุดประสงค์เดียวกันกับที่ดอกไม้มักจะต้องมีสีสดสวยและกลิ่นหอมหวนนั่นเอง
……………
มีความจริงในธรรมชาติของพรรณไม้อีกประการหนึ่งที่เหมือนกันกับธรรมชาติของสตรี ซึ่งผมจะขออนุญาตชวนท่านผู้อ่านพิจารณาต่อไป
นั่นก็คือ พรรณไม้มิได้มีดอกมาตั้งแต่เกิด
หากแต่เมื่อเจริญเติบโตมาถึงระยะหนึ่งจึงจะออกดอก
การออกดอกของต้นไม้ ก็คือการบอกว่า ต้นไม้นั้นพร้อมที่จะเริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการสืบพันธุ์แล้วนั่นเอง
ถ้าแปรเป็นคำพูดก็เหมือนกับจะพูดว่า “ได้เวลาแล้ว” อะไรทำนองนี้
นี่คือความจริงในธรรมชาติของพรรณไม้ที่ยอมรับรู้กันทั่วไป
สตรีก็เช่นกัน
มิใช่ว่าพร้อมที่จะเป็นดอกไม้มาตั้งแต่เกิด
หากแต่ว่าเมื่อเจริญเติบโตมาถึงระยะหนึ่ง จึงจะมีปรากฏการณ์ทางสรีระอันเป็นเครื่องบอกให้รู้ว่า “ได้เวลาแล้ว”
นั่นก็คือ การที่สตรีผู้นั้นมีเลือดประจำเดือน หรือที่มีคำเรียกเฉพาะว่า มีระดู นั่นเอง
และนี่ก็คือความจริงในธรรมชาติของสตรีที่รับรู้กันอยู่แล้วทั่วไป
ไม่ใช่เรื่องที่น่าละอาย หยาบคาย หรือน่ารังเกียจแต่ประการใดทั้งสิ้น
……………
ถึงตรงนี้มีแง่คิดทางภาษาแทรกเข้ามาหน่อยครับ
คือคำว่า “ระดู” ที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายว่า “เลือดประจําเดือนที่ถูกขับถ่ายจากมดลูกออกมาทางช่องคลอด” นั้น คนไทยเก่าๆ เรียกช่วงเวลานั้น “ถึงผ้า”
คำว่า “ถึงผ้า” นี้ พจนานุกรมก็ให้ความหมายตรงกัน คือหมายถึงมีระดู
แต่ผมสังเกตเห็นว่า คนไทยสมัยใหม่จะลืม หรือจะนึกรังเกียจคำว่า “ระดู” หรือคำว่า “ประจำเดือน” หรืออย่างไรก็ไม่ทราบ เวลามีระดูหรือมีประจำเดือน ก็มักจะเรียกกันเป็นคำฝรั่งว่า “มีเม็น” (menses – เมน’ซีซ)
ความจริง “เม็น” กับ “ระดู” หรือ “ประจำเดือน” ก็หมายถึงสิ่งเดียวกันนั่นเอง
แต่อาจเป็นเพราะว่า พอได้ยินคำว่า “เม็น” ความคิดยังไม่แล่นไปถึง “ระดู” หรือ “ประจำเดือน” ทันที เพราะมีคำฝรั่งมาปะทะกันกระเทือนเอาไว้
เหมือนกับว่าจะลดหรือบรรเทาความรู้สึกน่าเกลียดลงไปได้นิดหนึ่งก่อน
เหมือนกับคำฝรั่งที่สะกดว่า fuck ซึ่งออกเสียงว่า ฟัก เป็นคำด่าที่หยาบคายของฝรั่ง มีความหมายตรงกับคำไทย ๒ พยางค์ ที่มีคำว่า “แม่” อยู่พยางค์หนึ่ง
คนไทยที่รู้คำฝรั่ง ถ้าพูดคำว่า ฟัก รู้สึกว่าจะหยาบคายน้อยกว่าคำไทย ๒ พยางค์นั้น
ทั้งๆ ที่ fuck กับ “..แม่” หยาบเท่ากันทุกประการ
หรืออาจจะเป็นเพราะค่านิยมบูชาฝรั่งก็ไม่ทราบ อะไรที่เป็นของฝรั่งแม้เลวก็ดูเป็นดีไปหมด
นี่เป็นแง่คิดทางภาษาที่ขออนุญาตแทรกไว้ตรงนี้
………………..
เมื่อดอกไม้บาน
………………..
ทีนี้คำว่า ระดู นั้นเสียงใกล้เคียงกับคำว่า ฤดู (รึ – ดู)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ให้ความหมายของคำว่า “ฤดู” ไว้ว่า –
…………………..
ส่วนของปีซึ่งแบ่งโดยถือเอาภูมิอากาศเป็นหลัก มักแบ่งออกเป็น ๓ ช่วง คือ ฤดูฝน ฤดูหนาว และฤดูร้อน หรือเป็น ๔ ช่วง คือ ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว ที่แบ่งเป็น ๒ ช่วง คือ ฤดูแล้งกับฤดูฝน ก็มี, เวลาที่กําหนดสําหรับงานต่าง ๆ เช่น ฤดูเก็บเกี่ยว ฤดูทอดกฐิน ฤดูถือบวช, เวลาที่เหมาะ เช่น ฤดูสัตว์ผสมพันธุ์; คราว, สมัย, เช่น ฤดูนํ้าหลาก
…………………..
คำว่า “ฤดู” ภาษาบาลีว่า “อุตุ”
สตรีที่มีระดูนั้นภาษาบาลีใช้คำว่า “อุตุนี” แปลว่า “หญิงผู้มีระดู” จัดเข้าเป็นองค์ประกอบ ๑ ใน ๓ ขององค์ประกอบที่ทำให้เกิดมนุษย์ตามหลักวิชาการทางพระพุทธศาสนา กล่าวคือ –
๑ มาตาปิตะโร สันนิปะติตา = มารดาบิดาอยู่ร่วมกัน
๒ มาตา อุตุนี = มารดามีระดู
๓ คันธัพโพ ปัจจุปัฏฐิโต = มีวิญญาณมาปฏิสนธิ
(มหาตัณหาสังขยสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ พระไตรปิฎกเล่ม ๑๒ ข้อ ๔๕๒, อัสสลายนสูตร มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ พระไตรปิฎกเล่ม ๑๓ ข้อ ๖๒๘)
“อุตุ” เป็นคำเดียวกับ “ฤดู” คำว่า อุตุนี = มีระดู ก็คือ มีฤดู นั่นเอง
และความหมายหนึ่งของคำว่า “ฤดู” ก็คือ “เวลาที่เหมาะ เช่น ฤดูสัตว์ผสมพันธุ์; คราว, สมัย”
อันเป็นความหมายเดียวกับคำว่า “ได้เวลาแล้ว”
คือต้นไม้ออกดอกแล้ว พร้อมที่จะเริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการสืบพันธุ์แล้วนั่นเอง
…………..
คำที่เกี่ยวกับระดู ในภาษาบาลียังมีอีกคำหนึ่ง คือ “ปุปฺผ” ดังปรากฏในคัมภีร์วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๑ พระไตรปิฎกเล่ม ๑ ข้อ ๑๗ มีข้อความว่า –
……………………
ยทา อุตุนี อโหสิ ปุปฺผํ เต อุปฺปนฺนํ โหติ, อถ เม อาโรเจยฺยาสิ.
แปลเป็นไทยว่า –
เมื่อใดเจ้ามีระดู ต่อมโลหิตเกิดมีแก่เจ้า เมื่อนั้นเจ้าพึงบอกแก่แม่
……………………
ในคัมภีร์ท่านแปลคำ “ปุปฺผ” ว่า “ต่อมโลหิต” ซึ่งก็หมายถึงเลือดประจำเดือน
“ปุปฺผ” ก็เป็นคำเดียวกับคำที่เราเอามาใช้ว่า “บุปผา” ที่แปลว่า ดอกไม้
หมายความว่า คำว่า บุปผา ที่เราแปลกันว่า ดอกไม้ นั้นมีความหมายเดียวกันกับเลือดประจำเดือน หรือระดูนั่นแหละ
หรือจะพูดเสียใหม่ก็ได้ ว่า ดอกไม้ก็คือเลือดประจำเดือนหรือระดูของต้นไม้นั่นเอง
เป็นอันได้ความตรงกันโดยไม่ต้องสงสัยเลยว่า เมื่อใดพรรณไม้มีบุปผา (ดอกไม้) เกิดขึ้น แปลว่าพรรณไม้นั้นพร้อมที่จะเริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการสืบพันธุ์แล้ว
เหมือนกับที่เมื่อใดสตรีมีบุปผา (ระดู) ก็แปลว่าสตรีนั้นพร้อมแล้วที่จะเริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการสืบพันธุ์เช่นเดียวกัน
ด้วยประการดังกล่าวมานี้ เหตุผลต้นเดิมที่ดอกไม้ต้องมีสีสวยหรือมีกลิ่นหอม หรือทั้งสวยทั้งหอม ก็เพื่อให้พร้อมที่จะทำหน้าที่ให้เกิดผลและเมล็ดเพื่อสืบพันธุ์
ดังนั้น เมื่อสตรีก็เหมือนดอกไม้ตามสัจธรรมที่ยอมรับโดยทั่วกัน (รวมทั้งตัวสตรีเองก็ยอมรับด้วย) เหตุผลในการที่สตรีแต่งตัวให้สวยงามก็ย่อมจะเป็นเหตุผลเดียวกันกับที่ดอกไม้ต้องมีสีสวยหรือมีกลิ่นหอมนั่นเอง
ดอกไม้มีสีสวยหรือมีกลิ่นหอมเพื่ออะไร?
ก็เพื่อให้พร้อมที่จะทำหน้าที่ให้เกิดผลและเมล็ดเพื่อสืบพันธุ์
สตรีแต่งตัวให้สวยงามเพื่ออะไร?
ใครยังตอบไม่ได้บ้าง?
…………….
ถ้ารู้ความหมายที่แท้จริงของการแต่งตัวให้สวยงามเช่นนี้แล้ว ผมก็ไม่ทราบว่าทุกครั้งที่แต่งตัวให้สวยงามนั้น สตรีทั้งหลายจะคิดอย่างไร?
………………
ภาษาอาภรณ์
………………
นักคิดท่านบอกว่า การแต่งตัวของสตรีก็เป็นภาษาอย่างหนึ่ง
พอจะเรียกว่า “ภาษาอาภรณ์” ได้กระมัง
เราเห็นคนนั้นคนนี้แต่งตัวแบบนั้นแบบนี้แล้วคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร
ก็นั่นแหละครับคือภาษาหรือความหมายที่คนผู้แต่งตัวเช่นนั้นเขาพูดกับเรา
ตัวอย่างเช่น –
ผู้หญิงที่แต่งตัวมิดชิดเรียบร้อย ไม่อวดส่วนเว้าส่วนโค้ง ไม่แต่งหน้าทาปาก
ก็เท่ากับเธอบอกคนที่พบเห็น-โดยเฉพาะผู้ชาย-ด้วยภาษาอาภรณ์ว่า –
“กรุณาควบคุมกิริยาวาจาและสำรวมอารมณ์ให้สงบเรียบร้อยนะคะ”
ผู้หญิงที่นุ่งนิดห่มน้อย หรือนุ่งสั้นจนเหมือนกับไม่ได้นุ่งอะไรเลย
ก็เท่ากับเธอบอกแก่ผู้ชายทุกคนด้วยภาษาอาภรณ์ว่า –
“เชิญมากอดจูบลูบคลำระบายอารมณ์เพศกับฉันซีคะ” นั่นเอง
ถ้าเราไปสังเกตดูตามตลาด ตามห้างสรรพสินค้า ตามถนนหนทาง บนรถโดยสาร ตามสถานที่ต่างๆ ที่ไหนก็ได้ที่มีผู้คนไปมา เราก็จะได้ยิน “ภาษาอาภรณ์” ที่สตรีทั้งหลายพูดออกมาอีกมากมายหลายหลาก
ทั้งที่สุภาพ
และที่หยาบคาย
โดยที่ตัวผู้พูดอาจจะไม่รู้ตัวเลยว่าได้พูดภาษาอาภรณ์อะไรออกมาบ้าง
เพราะคนส่วนมากไม่ได้ทันนึกว่า การแต่งตัวก็เป็นภาษาชนิดหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม สำหรับสตรีทั่วไปที่ยังรักจะแต่งตัวให้สวยงาม โดยใช้อุปกรณ์และวิธีการตามนัยที่แสดงไว้ในศีลอุโบสถข้อ ๗ ละก็ ความหมายที่เป็นกลางๆ ของภาษาอาภรณ์ของสตรีที่แต่งตัวตามที่ว่ามานี้ ก็เท่ากับพูดบอกแก่คนที่พบเห็นว่า –
“ข้าพเจ้ายังปรารถนาที่จะทำหน้าที่ของดอกไม้ คือทําให้เกิดผลและเมล็ดเพื่อสืบพันธุ์” นั่นเอง
คงจะมีสตรีเป็นอันมากที่ปฏิเสธว่า ท่านไม่ได้แต่งตัวด้วยความประสงค์เช่นนั้นเลย ทำไมจึงตีความเตลิดเปิดเปิงไปเช่นนั้นเล่า
โดยเฉพาะสตรีสูงอายุด้วยแล้วท่านคงเถียงได้เต็มปากเต็มคำว่า แก่จนป่านนี้แล้ว ใครคิดว่ายังอยากจะทำหน้าที่ของดอกไม้อะไรนั่นอยู่อีกละก็ คงบ้าเกินปกติไปแล้วละพ่อคุณแม่คุณ!!
แต่ถ้ายังรักที่จะแต่งตัวตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในศีลอุโบสถข้อ ๗ อยู่ตราบใด
ไม่ว่าท่านจะอยู่ในวัยเด็กหรือวัยดึกขนาดไหน
ตราบนั้นท่านก็ย่อมจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ท่านกำลังพูดภาษาอาภรณ์ออกมาว่าอย่างนั้นจริงๆ
ถ้าความประสงค์ของการแต่งตัวก็คือเพื่อให้สวยงามแล้วไซร้
ความประสงค์ของความสวยงามจะคืออะไรกันเล่า
ถ้าไม่ประสงค์จะสื่อความหมายไปในทางนั้น ก็ควรจะทำเพียงขั้น “นุ่งห่ม” เหมือนที่พระภิกษุสามเณรหรือแม่ชีท่านทำกับร่างกายของท่าน ก็พอแล้ว
แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะทำเลยไปถึงขั้น “แต่งตัว” ทั้งนั้น
เมื่อเป็นการแต่งตัว จะปฏิเสธว่าไม่ต้องการให้สวยงามได้อย่างไร
เพราะถ้าไม่ต้องการสวยงาม ก็ไม่จำเป็นต้องแต่ง
ทำเพียงขั้น “นุ่งห่ม” ให้เรียบร้อย
ไม่เลยไปถึงขั้น “แต่งตัว” ให้สวยงาม
ในเมื่อแต่งก็เพื่อให้สวยงามเช่นนี้แล้ว
ก็จะต้องตอบละครับว่า จะเอาความสวยงามไปทำอะไร
โปรดอย่าลืมว่า สตรีเหมือนดอกไม้
ธรรมชาติแต่งดอกไม้ให้สวยงามเพื่ออะไร
สตรีก็แต่งตัวให้สวยงามเพื่อสิ่งเดียวกันนั่นเอง
…………………….
โฉมตรู งามนี้เพื่อให้ดูแต่ตา
…………………….
มีข้อสังเกตอีกเรื่องหนึ่ง คือ เวลาอยู่กับบ้าน สตรีส่วนใหญ่จะไม่ค่อยคำนึงถึงการแต่งตัวให้สวยงาม
เว้นไว้แต่เป็นบ้านที่อาจจะมีใครไปใครมาได้ตลอดเวลา เช่นบ้านที่เปิดเป็นร้านค้าไปในตัวเป็นต้น
แต่ครั้นพอเวลาจะออกไปนอกบ้าน โดยเฉพาะถ้าจะต้องไปปรากฏตัวในสถานที่ซึ่งมีผู้คนมากหน้าหลายตาด้วยแล้ว สตรีปกติทั่วไปจะต้อง “แต่งตัว” ให้สวยงามเสมอ
สำหรับสตรีที่ยังโสด หรือที่เคยไม่โสดแต่ตอนนี้โสด ก็ไม่ควรสงสัยว่าอะไรเป็นเหตุให้ต้องแต่งตัวให้สวยงามเวลาออกไปนอกบ้าน
เพราะห้วงเวลาขณะนั้นเธอยังไม่ต้องทำหน้าที่ของดอกไม้กับใคร
แต่สตรีที่ไม่โสดนี่สิ ผมสงสัยว่า อะไรคือผลที่ต้องการในการที่แต่งตัวให้สวยงามเวลาออกไปนอกบ้าน
ในเมื่อมีคนที่ตนเองจะต้องทำหน้าที่ของดอกไม้กับเขาอยู่ในบ้านเรียบร้อยแล้ว
เวลาอยู่กับบ้านต่างหากที่สตรีควรจะแต่งตัวให้สวยงาม
โดยเฉพาะตอนที่จะเข้านอนด้วยแล้วควรจะต้องสวยเป็นพิเศษ
ถ้าจะให้เห็นประเด็นนี้ชัดขึ้น ต้องเปรียบเทียบใหม่
คือเปรียบเหมือน-ทำอาหารให้คนในบ้านรับประทาน
ขณะนั้นคนรับประทานอยู่ในบ้าน
คนทำ ทำเสร็จก็ยกอาหารนั้นออกไปนอกบ้าน
เข้าบ้านนั้นออกบ้านนี้
ไปไหนๆ ทั่วไปหมด
ถามว่า จะยกอาหารออกไปนอกบ้านทำไม
ในเมื่อคนที่จะรับประทานนั้นรออยู่ในบ้านแล้ว
…………………
พูดมาถึงตอนนี้ ทำให้นึกถึงวัฒนธรรมการแต่งกายคลุมหน้าของสตรีอาหรับ ที่เวลาออกไปนอกบ้านเธอจะต้องคลุมหน้ามิดชิด ดูเหมือนจะรวมไปถึงแขนขามือเท้าด้วย (ไม่แน่ใจว่าเฉพาะสตรีที่แต่งงานแล้วหรือรวมทั้งสตรีที่ยังโสดด้วย)
เคยได้ฟังคำอธิบายถึงเหตุผลที่ต้องแต่งตัวในลักษณะเช่นนั้นว่า เพื่อไม่ให้ผู้ชายนอกบ้านมองเห็นความสวยงามของใบหน้าและเรือนร่าง ซึ่งย่อมจะทำให้เกิดกิเลสราคะได้
เพราะความสวยงามนั้นจะต้องสงวนไว้เฉพาะชายที่เป็นสามีเท่านั้น
ถ้าเหตุผลที่ว่านี้เป็นความจริง ก็ต้องนับว่าการแต่งกายคลุมหน้าเช่นนั้นสอดรับกับสัจธรรมตามธรรมชาติที่ว่า สตรีแต่งตัวให้สวยงามก็เหมือนดอกไม้ที่เกิดขึ้นด้วยเหตุผลเพื่อการสืบพันธุ์
และในเมื่อกิจกรรมเช่นนั้นมีตัวบุคคลผู้จะร่วมกระทำอยู่แน่นอนแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลอันใดที่จะต้องเอาความสวยงามนั้นไปเสนอแก่ตาบุคคลอื่นใดอีก
อุปมาเหมือนสินค้าชิ้นหนึ่งและมีชิ้นเดียว ที่มีผู้ซื้อแล้ว
ไม่มีสิทธิ์ที่จะขายให้ลูกค้าคนไหนอีกแล้ว
จะเอาไปอวดไปโชว์ตามที่ต่างๆ ด้วยเหตุผลอะไรเล่า-ถ้าไม่ได้คิดจะขายอีก?
แต่อย่างไรก็ตาม ความจริงที่จะต้องยอมรับก็คือ ทุกวันนี้สตรีไม่ได้แต่งตัวด้วยเจตนาที่จะไปเป็นดอกไม้ทำหน้าที่สืบพืชพันธุ์ให้ใครเสมอไป
เหตุผลจริงๆ ก็แต่งเพื่อให้สุภาพเรียบร้อย หรือให้ดูดี แล้วก็จบแค่นั้น
ไม่มีใครคิดลึกคิดไกลไปถึงเหตุผลต้นเดิมอะไรนั่นหรอก
เพราะฉะนั้น ผมว่าเราก็ควรจะต้องมองกันด้วยเจตนาดีเป็นที่ตั้ง
ที่ผมนำประเด็นนี้มาเสนอ ก็เป็นเพียงชวนให้คิดให้เกิดปัญญา
มิได้ประสงค์จะให้เกิดปัญหาขัดแย้ง
เพราะฉะนั้น ท่านสุภาพสตรีทั้งหลายจะแต่งตัวด้วยความประสงค์อะไรกันบ้าง ก็เชิญตามสบายครับ
…………………….
ธรรมของคนคู่
…………………….
คราวนี้ก็มาถึงประเด็นสำคัญที่สุดในเรื่องสตรีกับดอกไม้ นั่นคือ – คิดต่อไปถึงศีลกับธรรม
รอยต่อระหว่างสตรีคือดอกไม้กับศีลและธรรมก็อยู่ตรงที่ว่า –
(๑) ในเมื่อสตรีมีหน้าที่เหมือนกับดอกไม้ คือทําให้เกิดผลและเมล็ดเพื่อสืบพันธุ์
(๒) ปัญหาก็มีอยู่ว่า ในการทำหน้าที่เช่นว่านั้น ควรจะมีกรอบขอบเขตเป็นประการไร
ในการตอบปัญหานี้ นักคิดท่านชี้ให้สังเกตธรรมชาติของสัตว์และพืช
ท่านบอกว่า สัตว์และพืชทุกชนิดเมื่อทำกิจในการสืบพันธุ์เสร็จแล้ว คือมีพืชมีพันธุ์ที่จะสืบต่อไปได้แล้วก็หยุดทำหน้าที่
สัตว์บางชนิดพอทำหน้าที่เสร็จ ตัวผู้จะตายทันที
เหลือแต่ตัวเมียที่จะออกไข่หรือออกลูกสืบเผ่าพันธุ์ต่อไป
สัตว์และพืชแทบทุกชนิดทำหน้าที่เป็นฤดูกาล
ดังคำในพจนานุกรมที่อ้างแล้วข้างต้นว่า “ฤดูสัตว์ผสมพันธุ์”
แล้วแต่ว่าช่วงเวลาที่พืชพันธุ์ของมันฟักตัวและเจริญเติบโตนั้นจะนานแค่ไหน หรือแม่พันธุ์จะพักฟื้นเตรียมร่างกายให้พร้อมเพื่อการผสมพันธุ์ครั้งต่อไปได้เร็วแค่ไหน
พืชบางชนิดผสมพันธุ์เพียงครั้งเดียวในชั่วชีวิตของมัน คือมีดอกมีลูกคราวเดียวแล้วก็ตาย ที่เราเรียกกันว่า พืชล้มลุก
ส่วนชนิดที่เรียกว่า พืชยืนต้น หลายชนิดผสมพันธุ์-คือที่เราพูดกันว่ามีดอกออกผล-ปีละครั้ง
บางชนิดก็เป็นรุ่นๆ คราวๆ
มิได้ออกทุกเดือนหรือทุกวัน
สรุปว่า สัตว์และพืชนั้นทำกิจหรือทำหน้าที่ในการผสมพันธุ์ก็เพื่อให้เกิดพืชพันธุ์เท่านั้น
ตรงนี้แหละครับที่นักคิดท่านวกกลับมาคิดถึงมนุษย์
คือท่านบอกว่า – ว่ากันตามกฎธรรมชาติแล้ว มนุษย์ก็ควรที่จะทำกิจหรือทำหน้าที่ในการผสมพันธุ์เพียงเพื่อให้เกิดพืชพันธุ์เท่านั้น
โดยใช้หลักการเดียวกับธรรมชาติของสัตว์และพืช
ท่านว่าการทำกิจกรรมสืบพันธุ์ด้วยวัตถุประสงค์เช่นว่านี้เท่านั้นจึงจะเป็นการถูกต้องตามธรรมะ ในความหมายที่ว่า ธรรมะคือกฎธรรมชาติ
นักคิดท่านหนึ่งที่เสนอทฤษฎีดังว่านี้ และเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในเมืองไทยก็คือ ท่านพุทธทาสภิกขุ
ท่านบอกว่า มนุษย์ที่เจริญด้วยธรรมะแล้ว ควรจะร่วมประเวณีกันด้วยวัตถุประสงค์เดียวเท่านั้น คือเพื่อให้มีลูกสืบตระกูลเผ่าพันธุ์
การร่วมประเวณีโดยมีวัตถุประสงค์อื่น ที่มิใช่เพื่อจะให้มีลูก เช่นเพื่อสนองตัณหาราคะ หรือเพื่อความเอร็ดอร่อยทางเนื้อหนังสัมผัสนั้น ท่านว่าเป็นพฤติกรรมที่ผิดธรรมะ
ผมเคยคุยกับผู้รู้เรื่องศาสนาคริสต์ ท่านบอกว่า นักสอนศาสนาคริสต์รุ่นเก่าๆ หรือในยุคแรกๆ ก็สอนทำนองเดียวกันนี้
คือบอกว่า การร่วมประเวณีโดยมิได้ต้องการจะมีลูกนั้นเป็นบาป และสอนหนักไปถึงขั้นที่ว่า แม้การร่วมประเวณีด้วยท่าทางที่พลิกแพลงหรือใช้อุปกรณ์เสริมบางอย่างเพื่อให้เกิดอารมณ์ที่ร้อนแรงยิ่งขึ้นก็ยิ่งเป็นบาปหนัก
ฟังแล้วเหมือนกับจะเป็นแนวคิดทฤษฎีที่ฝืนธรรมชาติ ใช่ไหมครับ
แต่ท่านยืนยันว่า นี่แหละเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องตามกฎธรรมชาติอย่างที่สุด
…………………….
กาเมสุ มิจฉาจาร
…………………….
พูดมาถึงตรงนี้ ก็นึกได้ถึงการผิดศีลข้อสาม ที่เรามักจะเรียกติดปากว่าข้อกาเม
คำเต็มๆ คือ “กาเมสุ มิจฉาจาร”
มีคำแปลว่า –
มิจฉาจาร = การประพฤติผิด
กาเมสุ = ในกามทั้งหลาย
หรือที่พูดกันติดปากว่า ผิดลูกเขาเมียใคร
สมัยเรียนนักธรรม ครูท่านอธิบายว่า โทษของการผิดศีลข้อนี้ ก็คือทำให้วงศ์ตระกูลของเขาสับสน
ตอนที่เรียนนั้นก็ยังไม่ค่อยเข้าใจว่า ทำให้วงศ์ตระกูลสับสนนั้นคือทำอย่างไร สับสนอย่างไร
แต่เมื่อคิดไปตรองไปแบบที่คนวัดเรียกกันว่า “ขบธรรมะ” ก็ได้คำตอบ
คำตอบก็คือ หลักเดิมนั้นหญิงชายจะครองคู่กันพ่อแม่จะเป็นผู้เลือกคู่ครองให้
ก็คือเลือกว่าพอใจที่จะร่วมตระกูลกับชายใดหรือหญิงใด
แต่ส่วนมากก็จะยึดตระกูลฝ่ายชายเป็นหลัก ดังที่คนทั้งหลายยังมีค่านิยมกันว่าลูกชายเป็นผู้สืบตระกูล
และการที่หญิงแต่งงานแล้วใช้นามสกุลของสามี (เป็นประเพณีแทบจะทุกชาติทุกภาษาก็ว่าได้) ก็ด้วยเหตุผลที่ยึดเอาตระกูลฝ่ายชายเป็นหลักนี่เอง
ธรรมชาติกำหนดแล้วว่า สตรีเป็นฝ่ายตั้งครรภ์
สตรีนั้นอยู่ครองคู่กับชายใด ก็เป็นการยืนยันว่าลูกในครรภ์ที่จะสืบตระกูลต่อไปต้องเกิดจากชายนั้น สมกับความตั้งใจที่เลือก
ทีนี้ การผิดศีลข้อกาเมที่เข้าใจกันดีทั่วไปก็คือ การที่ชายไปร่วมประเวณีกับหญิงที่เป็นภรรยาของชายอื่น
และการร่วมประเวณีนั้นย่อมต้องมีผลทำให้เกิดลูกตามหลักการของธรรมชาติที่ว่ามาข้างต้น
และลูกนั้นก็จะเป็นผู้สืบตระกูลเผ่าพันธุ์ต่อไป
ถึงตรงนี้แหละที่เห็นได้ชัดว่า การผิดศีลข้อกาเมนั้นทำให้วงศ์ตระกูลสับสนได้อย่างไร
และทำให้เข้าใจได้ด้วยว่า ตามธรรมะคือธรรมชาติดั้งเดิมนั้น มนุษย์ร่วมประเวณีกันด้วยวัตถุประสงค์เดียวเท่านั้น คือเพื่อที่จะให้เกิดลูกสืบตระกูลเผ่าพันธุ์ต่อไปนั่นเอง
ลองคิดทวนกลับก็จะยิ่งเห็นเหตุผลชัดเจนยิ่งขึ้น คือ:
– เพราะการร่วมประเวณีก็เพื่อประสงค์ให้เกิดลูกสืบตระกูล
– การที่ชายไปร่วมประเวณีกับหญิงที่เป็นภรรยาของชายอื่น
– เมื่อมีลูกออกมาก็ไม่ใช่ลูกที่เกิดจากตระกูลที่ตั้งใจเลือก
จึงเป็นการทำให้วงศ์ตระกูลสับสน
และจึงผิดศีล
กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ผลของการผิดศีลข้อกาเมนั้นตัดสินกันที่ทำให้วงศ์ตระกูลสับสน
และวงศ์ตระกูลจะสับสนก็ตัดสินกันตรงที่มีลูกเกิดมานั่นเอง
นี่ยืนยันว่า ตามธรรมชาติดั้งเดิมนั้น มนุษย์ร่วมประเวณีกันก็เพื่อประสงค์ให้เกิดลูกสืบตระกูลเท่านั้น
ถ้ามนุษย์ร่วมประเวณีกันด้วยความประสงค์อื่นที่มิใช่เพื่อให้เกิดลูกแล้วไซร้ การผิดศีลข้อกาเมที่อ้างว่าเป็นโทษเป็นผิดตรงที่ทำให้วงศ์ตระกูลสับสน ก็จะไม่สมเหตุสมผลทันที
คนที่ละเมิดศีลข้อนี้ก็จะอ้างได้ว่า เขาร่วมประเวณีเพื่อความสนุก หรือความเอร็ดอร่อยทางเนื้อหนังต่างหาก มิได้มีความประสงค์ที่จะให้เกิดลูกใดๆ ทั้งสิ้น
เขาจึงไม่ได้ทำให้วงศ์ตระกูลของใครสับสน
เพราะฉะนั้น เขาก็จึงไม่ผิดศีลข้อกาเม
ด้วยเหตุผลดังว่านี้ การอ้างโทษของศีลข้อกาเมว่าทำให้วงศ์ตระกูลสับสน จึงเท่ากับเป็นการยืนยันว่า มนุษย์ควรร่วมประเวณีกันด้วยความประสงค์เพื่อให้เกิดลูกสืบตระกูลเท่านั้น จึงจะถูกต้องตามหลักธรรมะ
คนส่วนใหญ่คงจะคิดว่า นี่เป็นแนวคิดทฤษฎีที่ฝืนธรรมชาติ
ไม่มีมนุษย์ที่ไหนจะปฏิบัติตามแนวคิดนี้ได้
และเป็นคำสอนที่บั่นทอนความสุขของมนุษย์
หรือเป็นการก้าวก่ายล้วงล้ำสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของมนุษย์นั่นเลยทีเดียว
โดยเฉพาะ —
สตรีตั้งแต่วัยที่หมดประจำเดือนแล้ว
สตรีที่ไม่สามารถจะมีบุตรได้ด้วยสาเหตุทางสุขภาพ เช่นผ่าตัดมดลูก
และสตรีหรือบุรุษที่เป็นหมัน
ถ้าปฏิบัติตามแนวคิดทฤษฎีแบบนั้น ท่านเหล่านี้ก็เป็นว่าหมดโอกาสที่จะมีความสุขตามวิสัยปุถุชนไปเลย
จึงยากนักหนาที่จะใครยอมปฏิบัติตามแนวคิดทฤษฎีแบบนั้นได้-ใช่หรือไม่?
…………………….
อาบน้ำ ประแป้ง
…………………….
ทีนี้ลองถามกันดูเล่นๆ ก็ได้ว่า –
ถ้ามะม่วงมิได้ออกดอกมาเพื่อจะทำหน้าที่ให้เกิดผลมะม่วงสืบพืชพันธุ์ของมันแล้วไซร้
มันจะมีดอกออกมาเพื่อประโยชน์อันใด
และถ้าผึ้งตัวผู้มิได้ผสมพันธุ์กับนางพญาผึ้งเพื่อให้ผึ้งนางพญาไปวางไข่ออกมาเป็นตัวอ่อนผึ้งสืบเผ่าพันธุ์ของมันต่อไปแล้วไซร้
มันจะผสมพันธุ์ให้เหนื่อยจนตัวตายเพื่อประโยชน์อันใดกัน
แล้วก็ลองย้อนถามตัวมนุษย์ว่า ถ้ามนุษย์มิได้ร่วมประเวณีเพื่อจะให้มีลูกสืบตระกูลเผ่าพันธุ์ของมนุษย์แล้วไซร้
มนุษย์จะประกอบกิจกรรมที่ว่านั่นให้เหน็ดเหนื่อยไปเพื่อประโยชน์อันใดกันเล่า
มนุษย์จะตอบว่าอย่างไร จึงจะไม่อายพืชอายสัตว์ และจึงจะสมกับที่มนุษย์ยกย่องตัวเองว่าเป็นสัตว์ที่มีวัฒนธรรมอารยธรรมสูงส่งกว่าสัตว์ทุกชนิด?
………………
ทฤษฎีที่อาจจะพูดให้น่าฟังขึ้นอีกหน่อยว่า –
“ร่วมรักเพื่อลูก
ถ้าไม่ต้องการลูก ก็ไม่ต้องร่วมรัก” นั้น
ถ้าว่ากันตามความจริงแล้วก็มิใช่ผิดธรรมชาติเลย
มีคนทำได้จริง เช่นพระอรหันต์ทั้งหลายในอดีตกาลเป็นต้น
พระอรหันต์หลายองค์บรรลุธรรมตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ ซึ่งแปลว่าท่านไม่ต้องกระทำกิจตามโลกียวิสัยนั่นเลย
ท่านเหล่านี้เป็นมนุษย์ที่มีตัวตนจริง ไม่ใช่แค่เรื่องเล่าในตำนาน
และแม้แต่ปุถุชนคนธรรมดาในทุกวันนี้ที่ปฏิบัติตามรอยพระอรหันต์เช่นนั้นได้ก็มีอยู่มากมาย
จะว่าผิดธรรมชาติได้อย่างไร
น่าคิดนะครับท่าน
หลักคิดในเรื่องนี้อยู่ตรงไหน
ก็อยู่ตรงที่ว่า ต้องแยกให้ออกบอกให้ถูกว่า —
อะไรคือสิ่งที่ท่านสอนว่าอย่าทำ
และอะไรคือสิ่งที่ท่านแนะนำว่าควรประพฤติ
หรือพูดภาษาคนข้างวัดก็คือ –
ควรจะรู้ว่าอะไรคือศีล
และอะไรคือธรรม – นั่นเอง
อะไรที่ทำแล้วเดือดร้อน
และโดยปกติของมนุษย์ก็ไม่จำเป็นต้องทำ
ทั้งเราเองก็ตั้งใจว่าจะไม่ทำ
นี่คือ ศีล
อะไรที่ทำแล้วดี
และคนดีเขาทำกัน
นั่นคือ ธรรม
ถ้าเราเห็นว่า เราเองก็พอทำได้ เราก็ทำ
ถ้าเราเห็นว่าดี แต่ยังทำไม่ได้ ก็ยังไม่ต้องทำ
ไม่มีใครว่าอะไร
จะลองคิดทีเล่นแต่เป็นความจริงก็ได้ ว่า –
ศีลเหมือนอาบน้ำ
ธรรมเหมือนประแป้ง
อาบน้ำ ก็เพื่อชำระเหงื่อไคลคราบสกปรก เหมือนศีล
ศีลคือเจตนางดเว้นความสกปรกความชั่วความไม่ดีในชีวิตประจำวัน
ชีวิตประจำวัน ควรจะหมายถึงทุกๆ วัน
ไม่ใช่บางวัน
อย่างน้อยๆ ก็งดเว้น ๕ ประการ ตามมาตรฐานสากลของมวลมนุษย์
และในรอบเจ็ดวันก็เพิ่มขึ้นเป็น ๘ ประการ อย่างน้อยอีกหนึ่งวันตามมาตรฐานสากลของชาวพุทธ
เปรียบเหมือนเจ็ดวันอาบน้ำใหญ่ ขัดสีฉวีวรรณเป็นพิเศษเสียทีหนึ่ง
ศีลนั้นถ้าไม่มีแล้วเสีย
เหมือนคนไม่อาบน้ำย่อมสกปรก
เข้าใกล้ใครเขาก็เหม็นสาบ
ตัวเองก็รู้สึกหมักหมม
ไม่สบายตัว
แต่เมื่ออาบน้ำแล้ว จะประแป้งเพื่อให้หอมเย็นสดชื่นขึ้นอีกหรือไม่ นั่นแล้วแต่เรา
พอใจจะประ ก็ประ
ไม่ชอบหรือไม่สะดวกที่จะประ ก็ไม่ต้องประ
เหมือนธรรมะ คือการบำเพ็ญคุณธรรมความดีเพิ่มขึ้น หลังจากที่งดความชั่วแล้ว
ใครพอใจ
ใครมีกุศลจิตที่จะทำ
ก็ทำไป
ใครไม่สะดวก
หรือคิดว่าตัวเองยังไม่พร้อมที่จะทำ
ก็ยังไม่ต้องทำ
ไม่มีใครจะมาว่าอะไรเราได้
หลักแห่งการรักษาศีลปฏิบัติธรรมควรเป็นดั่งนี้
…………………….
บัวเหล่าไหน
…………………….
ย้อนกลับมาที่เรื่องสตรีกับดอกไม้ และศีลกับธรรม
เมื่อเอาหลักศีลกับธรรมเข้าไปจับ จะเห็นได้ว่า การปฏิบัติกิจเพื่อสืบพืชพันธุ์ตามโลกียวิสัยนั้น จะผิดศีลก็ต่อเมื่อไปปฏิบัติกับบุคคลที่ต้องห้าม หรือปฏิบัติในวันเวลาที่ตั้งใจงดเว้นเท่านั้น
ศีลไม่ได้ตามไปห้าม หรือล้วงลึกไปถึงความรู้สึกนึกคิดหรือวัตถุประสงค์ในการกระทำ
ตัวอย่างเช่น การไม่ดื่มสุรา
ทันทีที่ตั้งใจงดเว้นไม่ดื่ม ก็เป็นศีลเรียบร้อยแล้ว
แม้ไม่ได้ตั้งใจงด แต่ตลอดเวลาที่ไม่ดื่ม ก็เป็นศีลเช่นกัน
ศีลไม่ได้ตามไปตรวจสอบว่า ไม่ดื่มเพราะอะไร
ถ้าไม่ดื่มเพราะรับศีลกับพระไว้ จึงจะถือว่าเป็นศีล
แต่ถ้าไม่ดื่มเพราะหมอห้าม
ไม่ดื่มเพราะเกรงใจคู่ครอง
ไม่ดื่มเพราะไม่มีสุราจะดื่ม
หรือไม่ดื่มเพราะไม่อยากจะดื่มขึ้นมาเฉยๆ
อย่างนี้ไม่นับว่าเป็นศีล
ไม่ใช่เช่นที่ว่านี้เลยครับ
ดังนั้น การกระทำเช่นนั้น – คือการร่วมประเวณีโดยมีวัตถุประสงค์อื่น มิใช่เพื่อที่จะให้มีลูก เช่นเพื่อสนองตัณหาราคะ หรือเพื่อความเอร็ดอร่อยทางเนื้อหนังสัมผัส
แม้นักคิดท่านจะบอกว่าเป็นการผิดธรรมะ
แต่เมื่อมันไม่ผิดศีล ก็จะเป็นไรไปเล่า-ถ้าเรายังอยากจะทำ
เหมือนอาบน้ำแล้วไม่ประแป้ง
ก็ไม่ผิดอะไรนี่ครับ
แต่ทั้งนี้เราก็ควรจะรับรู้รับทราบและตระหนักด้วยนะครับว่า การอาบน้ำแล้วไม่ประแป้งนั้น ถึงจะไม่ได้ผิดตรงไหนก็จริง
แต่ถ้าอาบน้ำแล้วประแป้งด้วยก็จะดียิ่งขึ้น
ถ้าเราอยากจะ “ดียิ่งขึ้น” เราก็ควรประแป้งด้วย
เมื่อเรายังเป็นปุถุชน ยังทำตนให้เหมือนพระอริยะไม่ได้
เราก็ตั้งใจทำดีตามวิสัยปุถุชนไปก่อน
แต่ท่านก็แนะไว้ว่า เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธศาสนาทั้งที ตั้งเป้าหมายที่จะทำความดีให้สูงเข้าไว้ก็ไม่เห็นจะเสียหายอะไร
วันนี้ชาตินี้ยังไปไม่ถึง
แต่ถ้าได้ลงมือนับหนึ่งไว้แล้ว
ชาติหน้าและชาติต่อๆ ไปก็ต้องถึงเข้าสักวัน
สังสารวัฏยังยาวไกล
โอกาสที่จะพัฒนาจิตใจให้สูงสุดได้ก็ยังมีอีกยาวนาน
พระพุทธเจ้าผู้ตั้งพระพุทธศาสนานั้นท่านเป็นมนุษย์เหมือนเรานี่เอง
ถ้าจะพูดเลียนแบบวาทะคนดังสักหน่อยก็ต้องพูดว่า –
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของมนุษย์
โดยมนุษย์
และเพื่อมนุษย์
เพราะฉะนั้น จึงไว้วางใจได้ว่า คำสอนของท่าน มนุษย์ย่อมสามารถปฏิบัติตามได้อย่างแน่นอน
ข้อสำคัญอย่าเข้าใจไปว่า อะไรที่เรายังไม่ได้ทำ เพราะยังไม่อยากทำ หรือยังทำไม่ได้นั้น คนอื่นๆ ก็คงจะไม่อยากทำ หรือก็คงจะทำไม่ได้เหมือนเรานี่แหละ
คนที่อยากทำ มี
คนที่ทำได้ ก็มี
…………….
พระพุทธเจ้าท่านเป็นมนุษย์ต้นแบบ
คือเดิมท่านก็เป็นมนุษย์ธรรมดา
มีกิเลส โลภโกรธหลงเหมือนกับเรา เท่ากับเราทุกอย่าง
แล้วท่านก็พัฒนาตัวท่านซึ่งเป็นมนุษย์ธรรมดานั้นไปสู่ความสิ้นกิเลส เป็นพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรมได้
เป็นการพิสูจน์ว่า มนุษย์สามารถพัฒนาให้สูงสุดได้จริงๆ
แล้วท่านก็แสดงวิธีทำให้ดู
แล้วก็มีมนุษย์ธรรมดาอย่างเรานี่แหละทำตาม
แล้วก็สิ้นกิเลส
เป็นพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรมได้จริงอีกเป็นจำนวนมาก
ที่ว่ามานี้คืออะไร
ที่ว่ามานี้ก็คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
หรือพระรัตนตรัยนั่นเอง
ผู้รู้ท่านบอกว่า การถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งนั้นอย่าเพียงแต่เปล่งวาจาว่า –
พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง
ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเจ้าเป็นที่พึ่ง
สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง
แต่ให้คิดนึกตรึกตรองดังที่ว่ามานี้ด้วย
คิดอย่างนี้ก็จะเกิดพลังจิต มีกำลังใจที่จะปฏิบัติตาม
จนกระทั่งบรรลุความดีอันสูงสุดที่มนุษย์สามารถบรรลุได้
โดยมีพระรัตนตรัยเป็นที่ยึดเหนี่ยวนำทาง
เหมือนบัวที่เกิดจากโคลนตม
แล้วค่อยๆ เจริญเติบโต
ผุดโผล่ขึ้นพ้นน้ำ รอรับแสงอรุณ
เพื่อจะเป็นบัวบานในวันต่อไป
ข้อสำคัญ อย่าหยุดพัฒนา ปล่อยตัวให้เป็นภักษาหารเต่าปลาไปเสียก่อน-เท่านั้นแหละ
…………….
เรื่องราวเค้าความตามที่ได้บรรยายมาก็น่าจะจบลงตรงนี้
…………………….
มนุษย์รกชัฏ สัตว์ตื้น
…………………….
ก่อนจะจบเรื่องราวเค้าความ “สตรีกับดอกไม้ และคิดต่อไปถึงศีลกับธรรม” ตามที่ได้บรรยายมา ก็เป็นธรรมเนียมที่จะฝากข้อคิดปิดท้าย
พูดเทียบสำนวนชาวเรือ เมื่อมี “นำร่อง” ก็ต้องมี “เทียบท่า”
ข้อคิดปิดท้ายก็คือ คน-พืช-สัตว์ ล้วนมีพื้นฐานเดียวกัน นั่นคืออยู่ในฐานะสิ่งมีชีวิตในโลกนี้
ถ้าตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรจึงจะอยู่รอด
ก็ให้ดูคำตอบที่พืช ที่สัตว์
พืชและสัตว์ทำอย่างไรจึงอยู่รอด คนก็ทำอย่างนั้น
เป็นธรรมชาติธรรมดา เป็นปกติ หรือเป็นพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต
แต่ท่านย่อมว่าคนมีความซับซ้อนกว่าสัตว์
ดังพระบาลีว่า –
…………………….
คหณเญฺหตํ เปสฺส ยทิทํ มนุสฺสา
อุตฺตานกเญฺหตํ เปสฺส ยทิทํ ปสโว.
ดูก่อนเปสสะ สิ่งที่รกชัฏคือมนุษย์ สิ่งที่ตื้นคือสัตว์
ที่มา: กันทรสูตร มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
พระไตรปิฎกเล่ม ๑๓ ข้อ ๔
…………………….
เพราะฉะนั้น คนจึงต้องมีคำถามอีกข้อหนึ่งว่า จะอยู่รอดไปทำอะไร
ถ้าคนไม่ตั้งคำถามนี้ หรือไม่ตอบคำถามนี้
คนก็จะไม่มีอะไรดีไปกว่าพืชกว่าสัตว์
แต่เพราะมีความรกชัฏอยู่ในสันดาน คนจึงอาจทำอะไรที่แย่ไปกว่าสัตว์ได้ด้วย
ตรงนี้แหละที่อันตราย
การตอบคำถามว่า-จะอยู่รอดไปทำอะไร จะดูคำตอบที่พืชที่สัตว์ไม่ได้ เพราะพืชและสัตว์มันไม่ต้องตอบคำถามนี้
เพราะฉะนั้นก็ต้องดูที่คนด้วยกัน
แหล่งที่จะให้คำตอบนี้ได้ก็คือศาสนา
เพราะศาสนาเกิดมีขึ้นก็เพื่อจะตอบคำถามว่า-คนควรจะอยู่ไปเพื่ออะไร
ใครพอใจจะหาคำตอบที่ศาสนาไหน หรือหวังว่าจะได้คำตอบจากศาสนาไหน ก็มีสิทธิ์ที่จะเลือกเอา
ตรงกับที่นิยมพูดกันเหมือนกับเป็นทฤษฎีหรือลัทธิอะไรอย่างหนึ่งว่า-การนับถือศาสนาเป็นเสรีภาพส่วนบุคคล
แต่เพราะโลกนี้มีคน-มิใช่เพิ่งมีเมื่อร้อยปีกว่าๆ เท่าคนอายุมากที่สุดในโลกที่ยังมีชีวิตอยู่ในวันนี้-หากแต่มีมาเป็นพันปีหรือหลายพันปีมาแล้ว ดังนั้น คำถามที่ว่า-คนควรจะอยู่ไปเพื่ออะไร ก็จึงมีคำตอบมาแล้วดังที่อาจจะเรียกว่า “ค่านิยม” ต่างๆ นั่นเอง
ใครเห็นว่าอะไรมีค่าสำหรับตน ก็อยู่ไปเพื่อสิ่งนั้น
ปัญหาก็จะซับซ้อนเข้าไปอีกชั้นหนึ่งว่า-ก็แล้วอะไรเล่าควรจะเป็นสิ่งที่มีค่าสำหรับคน?
คำตอบก็ควรมาจากพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตในโลก ๒ กลุ่มใหญ่ คือคนและสัตว์
อะไรที่สัตว์มันมีได้ทำได้
ถ้าคนมีได้ทำได้แค่นั้น
คนก็ไม่ดีไปกว่าสัตว์
สิ่งที่มีค่าสำหรับคนจึงต้องเป็นมากกว่าที่สัตว์จะมีได้ทำได้
อะไรที่คนทำได้มีได้
แต่สัตว์ทำไม่ได้มีไม่ได้
นั่นแหละคือสิ่งที่มีค่าสำหรับคน
คนควรมีชีวิตอยู่รอดไปเพื่อสิ่งนั้น
“สิ่งนั้น” ที่ว่านี้ท่านสมมุติเรียกกันว่า “ธรรมะ”
และธรรมะที่ว่านี้ก็มีประณีตขึ้นไปเป็นชั้นๆ
ตั้งแต่ชั้นธรรมดา คือธรรมะที่ทำให้คนสูงกว่าสัตว์
จนกระทั่งธรรมะที่ทำให้คนสูงกว่าคนด้วยกัน
สิ่งที่มีค่า หรือ “ค่านิยม” หรือ “ธรรมะ” ดังกล่าวนี้มีผู้ประกาศบอกกล่าวสั่งสอนวางลงเป็นแบบแผนมาแล้วเพื่อให้คนดำเนินตาม ที่เราเรียกกันว่า “ศาสนา” ดังกล่าวข้างต้น
ธรรมะที่ว่านี้มี ๒ ระดับ คือ –
ระดับที่ทำให้คนอยู่กับโลกนี้ต่อไปด้วยดี
และระดับที่ทำให้คนหลุดพ้นเป็นอิสระจากโลก
………………
แนวคิดอย่างหนึ่งที่กำลังเบ่งบานอยู่ในโลกสมัยนี้-โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ ก็คือ คนเราไม่จำเป็นต้องทำตามค่านิยมเก่าๆ
แน่นอน ธรรมะ ๒ ระดับดังกล่าวนั้นก็ถูกรวมอยู่ในคำว่า “ค่านิยมเก่าๆ” ด้วย
ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายที่สุดในชีวิตประจำวันก็อย่างเช่น หลักภาษา –
คำนี้ต้องสะกดอย่างนี้
คำนี้ต้องอ่านอย่างนี้
แต่คนรุ่นใหม่จะสะกดไปอีกอย่างหนึ่ง
อ่านไปอีกอย่างหนึ่ง
ด้วยเหตุผล-คนเราไม่จำเป็นต้องทำตามค่านิยมเก่าๆ
ภาษาประเภทนี้ปัจจุบันมีเกลื่อนไปหมด จนไม่จำเป็นต้องยกตัวอย่าง
แนวคิดที่กำลังขยายตัวออกไปก็มีอีก –
พ่อแม่ไม่มีบุญคุณ
ครูไม่มีบุญคุณ
ชาติไม่มีบุญคุณ
ศาสนาไม่มีบุญคุณ
พระมหากษัตริย์ไม่มีบุญคุณ
ธรรมชาติ-สิ่งแวดล้อมไม่มีบุญคุณ
ฯลฯ
แนวคิดเหล่านี้ล้วนเกิดมาจากลัทธิ-คนเราไม่จำเป็นต้องทำตามค่านิยมเก่าๆ
เสรีภาพจึงเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่กำลังเชิดชูบูชาอย่างชนิดไร้ขีดจำกัด กล่าวคือ คนต้องมีเสรีภาพที่จะทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ และไม่จำเป็นต้องทำอะไรที่ไม่อยากทำ
ตัวอย่างล่าสุด-นักเรียนต้องแต่ง private ไม่ต้องแต่งชุดนักเรียน
มีตัวอย่างเล็กๆ แต่ถ้าคิดไป จะยิ่งใหญ่มหึมา
นั่นคือ แนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่เรียกร้องให้ทำแท้งได้อย่างเสรี
ทุกวันนี้บ้านเมืองเรามีกฎหมายควบคุมการทำแท้ง
การทำแท้งด้วยเหตุผลบางอย่าง เช่นเหตุผลทางด้านสุขภาพ กฎหมายเปิดช่องให้ทำได้
แต่คนรุ่นใหม่เรียกร้องให้ทำแท้งได้อย่างเสรี
การทำแท้งมีเหตุผลหลัก ๒ อย่าง คือ –
๑ เหตุผลทางวัฒนธรรม: กรณีสตรียังไม่ได้แต่งงานตั้งครรภ์ “ท้องไม่มีพ่อ” เป็นเรื่องน่าอับอาย
๒ เหตุผลทางเศรษฐกิจ: กรณีที่ไม่สามารถเลี้ยงดูลูกที่จะเกิดมาได้ “ไม่พร้อมที่จะมีลูก”
เหตุผลทางวัฒนธรรมนั้นมีแนวโน้มจะแผ่วลงไปเรื่อยๆ ด้วยเหตุผลที่เนื่องมาจากแนวคิด- “คนเราไม่จำเป็นต้องทำตามค่านิยมเก่าๆ”
นั่นก็คือ จากที่เคยถือว่าท้องไม่มีพ่อน่าอับอาย ต่อไปคนจะเลิกถือ (ทำนองเดียวกับสมัยก่อนแต่งแล้วหย่าถือว่าผิดปกติ สมัยนี้แต่งแล้วหย่าถือว่าปกติ แต่งแล้วไม่หย่าสิผิดปกติ!)
เมื่อเลิกถือกันมากเข้า ท้องไม่มีพ่อก็จะเป็นเรื่องปกติ
เมื่อเป็นเรื่องปกติ ก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องทำแท้งเพราะอับอาย
ถึงตอนนั้นการทำแท้งก็จะมีเหตุผลเดียว คือ-อยากสนุกกันอย่างเดียว แต่ไม่อยากมีลูก
จะเห็นได้ว่า แนวคิดทำแท้งเสรีก็คือแนวคิดที่จะได้ “สนุกกัน” อย่างเสรีนั่นเอง
แต่ถ้าคิดต่อไปอีกจะเห็นอะไรที่ลึกกว่านั้น
นั่นก็คือ ธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตในโลกนี้ พืชและสัตว์มันจะไม่ฆ่าลูกของมันเอง เพราะลูกคือสิ่งที่ต้องการในการสืบพันธุ์
พืชและสัตว์บางชนิด “ลูกฆ่าแม่” คือพอมีลูก แม่ก็ตาย
อันที่จริงจะเรียกว่าลูกฆ่าแม่ก็ไม่ถูกนัก เมื่อแม่ทำหน้าที่ของแม่เสร็จแล้ว ก็หมดหน้าที่ เมื่อไม่มีหน้าที่อะไรอีกก็ไม่จำเป็นจะต้องอยู่ต่อไป เป็นกฎธรรมดาอยู่แล้ว
ตรงนี้ พืชและสัตว์สอนคนให้ตระหนักว่า เมื่อจะอยู่เป็นคนต่อไป ต้องมีหน้าที่ และต้องทำหน้าที่
เมื่อพืชและสัตว์มันไม่ฆ่าลูกของมันเอง
การทำแท้งเสรีบอกอะไรเรา?
บอกว่าคนกับสัตว์พอๆ กัน
บอกว่าคนประเสริฐกว่าสัตว์
หรือบอกว่าสัตว์ประเสริฐกว่าคน-ตรงที่คนฆ่าลูกได้อยางเสรี แต่สัตว์มันไม่ฆ่าลูกของมัน
ตรงนี้แหละครับที่ผมบอกว่า-การทำแท้งเสรี ถ้าคิดไปจะยิ่งใหญ่มหึมา
เพราะเป็นการประกาศว่า นี่เป็นการกระทำที่แสดงว่าคนเรานี่เลวกว่าสัตว์เสียอีก
และตัวอย่างเล็กๆ นี้สามารถใช้เป็นแนวเทียบในกรณีอื่นๆ ได้ด้วย
ในโลกปัจจุบันที่ผู้คนเชิดชูบูชาเสรีภาพ พากันปลดแอกค่านิยมเก่าๆ โลดแล่นไปข้างหน้า แล้วภาคภูมิใจว่าเรามีอิสระ มีเสรี มีความเจริญรุ่งโรจน์โชตนาการยิ่งนักนั้น
เคยเฉลียวใจกันบ้างหรือไม่ว่า เรากำลังโลดแล่นไปข้างหน้า หรือว่าที่จริงแล้วเรากำลังถอยหลังกลับไปอยู่ในระดับเดียวกับพืชกับสัตว์ หรือบางทีอาจต่ำทรามยิ่งไปกว่า-ด้วยซ้ำไป
………….
ผมนำร่องมาส่งท่านเทียบท่าแล้ว
ต่อไปนี้ก็เป็นหน้าที่ของท่านที่จะเดินทางต่อไปตามที่ท่านปรารถนา
ขอให้โชคดี และได้พบสิ่งที่มีค่าสำหรับท่าน-ทุกคนนะครับ
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๓
๑๕:๓๙