บาลีวันละคำ

ปฐมฤกษ์ (บาลีวันละคำ 3,125)

ปฐมฤกษ์

เริ่มต้นดี

อ่านว่า ปะ-ถม-มะ-เริก

ประกอบด้วยคำว่า ปฐม + ฤกษ์

(๑) “ปฐม

บาลี (ฐ ฐาน ไม่มีเชิง) อ่านว่า ปะ-ถะ-มะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ปฐฺ (ธาตุ = พูด, กล่าว; สวด) + อม ปัจจัย

: ปฐฺ + อม = ปฐม แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งอันเขาพูดขึ้นในเบื้องต้น” (2) “บทอันเขาสวดโดยเป็นบทที่สูงสุด

(2) ปถฺ (ธาตุ = นับ) + อม ปัจจัย, แปลง ถฺ เป็น ฐฺ

: ปถฺ + อม = ปถม > ปฐม แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขานับในเบื้องต้น

ปฐม” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เป็นปูรณสังขยา (เลขบอกลำดับที่): ที่หนึ่ง, ขึ้นหน้าที่สุด, ก่อน (the first, foremost, former)

(2) เป็นคุณนาม: ชั้นต้น, เป็นครั้งแรก (at first, for the first time)

(3) เป็นส่วนแรกของสมาส: ครั้งแรก, เร็วๆ นี้, ใหม่ๆ, เพิ่ง (first, recently, newly, just)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปฐม, ปฐม– : (คำวิเศษณ์) ประถม, ลำดับแรก, ลำดับเบื้องต้น; ชั้นที่ ๑, เรียกเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นที่ ๑ ในตระกูลจุลจอมเกล้าว่า ปฐมจุลจอมเกล้า ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ. (ป.).”

(๒) “ฤกษ์

เป็นรูปคำสันสกฤต ตรงกับบาลีว่า “อิกฺก” (อิก-กะ)

ในบาลี “อิกฺก” แปลว่า หมี (a bear) ยังไม่พบว่ามีใช้ในความหมายเกี่ยวกับดวงดาว

อย่างไรก็ตาม สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

(1) นกฺษตฺร : (คำนาม) นักษัตร, ดาวทั่วไป; ดาวในจันทรบถหรือเรือนจันทร์; มุกดาผล, ไข่มุกด์; a star in general; an asterism in the moon’s path or lunar mansion; a pearl.

(2) ฤกฺษ : (คำคุณศัพท์) อันแทงแล้ว, ตัดแล้วหรือแบ่งแล้ว; pierced, cut or divided;- (คำนาม) ดาว, นักษัตร; ภูเขาในทวีปกัลป, ที่ประทับชั่วคราวของพระราม; หมี; a star, a constellation; a mountain in the peninsula, the temporary residence of Rāma; a bear.

ปฐม + ฤกษ์ = ปฐมฤกษ์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปฐมฤกษ์ : (คำนาม) ช่วงเวลาแรกของฤกษ์. (คำคุณศัพท์) เริ่มแรก เช่น ฉบับปฐมฤกษ์.”

อภิปรายขยายความ :

ปฐมฤกษ์” ถ้าเทียบเป็นบาลีก็น่าจะเป็น “ปฐมอิกฺก” หรือ “ปฐมิกฺก

คือ ปฐม = ครั้งแรก + อิกฺก = ฤกษ์ : ปฐมอิกฺก = ปฐมฤกษ์

แต่ในบาลีก็ไม่มีศัพท์เช่นนี้

ถ้าจะพูดถึง “ฤกษ์” บาลีใช้คำว่า “นกฺขตฺต” ดังภาษิตที่นักเรียนธรรมและนักเรียนบาลีรู้จักกันดี คือ –

…………..

นกฺขตฺตํ  ปฏิมาเนนฺตํ

อตฺโถ  พาลํ  อุปจฺจคา

อตฺโถ  อตฺถสฺส  นกฺขตฺตํ

กึ  กริสฺสนฺติ  ตารกา.

ประโยชน์ได้ล่วงเลยคนโง่-

ผู้มัวถือฤกษ์อยู่

ประโยชน์เป็นฤกษ์ของประโยชน์เอง

ดวงดาวจักทำอะไรได้

ที่มา: นักขัตตชาดก เอกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม 27 ข้อ 49

…………..

ในภาษิตนี้เห็นได้ชัดว่า “ฤกษ์” แปลมาจากคำว่า “นกฺขตฺต” พูดอีกอย่างหนึ่งว่า คำว่า “นกฺขตฺต” นั่นเองแปลว่า “ฤกษ์

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ อธิบายความหมายของคำว่า “นกฺขตฺต” ไว้ค่อนข้างละเอียด ดังนี้ :

…………..

the stars or constellations, a conjunction of the moon with diff. constellations, a lunar mansion or the constellations of the lunar zodiac, figuring also as Names of months & determinant factors of horoscopic and other astrological observation; further a celebration of the beginning of a new month, hence any kind of festival or festivity

(ดาวหรือกลุ่มดาว, การอยู่ใกล้กันของพระจันทร์กับกลุ่มดาวต่างๆ (นักษัตรโยค), ดาวฤกษ์หรือกลุ่มดาวของจักรราศีของพระจันทร์, เรียกเป็นชื่อของเดือนต่างๆ และเป็นตัวกำหนดของการทำนายหรือส่วนที่กำหนดการสังเกตเกี่ยวกับโหราศาสตร์และดาราศาสตร์; นอกจากนี้หมายถึงการฉลองในวันขึ้นเดือนใหม่, รวมถึงการรื่นเริงหรืองานฉลองเนื่องในโอกาสใดๆ ก็ตาม)

ดูรายละเอียดที่: “นักขัตฤกษ์” บาลีวันละคำ (989) 1-2-58

…………..

ภาษาไทยเรามีคำว่า “นักขัตฤกษ์” ความหมายที่เข้าใจกันดีคือ งานที่จัดขึ้นตามเทศกาลต่างๆ เรียกว่างานนักขัตฤกษ์ หรือวันนักขัตฤกษ์

เป็นอันว่าในชั้นนี้พึงสันนิษฐานได้ว่า “ฤกษ์” เป็นคำสันสกฤต ตรงกับบาลีว่า “นกฺขตฺต” เราเอาบาลีกับสันสกฤตมาพูดรวมกันเป็น “นักขัตฤกษ์” แบบเดียวกับเอา “อิทฺธิ” ในบาลีมาพูดรวมกับ “ฤทธิ” ในสันสกฤต เป็น “อิทธิฤทธิ์” นั่นเอง

ดังนั้น คำว่า “ปฐมฤกษ์” ถ้าพูดเป็นบาลีก็น่าจะเป็น “ปฐมนกฺขตฺต” (ปะ-ถะ-มะ-นัก-ขัด-ตะ) แต่ก็ยังไม่พบว่ามีศัพท์เช่นนี้ในบาลี

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าเริ่มต้นดีเท่ากับสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง จริงอย่างที่ว่ากัน ก็อย่าเพิ่งดีใจ

: เพราะเริ่มต้นดีก็ยังมีโอกาสล้มเหลวอีกครึ่งหนึ่งด้วยเช่นกัน

#บาลีวันละคำ (3,125)

1-1-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย