บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

คนไข้รอหมอ

คนไข้รอหมอ

———————–

ญาติมิตรที่ติดตามอ่าน “บาลีวันละคำ” คงจะเห็นแล้วว่าช่วงนี้ผมเขียนคำในชุด “อันตรธาน” ซึ่งประกอบด้วยคำว่า อธิคมอันตรธาน ปฏิปัตติอันตรธาน ปริยัตติอันตรธาน ลิงคอันตรธาน และ ธาตุอันตรธาน

อันตรธานแต่ละอย่าง มีคำอธิบายอยู่ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา 

เมื่อวาน (๒๔ เมษายน ๒๕๖๕) ผมเขียนคำว่า “ลิงคอันตรธาน” อันหมายถึงการเสื่อมสูญสิ้นไปแห่งเพศสงฆ์ และยกคำอธิบายในคัมภีร์อรรถกถามาประกอบ 

ข้อความในคำอธิบายเป็นดังนี้ –

…………..

คจฺฉนฺเต  คจฺฉนฺเต  กาเล  จีวรคหณํ  ปตฺตคหณํ  สมฺมิญฺชนปสารณํ  อาโลกิตวิโลกิตํ  น  ปาสาทิกํ  โหติ

เมื่อกาลล่วงไปๆ การครองจีวร การถือบาตร การคู้ การเหยียด การแลดู การเหลียวดู ไม่เป็นที่นำมาซึ่งความเลื่อมใส

นิคณฺฐสมโณ  วิย  อลาพุปตฺตํ  ภิกฺขู  ปตฺตํ  อคฺคพาหาย  ปกฺขิปิตฺวา  อาทาย  วิจรนฺติ

ภิกษุทั้งหลายไปไหนมาไหนก็ห้อยบาตรไว้ปลายแขนเหมือนนักบวชนิครนถ์ถือหม้อน้ำเต้า

เอตฺตาวตาปิ  ลิงฺคํ  อนนฺตรหิตเมว  โหติ  ฯ

แม้ด้วยอาการเพียงเท่านี้ เพศสงฆ์ก็ชื่อว่ายังไม่อันตรธาน

คจฺฉนฺเต  คจฺฉนฺเต  กาเล  อคฺคพาหโต  โอตาเรตฺวา  หตฺเถน  วา  สิกฺกาย  วา โอลมฺเพตฺวา  วิจรนฺติ

เมื่อกาลล่วงไปๆ ก็เอาบาตรลงจากปลายแขน ไปไหนมาไหนก็ใช้มือหิ้วไป หรือใช้สาแหรกหาบไป 

ฯลฯ

ฯลฯ

ตโต  คจฺฉนฺเต  คจฺฉนฺเต  กาเล  นานาวิธานิ  กมฺมานิ  กโรนฺตา  ปปญฺโจ  นาม  เอส  กึ  อิมินา  อมฺหากนฺติ  กาสาวขณฺฑํ  ฉฑฺเฑตฺวา  อรญฺเญ  ขิปนฺติ  ฯ

แต่นั้น เมื่อกาลล่วงไปๆ คนครองเพศสงฆ์เหล่านั้นคิดว่า การครองเพศอยู่เช่นนี้เสียเวลา พวกเราจะต้องมาเสียเวลาอยู่ทำไมเล่า คิดแล้วจึงถอดชิ้นส่วนผ้ากาสาวะโยนทิ้งเสียในป่า

เอตสฺมึ  กาเล  ลิงฺคํ  อนฺตรหิตํ  นาม  โหติ  ฯ

เพศสงฆ์ก็เป็นอันว่าอันตรธานไปในกาลนั้น 

กสฺสปทสพลสฺส  กิร  กาเล  เตสํ  เตสํ  เสตกานิ  วตฺถานิ  ปารุปิตฺวา  จรณํ  จาริตํ  ชาตนฺติ  

กล่าวกันว่า คนเหล่านั้นพากันนุ่งขาวห่มขาวดำเนินชีวิตไปโดยถือกันว่าเป็นจารีตนิยมมาแต่ครั้งศาสนาพระกัสสปทศพล 

อิทํ  ลิงฺคอนฺตรธานํ  นาม  โหติ  ฯ

เป็นอันว่าลิงคอันตรธานย่อมมี ด้วยประการฉะนี้แล

ที่มา: มโนรถปูรณี อรรถกถาอังคุตรนิกาย ภาค 1 หน้า 120-121

…………..

ที่ผมติดใจก็คือ ข้อความตอนที่ว่า

…………………………………….

นิคณฺฐสมโณ  วิย  อลาพุปตฺตํ  ภิกฺขู  ปตฺตํ  อคฺคพาหาย  ปกฺขิปิตฺวา  อาทาย  วิจรนฺติ

…………………………………….

พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปลชุด ๙๑ เล่ม แปลข้อความตอนนี้ว่า –

…………………………………….

ภิกษุทั้งหลายวางบาตรไว้ปลายแขนถือเที่ยวไป เหมือนสมณนิครนถ์ถือบาตรน้ำเต้าเที่ยวไป

(พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปลเล่ม ๓๒ หน้า ๑๗๐)

…………………………………….

ฝ่ายผม เอาคำแปลมาปรับปรุงใหม่เป็นดังนี้ –

…………………………………….

ภิกษุทั้งหลายไปไหนมาไหนก็ห้อยบาตรไว้ปลายแขนเหมือนนักบวชนิครนถ์ถือหม้อน้ำเต้า

…………………………………….

ที่ว่าติดใจก็คือ คำบาลีว่า “ปตฺตํ  อคฺคพาหาย  ปกฺขิปิตฺวา” คือทำอะไร?

ปตฺตํ แปลว่า ซึ่งบาตร

อคฺคพาหาย แปลว่า ที่ปลายแขน 

ปกฺขิปิตฺวา แปลว่า ใส่เข้าแล้ว

แปลรวมว่า “ใส่เข้าแล้วซึ่งบาตรที่ปลายแขน”

แปลแบบจับใจความว่า “เอาบาตรใส่ไว้ที่ปลายแขน”

ข้อสงสัยคือ เอาบาตรทำอะไรกับส่วนไหนของร่างกาย

คำที่มีปัญหาคือ “อคฺคพาหาย” คำเดิมคือ “อคฺคพาหา” ประกอบด้วยคำว่า อคฺค + พาหา

อคฺค แปลว่า ปลาย, ยอด

พาหา แปลว่า แขน คืออวัยวะที่ต่อจากไหล่ทั้ง ๒ ข้าง

อคฺคพาหา” คือส่วนไหนของแขน?

ถ้ารู้ว่า “อคฺคพาหา” คือส่วนไหนของแขน ก็จะรู้ต่อไปว่า ใส่บาตรเข้าไปที่ส่วนนั้นคือทำอย่างไรกับบาตร

……………

ขอแรงนักเรียนบาลีทั้งหลายช่วยผมหน่อยนะครับ ช่วยค้นศัพท์ “อคฺคพาหา” ว่าคืออะไรกันแน่ และคำบาลีว่า “ปตฺตํ  อคฺคพาหาย  ปกฺขิปิตฺวา” คือทำอะไร?

สำหรับนักเรียนบาลี ผมถือว่านี่คืองานอย่างหนึ่ง และในขณะเดียวกันนั่นเองนี่ก็คือ “กีฬา” คือการพักผ่อนอย่างหนึ่ง ได้ความรู้ด้วย ได้ความเพลิดเพลินด้วย

ผมดีใจที่ทุกวันนี้มีคนสนับสนุนการเรียนบาลีกันอย่างคับคั่ง

ผมคิดว่า-จะน่าดีใจยิ่งขึ้นถ้ามีคนสนับสนุนนักเรียนบาลีให้มีใจรักการศึกษาค้นคว้าคัมภีร์ เพราะนั่นคืองานโดยตรงของนักเรียนบาลี

เรียนบาลีไปทำไม?

เรียนบาลีไปเพื่อศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกอันเป็นตัวพระศาสนา 

ได้ความรู้แล้วเอาความรู้มาปฏิบัติ 

แล้วบอกกล่าวเผยแผ่ต่อไป 

พระศาสนาย่อมดำรงอยู่และดำเนินต่อไปได้ด้วยอาการอย่างนี้

แบบเดียวกับ-เรียนหมอไปทำไม?

เรียนหมอเพื่อไปรักษาคนป่วย

ปัญหาที่ผมยกมาขอความช่วยเหลือข้างต้นก็เหมือนคนไข้ที่มารอหมอนั่นแหละครับ

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๕ เมษายน ๒๕๖๕

๑๓:๓๓

………………………………..

ภาพประกอบ: จาก google

………………………………..

คนไข้รอหมอ

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *