บาลีวันละคำ

นิติกรรม (บาลีวันละคำ 3,441)

นิติกรรม

แปลว่าทำตามกฎหมาย

อ่านว่า นิ-ติ-กำ

ประกอบด้วยคำว่า นิติ + กรรม

(๑) “นิติ”

บาลีเป็น “นีติ” (นี-ติ, โปรดสังเกตว่า บาลีเป็น นี- ไม่ใช่ นิ-) รากศัพท์มาจาก นี (ธาตุ = บรรลุ, ถึง) + ติ ปัจจัย

: นี + ติ = นีติ แปลตามศัพท์ว่า “ข้อบัญญัติเป็นเครื่องบรรลุ” “เครื่องนำไปให้บรรลุ” หมายถึง กฎหมาย, กฎ, แบบแผน

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “นีติ” ว่า guidance, practice, conduct, right conduct, propriety; statesmanship, polity (การนำทาง, การปฏิบัติ, ความประพฤติ, ความประพฤติที่ถูกต้อง, การทำที่เหมาะที่ควร; การใช้วิธีปกครอง, การปกครองประชาชน)

โปรดสังเกตว่า ฝรั่งไม่ได้แปล นีติ ว่า law อย่างที่เรานิยมแปลกัน

บาลี “นีติ” สันสกฤตก็เป็น “นีติ”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

“นีติ : (คำนาม) การนำ, การจัด; การได้, การบันลุถึง; ราชนีติ, ราชรีติ, ราชยศาสนศาสตร์, ราชการยาณิ, ‘รัฐประศาสน์’ ก็ใช้โดยมตินิยม – เปนวิทยาอันกล่าวว่าด้วยการปกครอง, รวมทั้งประโยคจรรยามรรยาททั่วไป, ทั้งพระผู้เปนเจ้าเปนใหญ่และไพร่ฟ้าประชาราษฎร์; guiding, directing; obtaining, acquirement or acquisition; polity, politics or political science – a science treating of the administration of government, including the practice of morality in private life, both by the sovereign and his subjects.”

บาลี “นีติ” ภาษาไทยใช้เป็น “นิติ” (บาลี นี- ไทย นิ-)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“นิติ : (คำนาม) นีติ, กฎหมาย, กฎปฏิบัติ, แบบแผน, เยี่ยงอย่าง, ขนบธรรมเนียม, ประเพณี, วิธีปกครอง, เครื่องแนะนํา, อุบายอันดี. (ป., ส. นีติ).”

(๒) “กรรม”

บาลีเป็น “กมฺม” (กำ-มะ) รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ, ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุและ ร ที่ต้นปัจจัย

: กร > ก + รมฺม > มฺม : ก + มฺม = กมฺม แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำ” หมายถึง การกระทำ, สิ่งที่ทำ, การงาน (the doing, deed, work)

บาลี “กมฺม” สันสกฤตเป็น “กรฺม” (กระ-มะ, ก ควบ ร กลืนเสียง ระ ลงคอ) ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “กรรม”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“กรรม ๑, กรรม- ๑ : (คำนาม) (๑) การ, การกระทำ, การงาน, กิจ, เช่น พลีกรรม ต่างกรรมต่างวาระ, เป็นการดีก็ได้ ชั่วก็ได้ เช่น กุศลกรรม อกุศลกรรม.(๒) การกระทำที่ส่งผลร้ายมายังปัจจุบัน หรือซึ่งจะส่งผลร้ายต่อไปในอนาคต เช่น บัดนี้กรรมตามทันแล้ว ระวังกรรมจะตามทันนะ.(๓) บาป, เคราะห์, เช่น คนมีกรรม กรรมของฉันแท้ ๆ.(๔) ความตาย ในคำว่า ถึงแก่กรรม.”

นิติ + กรรม = นิติกรรม (นิ-ติ-กำ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ดังนี้ –

“นิติกรรม : (คำที่ใช้ในกฎหมาย) (คำนาม) การใด ๆ อันทําลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัคร มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล เพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ.”

ขยายความ :

“นิติกรรม” เทียบกลับเป็นบาลีเป็น “นีติกมฺม” (นี-ติ-กำ-มะ) ยังไม่พบศัพท์ที่มีรูปเช่นนี้ในคัมภีร์ “นิติกรรม” จึงเป็นคำที่เราบัญญัติขึ้นใช้ในภาษาไทย

ในคำนิยามคำว่า “นิติกรรม” มีคำที่ใช้ในกฎหมายคำหนึ่ง คือคำว่า “นิติสัมพันธ์”

“นิติสัมพันธ์” มีความหมายว่าอย่างไร พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

“นิติสัมพันธ์ : (คำที่ใช้ในกฎหมาย) (คำนาม) ความเกี่ยวพันตามกฎหมาย.”

และเมื่อเอ่ยถึงคำว่า “นิติกรรม” เราก็มักจะนึกต่อไปถึงคำที่ใช้ในกฎหมายอีกคำหนึ่ง นั่นคือคำว่า “นิติกรรมอำพราง”

“นิติกรรมอำพราง” มีความหมายว่าอย่างไร พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

“นิติกรรมอำพราง : (คำที่ใช้ในกฎหมาย) (คำนาม) นิติกรรมอันหนึ่งที่ทำขึ้นด้วยเจตนาลวง เพื่อปิดบังนิติกรรมอีกอันหนึ่งที่ทำขึ้นด้วยเจตนาอันแท้จริง ซึ่งกฎหมายให้บังคับตามกฎหมายเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพรางนั้น.”

…………..

ดูก่อนภราดา!

: นิติกรรมอำพรางอาจหลอกมนุษย์ด้วยกันได้

: แต่หลอกนรกไม่ได้

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *