ตรีทูต (บาลีวันละคำ 3,127)
ตรีทูต
มาอย่างไร ไปอย่างไร
อ่านว่า ตรี-ทูด
ประกอบด้วยคำว่า ตรี + ทูต
(๑) “ตรี”
บาลีเป็น “ติ” และแปลงเป็น “เต” ได้ด้วย แปลว่า “สาม” (จำนวน 3)
หลักภาษา :
(1) ติ หรือ เต ถ้าคงรูปเช่นนี้ จะต้องมีคำอื่นมาสมาสท้ายเสมอ ไม่ใช้เดี่ยวๆ
(2) ติ หรือ เต ในบาลี มักแผลงเป็น “ตรี” หรือ “ไตร” ในภาษาไทย เช่น
– ติ + จีวร = ติจีวร = ไตรจีวร (จีวร 3 ผืน)
– ติ + ปิฏก = ติปิฏก = ตรีปิฎก, ไตรปิฎก (คัมภีร์ 3 หมวด = พระไตรปิฎก)
– เต + ภูมิ = เตภูมิ > ไตรภูมิ (ภพภูมิทั้ง 3) เช่น “ไตรภูมิพระร่วง” ชื่อเดิมคือ “เตภูมิกถา” (เต + ภูมิ + กถา) หนังสือว่าด้วยภูมิทั้ง 3
– เต + มาส = เตมาส = ตรีมาส, ไตรมาส (3 เดือน)
“ตรี” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ตรี ๓ : (คำวิเศษณ์) สาม เช่น ตรีเนตร, ชั้นที่ ๓ (ใช้เกี่ยวกับลําดับชั้นหรือขั้นของยศ ตําแหน่ง คุณภาพ หรือ วิทยฐานะ ตํ่ากว่า โท สูงกว่า จัตวา) เช่น ร้อยตรี ข้าราชการชั้นตรี ปริญญาตรี; เรียกเครื่องหมายวรรณยุกต์รูปดังนี้ ๊ ว่า ไม้ตรี. (ส. ตฺริ).”
(๒) “ทูต”
บาลีอ่านว่า ทู-ตะ รากศัพท์มาจาก ทุ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป, เดือดร้อน) + ต ปัจจัย, ทีฆะ อุ ที่ ทุ เป็น อู (ทุ > ทู)
: ทุ + ต = ทุต > ทูต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันเขาส่งไป” “ผู้เดือดร้อน” (เพราะจะต้องผจญการต่างๆ แทนเจ้าของเรื่อง) หมายถึง ผู้ไปทำการแทน
บางตำราว่า “ทูต” ใช้ “ทูร” (ทู-ระ) แทนได้
“ทูร” แปลตามศัพท์ว่า “ที่ที่ไปถึงโดยยาก” หมายถึง ไกล, ห่าง, ห่างไกล
ตามนัยนี้ ทูร < ทูต มีความหมายว่า “ผู้ถูกส่งออกไปไกล”
อนึ่ง ควรเข้าใจให้ถูกต้องว่า “ทูต” คำนี้ใช้ ท ทหาร ไม่ใช่ ฑ มณโฑ
ตรี + ทูต = ตรีทูต
คำว่า “ตรีทูต” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“ตรีทูต : (คำนาม) ผู้แทนคนที่ ๓; ลักษณะบอกอาการของคนเจ็บหนักใกล้จะตาย.”
ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 แยกคำว่า “ตรีทูต” เป็น 2 คำ บอกไว้ดังนี้ –
(1) ตรีทูต ๑ : (คำนาม) ทูตลำดับที่ ๓ ในคณะทูต รองจาก ราชทูต และ อุปทูต.
(2) ตรีทูต ๒ : (คำนาม) ลักษณะบอกอาการของคนเจ็บหนักใกล้จะตาย.
ขยายความ :
คำว่า “ตรีทูต” ที่แยกศัพท์มานั้นเป็นการอธิบายศัพท์เท่าที่ตาเห็น คือ ตรี + ทูต แต่คำว่า “ตรีทูต” หมายถึงอะไร ไปอย่างไรมาอย่างไรจึงเป็น “ตรีทูต” เป็นเรื่องที่น่าศึกษาต่อไป
สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 12 คำว่า “ตรีทูต ๒-อาการ” อธิบายไว้ดังนี้ –
…………..
ตรีทูต หรือเข้าตรีทูตนั้น หมายถึง อาการแสดงระยะสุดท้ายของผู้ป่วยที่เป็นมา บอกให้ทราบว่าความตายกำลังใกล้เข้ามา
ผู้ป่วยที่มีอาการตรีทูตมักนอนราบอยู่กับที่ไม่เคลื่อนไหว ผิวหนังซีดคล้ำไม่สดใส ตาโบ๋ ใบหน้าหมองมัว ลืมตาแจ๋ว จมูกเสี้ยม ขมับหวำ คางแหลม ปากอ้า ขากรรไกรล่างตก ใบหูเย็นและหดฝ่อ แก้มตอบ ในลักษณะที่เรียกว่า ใบหน้า ฮิปโปเครตีส หายใจเบา ชีพจรอ่อน ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร
ลักษณะเช่นนี้ ทำให้เห็นได้ว่า เป็นการผิดหวังในผู้ป่วย การที่จะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นกลับมาเป็นปกติเป็นไปได้ยากยิ่ง โรคจะดำเนินต่อไปอีกจนวาระสุดท้าย และผู้ป่วยจะถึงแก่กรรมไปในที่สุด
การที่เรียกอาการดังกล่าวข้างต้นว่า ตรีทูต นี้ เข้าใจว่าเป็นอุปมาของแพทย์แผนโบราณ หรือชาวบ้าน โดยเห็นว่า คนเรามีเจตภูตทั้ง ๔ (ดูเจตภูต ประกอบด้วย) เวลาคนจะตาย เจตภูตออกจากตัวไป ๓ ยังเหลือ ๑ แสดงว่าอาการร่อแร่ หรืออุปมาดังเชือกเกลียวมีอยู่ ๔ เกลียว และเกลียวขาดไป ๓ เหลือเกลียวเดียว หรืออุปมาว่าคนจะตายยมบาลส่งทูตมา ๔ ทูต เพื่อจะเอาตัวไป ทูตมาแล้ว ๓ ถ้ามาอีก ๑ ก็จะตาย คำว่า ทูต ภูต เมื่อพูดอาจฟังเป็นคำคำเดียวกันได้ ที่สุดกลายเป็น ตรีทูต (ดู เข้าตรีทูต ประกอบ). – ด.พ.
หมายเหตุ: ด.พ. ข้างท้ายเป็นชื่อผู้เขียน คือ นายแพทย์ดำรง เพ็ชรพลาย บ.พ., M.S. (U.W.), อนุ.บร. (จุฬาฯ), รองศาสตราจารย์ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
…………..
สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 6 คำว่า “เข้าตรีทูต” อธิบายไว้ดังนี้ –
…………..
เข้าตรีทูต หมายถึงผู้ป่วยมีอาการหนักมาก ขุนนิทเทสสุขกิจกล่าวไว้ในอายุรเวทศึกษา (พ.ศ.๒๔๙๖) หน้า ๒๑๒-๑๓ ว่า “สีหน้าฮิปโปคระติส และสีหน้ารากสาด ของปัจจุบันที่อธิบายมานี้ ความจริงก็เป็นเรื่องที่หมอโบราณชาวอาเซียเคยสังเกตและรู้กันอยู่ตามความชำนาญมานานแล้ว หมอโบราณไทยและชาวบ้านเรียกรวมว่า ระยะตรีทูต ซึ่งหมอเห็นเข้าก็ทายได้ว่าหนักมาก แต่ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดเขียนเป็นหลักในทางตำราขึ้นไว้เท่านั้น คำว่าตรีทูตนี้ ตามที่หมอกลางบ้านเข้าใจกัน ก็อุปมาว่า คนเรามีเจตภูตทั้ง ๔ คนจะตายเจตภูตออกจากตัวไป ๓ ยังเหลือ ๑ แปลว่าอาการร่อแร่ หรือ ๔ เกลียวเหลือเกลียวเดียว เรียกว่า ตรีภูต แต่ผิดไปเป็นตรีทูต ข้างที่ว่าตรีทูตไม่ใช่ตรีภูต ก็อ้างว่า คนจะตาย ยมบาลส่งทูตมา ๔ ทูต เพื่อจะมาเอาตัวไป ทูตมา ๓ แล้ว ถ้ามาอีกทูตเดียวก็ตาย ต่างฝ่ายต่างเข้าใจกันว่าตรีทูตบ้างและตรีภูตบ้าง แต่ตามทางหลักฐานยังไม่พบคำอธิบายเรื่องตรีทูตหรือตรีภูต เคยพบแต่คำตรีโทษ……..เมื่อตรีธาตุจะแตกสลาย คุมประสานกันไม่ติด ก็เป็นตรีโทษหนัก เป็นอาการจะตาย เรียกกันสั้นๆ ว่า เข้าตรีโทษ แต่คงจะฟังผิดเพี้ยนเลือนไปเป็นตรีทูตบ้าง ตรีภูตบ้าง คำว่า ธาตุ โทษ ทูต ภูต นี้ ถ้าไม่ระมัดระวังก็ใช้ผิดได้”
คำ ทูต มีหลักฐานปรากฏอยู่ (๑) ในตำราแพทยศาสตร์สงเคราะห์ ฉบับหลวง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขรวบรวมพิมพ์เป็นเล่มเดียวจากต้นฉบับของหอพระสมุดวชิรญาณ (พ.ศ.๒๔๙๗) ในบทพระคัมภีร์ธาตุวิภังค์เล่ม ๑ โดยสังเขป หน้า ๒๖๑-๒๖๒ (๒) ในตำราแพทยศาสตร์สงเคราะห์ ฉบับโรงพิมพ์พานิชศุภผล (พ.ศ.๒๔๖๖) เล่ม ๑ หน้า ๔๖๒-๔๖๓ และ (๓) ในเล่ม ๒ บทพระคัมภีร์โรคนิทาน หน้า ๑๖๐-๑๖๑ แต่ละเล่มอ้างข้อเขียนของโกมารภัจแพทย์ ซึ่งกล่าวถึงเทวทูตในธาตุทั้ง ๔ มีข้อความต้องกัน (แต่ถ้อยคำผิดเพี้ยนกันไปบ้าง) ดังต่อไปนี้ “……..ซึ่งบุคคลจะถึงมรณภาพ สิ้นอายุของอาตมานั้น อันว่าเทวทูตในธาตุทั้ง ๔ มีพรรณสำแดงออกให้แจ้งปรากฏ โดยมโนทวารวิถีอินทรีย์ประสาททั้งปวง และธาตุอันใดจะขาดจะหย่อนจะพิการอันตรธานประการใดๆ ก็ดี มีแจ้งอยู่ในคัมภีร์มรณญาณสูตรนั่นแล้ว แต่ว่าถึงกระนั้นต้องอาศัยธาตุเป็นหลักเป็นประธาน อันว่าลักษณะคนตายด้วยบุราณโรคนั้น เทวทูตธาตุทั้ง ๔ ก็หากจะสำแดงออกให้แจ้งดังกล่าวมานั้น……..อันว่าบุคคลตายโดยสิ้นอายุปริโยสานเป็นปรกตินั้น อันว่าธาตุทั้ง ๔ ก็อันตรธานสูญหายเป็นลำดับกันไป คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เมื่อจะอันตรธานนั้น ว่าได้ขาดสูญหายพร้อมกันทั้ง ๔ นั้นหามิได้ ย่อมจะสูญหายไปจะขาดไปทีละ ๒, ๓, ๔, ๕ สิ่ง จะขาดพร้อมสิ้นนั้นหามิได้ ย่อมจะขาดถอยลงเป็นลำดับจึงจะให้เพศต่างๆ ก็มี คือว่าบุคคลเมื่อจะสิ้นอายุของอาตมานั้น อันว่าปัถวีธาตุทั้ง ๒๐ ก็ย่อมจะขาดไป ๑๙ (หทยํ) หัวใจยังอยู่ อาโปธาตุ ๑๒ ขาดไป ๑๑ (ปิตฺตํ) คือดีก็ยังอยู่ วาโยธาตุ ๖ ขาดไป ๕ (อสฺสาสปสฺสาโส) คือลมหายใจเข้าออกยังอยู่ เตโชธาตุ ๔ ขาดไป ๓ (สนฺตปฺปคฺคี) คือไฟธาตุอบอุ่นกายยังอยู่ ถ้าแลธาตุทั้งหลายขาดสูญสิ้นพร้อมกันดังกล่าวมานี้ ท่านย่อมตัดอาการว่ารักษามิได้ถ่ายเดียว แพทย์ผู้ใดซึ่งจะเยียวยาต่อไปนั้นก็มิได้เลย ถ้าธาตุทั้ง ๔ จะขาดจะหย่อนไปแค่ ๑, ๒, ๓ สิ่งดังนั้นยังจะพยาบาลได้ ให้แพทย์พิจารณาดังกล่าวมานั้นเถิด”
ในข้อความข้างบนนี้ อันเป็นบทนิพนธ์ของโกมารภัจแพทย์ ทั้งที่เป็นที่มาของคำเทวทูตแห่งเดียวเท่านั้น ก็ไม่ปรากฏคำตรีทูตหรือจตุทูตเลย จึงสันนิษฐานว่าตรีธาตุที่เป็นตรีโทษเป็นที่มาแห่งคำตรีทูต โดยมีผู้เริ่มใช้แล้วมีผู้อื่นเห็นดีด้วย เพราะเข้ากันได้กับข้อความที่โกมารภัจแพทย์ได้นิพนธ์ไว้ เลยใช้ต่อๆ กันมา แต่ที่ตรีทูตจะแผลงมาจากตรีภูตนั้น ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะเจตภูตนั้นออกไปจากกาย ไม่ใช่เข้ามา (ดูคำอธิบายตรีธาตุ ตรีโทษ ไข้ตรีโทษ และไข้จตุโทษด้วย). ป.ก.
หมายเหตุ: ป.ก. ข้างท้ายเป็นชื่อผู้เขียน คือ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเสริฐ กังสดาลย์ M.B., Ch. B., พ.ด.(กิตติมศักดิ์, มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์), F.C.C.P., หัวหน้าแผนกอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์.
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ไม่กลัวตาย ตายครั้งเดียว
: กลัวตาย ตายเกินร้อยครั้ง
3-1-64