นัตถิปูโว (บาลีวันละคำ 3,132)
นัตถิปูโว
ขนมติดปากของนักเรียนบาลี
อ่านว่า นัด-ถิ-ปู-โว
ประกอบด้วยคำว่า นัตถิ + ปูโว
(๑) “นัตถิ”
เขียนแบบบาลีเป็น “นตฺถิ” (นัด-ถิ) เป็นรูปคำกริยา “กิริยาอาขยาต” รากศัพท์มาจาก น (คำอุปสรรค = ไม่, ไม่ใช่) + อตฺถิ
(ก) “อตฺถิ” (อัด-ถิ) เป็นรูปคำกริยา “กิริยาอาขยาต” รากศัพท์มาจาก อสฺ (ธาตุ = มี, เป็น) + อ (อะ) ปัจจัย + ติ วิภัตติอาขยาต (เอกพจน์ ปฐมบุรุษ หรือบุรุษที่หนึ่ง = สิ่งหรือผู้ที่ถูกพูดถึง), แปลง ติ เป็น ตฺถิ, ลบ สฺ ที่สุดธาตุ (อสฺ > อ)
: อสฺ + อ + ติ = อสฺติ > อสตฺถิ > อตฺถิ แปลตามศัพท์ว่า “(สิ่งนั้นหรือผู้นั้น) มีอยู่”
(ข) น + อตฺถิ = นตฺถิ แปลตามศัพท์ว่า “(สิ่งนั้นหรือผู้นั้น) ย่อมไม่มี”
อธิบายเพิ่มเติม :
(1) น + อตฺถิ = นตฺถิ ถือว่าเป็นการประสมแบบพิเศษ เพราะกฎการประสมของ “น” (นะ = ไม่, ไม่ใช่) ที่เราทราบกันอยู่ก็คือ ถ้าคำที่ “น” ไปประสมด้วยขึ้นต้นด้วยสระ ต้องแปลง “น” เป็น “อน” (อะ-นะ) ในที่นี้ “อตฺถิ” ขึ้นต้นด้วยสระ (อ– บาลีถือว่าเป็นสระ) น + อตฺถิ แทนที่จะเป็น “อนตฺถิ” ก็กลับเป็น “นตฺถิ”
ในทางไวยากรณ์ถือว่า “นตฺถิ” เป็นรูปคำกริยาสมบูรณ์ในตัว เวลาแปลไม่ต้องแยกคำเป็น “น อตฺถิ” (อตฺถิ = มีอยู่, น = หามิได้) แต่ยกขึ้นแปลเต็มศัพท์ว่า นตฺถิ = ย่อมไม่มี
(2) “อตฺถิ” และ “นตฺถิ” เป็นคำกริยาพิเศษ คือลง ติ วิภัตติอาขยาต ซึ่งเป็นเอกพจน์ แต่สามารถใช้ “ประธาน” ของประโยคเป็นพหูพจน์ได้ด้วย
จำไว้สั้นๆ ว่า “อตฺถิ” และ “นตฺถิ” เป็นกริยาทั้งเอกพจน์และพหูพจน์อยู่ในคำเดียวกัน
(๒) “ปูโว”
รูปคำเดิมเป็น “ปูว” (ปู-วะ) รากศัพท์มาจาก ปู (ธาตุ = เต็ม) + ว ปัจจัย
: ปู + ว = ปูว (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ทำให้ภาชนะเต็ม” หมายถึง ขนม
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปูว” ว่า a cake, baked in a pan (ขนมที่ปิ้งในกระทะ)
นตฺถิ + ปูว = นตฺถิปูว (นัด-ถิ-ปู-วะ) แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “นตฺถิปูโว” เขียนแบบไทยเป็น “นัตถิปูโว” แปลว่า “ขนมไม่มี”
ความเป็นมา :
เจ้าชายองค์หนึ่งนิสัยหยิบหย่ง อยากได้อะไรต้องได้ วันหนึ่งไปตีกอล์ฟกับเพื่อนๆ พนันกันสนุกๆ ว่าใครแพ้ต้องเลี้ยงขนม เจ้าชายตีแพ้ตลอด แพ้รอบหนึ่งก็สั่งมหาดเล็กไปบอกแม่ให้ทอดขนมมาเลี้ยง แม่ก็ทอดตามใจลูก แพ้หลายรอบ ทอดจนแป้งทำขนมหมด จึงบอกมหาดเล็กให้ไปบอกเจ้าชายว่า “นตฺถิ / ปูโว” (เป็นคำ 2 คำ) แปลตามศัพท์ว่า ปูโว อันว่าขนม นตฺถิ ย่อมไม่มี ถอดความว่า “ขนมไม่มีแล้ว” หรือ “ขนมหมดแล้ว” คือทอดให้จนหมดแป้งแล้ว
เจ้าชายองค์นี้เป็นคนมีบุญ เคยทำบุญทานมัยครั้งสำคัญกับพระปัจเจกพุทธเจ้าไว้ในอดีตชาติ โดยตั้งความปรารถนาว่า –
…………..
อิมินา ปน ทาเนน
มา เม ทาลิทฺทิยํ อหุ
นตฺถีติ วจนํ นาม
มา อโหสิ ภวาภเว.
(อิมินา ปะนะ ทาเนนะ
มา เม ทาลิททิยัง อะหุ
นัตถีติ วะจะนัง นามะ
มา อะโหสิ ภะวาภะเว.)
แปลว่า
ด้วยอำนาจแห่งทานนี้
ขอความยากจนเข็ญใจจงอย่าได้มีแก่ข้าพเจ้า
ขอให้ข้าพเจ้าอย่าได้ยินได้ฟังคำว่า “ไม่มี”
ทุกภพทุกชาติเทอญ.
…………..
ตั้งแต่เกิดมาในชาตินี้จึงไม่เคยได้ยินคำว่า “นตฺถิ” = ไม่มี
พอมหาดเล็กบอกว่า “นตฺถิ / ปูโว” เจ้าชายก็เข้าใจไปว่าเป็น “นตฺถิปูโว” (คำเดียวกัน) คือคงเป็นชื่อขนมชนิดหนึ่ง จึงสั่งมหาดเล็กให้ไปบอกแม่ว่า ขนม “นัตถิปูโว” นั่นแหละเอามาเถอะ
ฝ่ายแม่ก็ทั้งขำทั้งเคือง จึงเอาฝาชีครอบถาดเปล่าๆ แล้วให้มหาดเล็กเอาไปให้เจ้าชาย จะได้รู้เสียมั่งว่าขนมไม่มีเป็นอย่างไร
คนมีบุญร้อนถึงเทวดา เทวดาก็เลยเนรมิตขมมทิพย์เต็มถาด เจ้าชายเสวยแล้วติดใจมาก ไม่ยอมเสวยขนมชนิดอื่นอีกเลย ฝ่ายแม่เดาถูกว่าคงเป็นบุญของลูก ตั้งแต่นั้นมาพอเจ้าชายจะเสวย “นัตถิปูโว” แม่ก็เอาฝาชีครอบถาดเปล่าส่งให้ เทวดาก็เนรมิตขนมทิพย์ให้ทุกครั้งไป
เรื่อง “นัตถิปูโว” หรือ “ขนมไม่มี” นี้ มีบันทึกไว้ในคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถาซึ่งเป็นแบบเรียนเล่มหนึ่งของนักเรียนบาลี
ท่านผู้ใดอยากรู้รายละเอียดเพิ่มเติม เช่นเจ้าชายองค์นี้คือใคร โปรดสอบถามจากนักเรียนบาลีดูเถิด เอ่ยคำว่า “นัตถิปูโว” เป็นต้องรู้จักดีโดยทั่วกัน
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้ายังไม่พร้อมที่จะไม่มี อย่าเพิ่งมี
: แต่ถ้ามีแล้ว จงพร้อมเสมอที่จะไม่มี
#บาลีวันละคำ (3,132)
8-1-64