วชิรพุทธิ (บาลีวันละคำ 3,135)
วชิรพุทธิ
ญาณ ปัญญา ความรู้ เปรียบเหมือนอะไร
อ่านว่า วะ-ชิ-ระ-พุด-ทิ
ประกอบด้วยคำว่า วชิร + พุทธิ
(๑) “วชิร”
บาลีอ่านว่า วะ-ชิ-ระ รากศัพท์มาจาก วชฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อิร ปัจจัย
: วชฺ + อิร = วชิร แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ไปได้เรื่อย” (คือไม่มีอะไรขัดขวางการไปได้) (2) “สิ่งที่ไปอย่างไม่มีอะไรขัดขวาง”
ตามคำแปลตามศัพท์ “วชิร” หมายถึง สายฟ้า
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ เก็บคำว่า “วชิร” (vajira) ไว้ 2 คำ บอกไว้ดังนี้ –
(1) vajira1 : a thunderbolt; usually with ref. to Sakka’s [=Indra’s] weapon (อสนีบาต, ตามปกติเกี่ยวถึงอาวุธของท้าวสักกะ [พระอินทร์])
(2) vajira2 : a diamond (เพชร)
สรุปว่า “วชิร” ในภาษาบาลีหมายถึง –
(1) อสนีบาต หรือสายฟ้า (a thunderbolt) ซึ่งถือว่าเป็น “อาวุธพระอินทร์”
(2) แก้วที่แข็งที่สุดและมีนํ้าแวววาวมากกว่าพลอยอื่นๆ นั่นคือที่เราเรียกในภาษาไทยว่า “เพชร” (diamond)
บาลี “วชิร” สันสกฤตเป็น “วชฺร”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“วชฺร : (คำวิเศษณ์) ‘วัชร,’ แข็ง, อันแทงไม่ทลุตลอด; อันมีง่าม; hard, impenetrable; forked; (คำนาม) – กุลิศ, อศนิ (หรือ อศนี), อศนิบาต; ศรพระอินทร์; เพ็ชร์; เด็กหรือศิษย์; ปรุษศัพท์, ปรุษวาจ; นักษัตรโยคอันหนึ่ง; กุศฆาส, หญ้ากุศะ; a thunder-bolt; the thunder-bolt of Indra; diamond; a child or pupil; harsh language; one of the astronomical Yogas; Kuśa grass.”
จะเห็นว่า “วชฺร” ในสันสกฤตมีความหมายกว้างว่า “วชิร” ในบาลี
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วชิร-, วชิระ : (คำนาม) สายฟ้า; เพชร; อาวุธพระอินทร์. (ป.; ส. วชฺร).”
(๒) “พุทธิ”
เขียนแบบบาลีเป็น “พุทฺธิ” (มีจุดใต้ ทฺ) อ่านว่า พุด-ทิ รากศัพท์มาจาก พุธฺ (ธาตุ = รู้) + ติ ปัจจัย, แปลง ธฺ ที่ (พุ)-ธฺ เป็น ทฺ, แปลง ตฺ ที่ ติ เป็น ธฺ (ติ > ธิ), นัยหนึ่งว่าแปลง ธฺ ที่สุดธาตุกับ ติ เป็น ทฺธิ
: พุธฺ + ติ = พุธฺติ > พุทฺติ > พุทฺธิ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติเป็นเครื่องรู้” “สิ่งเป็นเหตุรู้” “ความรู้” หมายถึง ปัญญา, ความรอบรู้ (wisdom, intelligence)
บาลี “พุทฺธิ” ในภาษาไทยใช้ทับศัพท์เป็น “พุทธิ” (ไม่มีจุดใต้ ท) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“พุทธิ : (คำนาม) ปัญญา, ความฉลาด. (ป.).”
วชิร + พุทฺธิ = วชิรพุทฺธิ > (เขียนแบบไทยเป็น) วชิรพุทธิ แปลว่า “ปัญญาประดุจวชิระ”
จุดเล็กๆ ในอักขรวิธี :
เขียนแบบไทยหรือเขียนแบบบาลี ถ้าไม่สังเกตก็จะเห็นว่าเหมือนกัน ซ้ำยังอ่านเหมือนกันอีกด้วย (วะ-ชิ-ระ-พุด-ทิ)
เขียนแบบบาลี “วชิรพุทฺธิ” มีจุดใต้ ทฺ
เขียนแบบไทย “วชิรพุทธิ” ไม่มีจุดใต้ ท
ถ้าบอกว่า เขียนแบบบาลี แต่เขียนเป็น “วชิรพุทธิ” (ไม่มีจุดใต้ ท) ก็ต้องอ่านว่า วะ-ชิ-ระ-พุ-ทะ-ทิ ซึ่งไม่มีคำเช่นนี้ในบาลี
อักขรวิธีบาลีแบบไทยปัจจุบัน จุดใต้อักษรตัวใด ทำให้อักษรตัวนั้นทำหน้าที่เป็นตัวสะกด ไม่ต้องออกเสียง ยกเว้นบางตัวในบางคำ มีจุดข้างใต้ แต่ให้ออกเสียงครึ่งเสียง เช่น พ ในคำว่า พฺยญฺชน (มีจุดใต้ พฺ)
ถ้าไม่มีจุดใต้ พ = พยญฺชน ต้องอ่านว่า พะ-ยัน-
แต่เมื่อมีจุดใต้ พฺ = พฺยญฺชน ต้องออกเสียง พฺ ครึ่งเสียง เขียนเป็นสัญลักษณ์ว่า พฺยัน- ไม่ใช่ พะ-ยัน แต่เสียงเหมือน เพีย-อัน หรือ เพียน (ลองออกเสียง เพีย-อัน เร็วๆ)
นี่คือความละเอียดของภาษาบาลี-จุดเล็กๆ จุดเดียว
ขยายความ :
“วชิรพุทธิ” หรือ “วชิรพุทธิฎีกา” เป็นชื่อคัมภีร์ฎีกาพระวินัยปิฎก
หนังสือ “แนะนำพระคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา” ของมูลนิธิภูมิพโลภิกขุเพื่อการค้นคว้าทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นการรวบรวมบทแนะนำพระคัมภีร์แต่ละเรื่องที่จัดทำเสร็จแล้วและพิมพ์เผยแพร่ เฉพาะพระคัมภีร์วชิรพุทธิฎีกามีข้อความตอนหนึ่งว่า –
…………..
… ท่านผู้รจนาพระคัมภีร์นี้ชื่อ พระมหาวชิรพุทธิเถระ แต่งเป็นทำนองคันฐี เรียกว่า คณฺฐิฏฺฐานวิกาสนา แปลว่า อธิบายฐานะที่ยาก หรือ คณฺฐิปทาธิปฺปายปฺปกาสนา แปลว่า ประกาศคำอธิบายบทที่ยากในพระคัมภีร์สมันตปาสาทิกา
ในคัมภีร์จูฬคันถวงศ์ ซึ่งเป็นประวัติคัมภีร์พระพุทธศาสนา พระนันทปัญญาจารย์เมืองหงสาวดี เรียกพระคัมภีร์นี้ว่า วินัยคัณฐี พระคัมภีร์นี้เก่ามาก เป็นวรรณกรรมภาษาบาลีที่มีคุณค่าในฐานะหนังสือเก่าคัมภีร์หนึ่ง ถ้าจะเทียบให้เห็นและเข้าใจได้ง่าย ก็พอจะเปรียบได้อย่างนี้คือ คัมภีร์พระวินัยที่เราใช้ศึกษาในภาษาไทย มีบุพพสิกขาวัณณนาที่พระอมราภิรักขิต (เกิด) วัดบรมนิวาส รจนาขึ้นใช้ศึกษากันในสมัยเก่า ต่อมา สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงรจนา วินัยมุข ขึ้นมาศึกษาเล่าเรียนกัน และต่อมา สมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้นยังได้ทรงนิพนธ์ นวโกวาท ว่าด้วยเรื่องพระวินัยให้ศึกษาอย่างย่อๆ ฉันใด พระมหาวชิรพุทธิเถระรจนาคัมภีร์อธิบายพระวินัยเป็นเบื้องต้น ชื่อ วชิรพุทธิ นี้เมื่อประมาณแปดร้อยปีเศษมาแล้ว ต่อมา พระสารีบุตรเถระ สังฆราชาแห่งลังกาทวีปก็ได้รจนาคัมภีร์ สารัตถทีปนี อธิบายอรรถกถาพระวินัยขึ้นมาอีก แล้วพระกัสสปเถระก็ยังได้รจนา วิมติวิโนทนี ฎีกาพระวินัย ต่อมา รวมเป็น ๓ ฉบับด้วยกันฉันนั้น ทั้งนี้ เพราะการศึกษาของพระสงฆ์ลังกาเจริญขึ้น จึงได้รจนาคัมภีร์เป็นภาษาบาลีแพร่ไปในที่ต่างๆ …
พระมหาวชิรพุทธิเถระนี้ ในคัมภีร์จูฬคันถวงศ์กล่าวว่า เป็นชาวชมพูทวีป มิใช่ชาวลังกา นัยว่ามาพำนักอยู่ในมหาวิหารลังกาทวีป ได้รจนาคัมภีร์นี้ก่อนคัมภีร์สารัตถทีปนี คัมภีร์สารัตถทีปนีรจนาในสมัยพระเจ้าปรักกมพาหุมหาราชกษัตริย์แห่งลังกาทวีป ท่านมีชีวิตอยู่ก่อนพระสารีบุตรชาวลังกา ซึ่งอยู่ในสมัยของพระเจ้าปรักกมพาหุมหาราช ประมาณปี พ.ศ.๑๖๙๖ เพราะฉะนั้นจึงสันนิษฐานว่า พระมหาวชิรพุทธิเถระได้รจนาพระคัมภีร์วชิรพุทธิประมาณแปดร้อยปีเศษมาแล้ว
………….
………….
ในคัมภีร์มีคำว่า พุทธิ ต่อท้าย เป็น วชิรพุทธิ พุทธิ แปลว่าความรู้ หรือปัญญา หรือญาณ ต่อกันเข้าเป็นชื่อคน แปลว่า มีปัญญาดุจวชิระ คือมีความคม มีอำนาจ ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค (วิสุทฺธิมคฺค. ๑/๑๓๐.) ใช้ศัพท์ว่า วชิรุปมญาโณ แปลว่า มีญาณเปรียบด้วยวชิระ ในอรรถกถาธรรมบท (ธัมมปทฏฺฐกถา. ๓/๕๕.) กล่าวชมนางวิสาขามีปัญญามาก แหลมคม เพราะได้สร้างบารมีมานับแสนกัป ใช้ศัพท์ว่า วชิรคฺคติขิณญฺญาณา แปลว่า มีญาณคมดุจปลายแห่งวชิระ แสดงว่า วชิระเป็นศัพท์ที่มีความหมายถึงอำนาจ ความคมความแข็งในการสังหารศัตรู วชิรพุทธิ แปลว่า มีความรู้ดุจวชิระ หรือมีปัญญาดุจวชิระ เป็นความหมายในทางสรรเสริญ
…………..
แถม :
พระวินัยปิฎกเป็น 1 ในพระไตรปิฎก แบ่งเนื้อหาออกเป็น 5 คัมภีร์ คือ –
1 อาทิกรรม
2 ปาจิตตีย์
3 มหาวรรค
4 จุลวรรค
5 ปริวาร
โบราณเอาคำแรกของชื่อคัมภีร์ทั้ง 5 มาเรียกรวมกันว่า “อาปามะจุปะ” นับถือกันว่าเป็น “หัวใจพระวินัยปิฎก”
คัมภีร์ชั้นอรรถกถาที่อธิบายพระวินัยปิฎกมีชื่อว่า “สมันตปาสาทิกา” อธิบายพระวินัยจบครบทั้ง 5 คัมภีร์
คัมภีร์ชั้นฎีกาที่อธิบายพระวินัยปิฎกมีหลายคัมภีร์ เฉพาะที่สำคัญมี 3 คัมภีร์ คือ –
๑ “วชิรพุทธิ” หรือ “วชิรพุทธิฎีกา” เล่มที่กำลังกล่าวถึงนี้
๒ “วิมติวิโนทนี” ผู้แต่งคือพระกัสสปเถระ ชาวแคว้นโจฬะ ในอินเดียตอนใต้
๓ “สารัตถทีปนี” ผู้แต่งคือพระอาจารย์ชื่อสารีบุตร (ไม่ใช่พระสารีบุตรอัครสาวก)
เท่าที่ทราบในเวลาที่เขียนบาลีวันละคำนี้ คัมภีร์ “วชิรพุทธิ” หรือ “วชิรพุทธิฎีกา” ที่พิมพ์เป็นบาลีอักษรไทยมีฉบับที่มูลนิธิภูมิพโลภิกขุจัดพิมพ์ แบ่งเป็น 2 ภาค
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าใช้ปัญญาแก้ปัญหาไม่ได้
: ก็อย่าใช้ปัญญาสร้างปัญหา
11-1-64