บาลีวันละคำ

นิทาน ในบาลี ไม่ใช่ tale ในอังกฤษ (บาลีวันละคำ 3,134)

นิทาน ในบาลี

ไม่ใช่ tale ในอังกฤษ

นิทาน” บาลีอ่านว่า นิ-ทา-นะ รากศัพท์มาจาก นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง) + ทา (ธาตุ = ให้; ตัด) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: นิ + ทา = นิทา + ยุ > อน = นิทาน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องกำหนด

นิทาน” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(ก) เป็นคำนาม:

(1) การผูกลง (tying down to)

(2) พื้น, รากฐาน, โอกาส (ground, foundation, occasion)

(3) บ่อเกิด, แหล่งกำเนิด, เหตุ (source, origin, cause)

(4) เหตุผล, ข้ออ้าง, เรื่อง (reason, reference, subject)

(ข) เป็นคุณศัพท์: ตั้งขึ้นบน-, เกิดขึ้นโดย-, มีแหล่งกำเนิดที่-, เกี่ยวพัน- (founded on, caused by, originating in, relating to)

(ค) เป็นกริยาวิเศษณ์: (มีรูปเป็น –นิทานํ เช่น ตโตนิทานํ) โดยทาง, เนื่องด้วย, โดยอาศัย (by means of, in consequence of, through)

บาลี “นิทาน” สันสกฤตก็เป็น “นิทาน

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ นิทาน” ในสันสกฤตไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

นิทาน : (คำนาม) ประถมการณ์, บูรพเหตุ, เหตุไกล; อันตรธาน, ความสิ้นไปแห่งประถมเหตุ; บริศุทธิ, วิศุทธิ; ศุทธิ; การร้องขอบำเหน็จรางวัลหรือขอสิ่งซึ่งได้ประติบัทแล้วด้วยความเคร่งครัด; กษัย, ความสิ้น, อวสาน; โรคนิทาน, การตรวจโรค, การตรวจสมุตถานหรือมูลแห่งพยาธิ, การศึกษาอาการต่างๆ เพื่อสืบสาวเอาเหตุไกลหรือใกล้; a first cause, a primary cause, a remote cause; disappearance, cessation of a first cause; purification, purity, correctness; asking for the recompense or the objects of austere devotion; end; cessation; ascertaining the cause of disease, the study of symptoms with a view to trace the remote or proximate cause.”

ขยายความ :

ในคัมภีร์ โดยเฉพาะพระวินัยปิฎก จะมีวลีที่ปรากฏบ่อยๆ คือ –

“เอตสฺมึ  นิทาเน  เอตสฺมึ  ปกรเณ”

พระไตรปิฎกแปลเป็นไทยนิยมแปลว่า “ในเพราะเหตุเป็นมูลเค้านั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น”

ความหมายของวลีนี้ก็คือ “เพราะมีเรื่องเป็นต้นเหตุเกิดขึ้นเช่นนี้ (พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติเรื่องนั้นไว้)”

คำที่เป็นชุดของ “นิทาน” ที่นิยมใช้ในคัมภีร์อรรถกถากรณีที่บรรยายถึงต้นเหตุของเรื่องราวต่างๆ มักมี 3 คำ คือ –

(๑) “ทูเรนิทาน” = เรื่องไกล หมายถึง ต้นเหตุที่มีมาแต่เก่าก่อนนานไกล

(๒) “อวิทูเรนิทาน” = เรื่องใกล้ หมายถึง ต้นเหตุที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานนัก

(๓) “สนฺติเกนิทาน” = เรื่องปัจจุบัน หมายถึง ต้นเหตุที่เพิ่งเกิดขึ้น

ถ้าเทียบกับช่วงวัยของคนจะเข้าใจได้ง่ายขึ้น เช่นปู่เล่าประวัติตัวเองให้หลานฟัง

– เรื่องสมัยที่ปู่ยังเป็นเด็ก เทียบได้กับ “ทูเรนิทาน

– เรื่องสมัยที่ปู่เป็นหนุ่ม เทียบได้กับ “อวิทูเรนิทาน

– เรื่องตอนที่ปู่แก่แล้ว เทียบได้กับ “สนฺติเกนิทาน

อาจเป็นเพราะเมื่อมีเรื่องเล่ายาวนานเช่นนี้ท่านใช้คำว่า “-นิทาน” เป็นหลัก คำว่า “นิทาน” เมื่อเอามาใช้ในภาษาไทย เราจึงเข้าใจกันไปว่าเป็น “เรื่องที่เล่ากันมา” ดังที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

นิทาน : (คำนาม) เรื่องที่เล่ากันมา เช่น นิทานชาดก นิทานอีสป; เหตุ เช่น โรคนิทาน; เรื่องเดิม เช่น วัตถุนิทาน. (ป.).”

เรื่องที่เล่ากันมา” ตามความหมายนี้ตรงกับคำอังกฤษว่า tale ดังที่พจนานุกรม สอ เสถบุตร ก็แปลคำว่า “นิทาน” เป็นอังกฤษว่า a tale, a story, a yarn, a fable , as นิทานอีสป Aesop’s fables

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล tale เป็นบาลีดังนี้:

(1) kiṃvadantī กิมฺวทนฺตี (กิม-วะ-ทัน-ตี) = เรื่องที่ถามข่าวเล่าขานกันมา

(2) ākhyāna อาขฺยาน (อา-ขฺยา-นะ) = เรื่องที่จำกันมาเล่าบอก

(3) pesuñña เปสุญฺญ (เป-สุน-ยะ) = เรื่องซุบซิบนินทา, เรื่องไร้สาระ

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี ไม่ได้แปล tale เป็นบาลีว่า “นิทาน

นิทาน” ในบาลีหมายถึง สาเหตุหรือเบื้องหลังของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ไฟไหม้ต้องมีสาเหตุ

: แต่สิ่งควรทำก่อนคือดับไฟ

#บาลีวันละคำ (3,134)

10-1-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย