บาลีวันละคำ

ปัจยาการ (บาลีวันละคำ 3,405)

ปัจยาการ

เพราะสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงมี

อ่านว่า ปัด-จะ-ยา-กาน

ปัจยาการ” เขียนแบบบาลีเป็น “ปจฺจยาการ” อ่านว่า ปัด-จะ-ยา-กา-ระ แยกศัพท์เป็น ปจฺจย + อาการ

(๑) “ปจฺจย” 

อ่านว่า ปัด-จะ-ยะ รากศัพท์มาจาก ปฏิ หรือ ปติ (คำอุปสรรค = เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) + อิ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + (อะ) ปัจจัย, แปลง ปฏิ เป็น ปจฺจ หรืออีกนัยหนึ่ง แปลง อิ ที่ ปติ เป็น , แปลง ตย (คือ ปตย) เป็น ปจฺจ, แปลง อิ ธาตุเป็น เอ, แปลง เอ เป็น อย

: ปฏิ > ปจฺจ (ปติ > ปตย > ปจฺจ) + อิ > เอ > อย : ปจฺจ + อย + = ปจฺจย

พิสูจน์การกลายรูปและเสียง :

ลองออกเสียง ปะ-ติ-อะ-ยะ (ปฏิ + อิ) ทีละพยางค์ช้าๆ แล้วเพิ่มความเร็วขึ้นทีละน้อยจนเร็วที่สุด ปะ-ติ-อะ-ยะ จะกลายเสียงเป็น ปัด-จะ-ยะ ได้ การกลายรูปจึงมาจากธรรมชาติของการกลายเสียงนั่นเอง

ปจฺจย” (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “เหตุเป็นแดนอาศัยเป็นไปแห่งผล” “เหตุเป็นเครื่องเป็นไปแห่งผล” มีความหมายว่า –

(1) อาศัย, หันไปพึ่ง, รากฐาน, เหตุ, สาเหตุ (resting on, falling back on, foundation, cause, motive)

(2) สิ่งสนับสนุน, ของที่จำเป็น, ปัจจัย, วิถีทาง, เครื่องค้ำจุน (support, requisite, means, stay)

(3) เหตุผล, วิธี, เงื่อนไข (reason, ground, condition)

(4) เหตุผลสำหรับ, ความเชื่อ, ความมั่นใจ, ความเชื่อมั่น, การเชื่อถือหรืออาศัย (ground for, belief, confidence, trust, reliance)

ความหมายที่เข้าใจกันทั่วไปคือ ปัจจัย, เหตุ, สาเหตุ, ที่พึ่ง, ความช่วยเหลือ ฯลฯ

ปจฺจย” ภาษาไทยใช้ว่า “ปัจจัย” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

(1) เหตุอันเป็นทางให้เกิดผล, หนทาง, เช่น การศึกษาเป็นปัจจัยให้เกิดความรู้ความสามารถ, องค์ประกอบ, ส่วนประกอบ, เช่น ปัจจัยในการผลิต, คํา “ปัจจัย” กับ คํา “เหตุ” มักใช้แทนกันได้.

(2) เครื่องอาศัยยังชีพ, เครื่องอาศัยเลี้ยงชีวิตของบรรพชิตในพระพุทธศาสนา ๔ อย่าง คือ จีวร (ผ้านุ่งห่ม) บิณฑบาต (อาหาร) เสนาสนะ (ที่อยู่) คิลานเภสัช (ยา) รวมเรียกว่า จตุปัจจัย คือ ปัจจัย ๔, โดยปริยายหมายถึงเงินตราก็ได้ (มักใช้แก่ภิกษุสามเณร).

(3) (คำที่ใช้ในไวยากรณ์) ส่วนเติมท้ายธาตุหรือศัพท์เพื่อแสดงความหมายเป็นต้น. (ป.).

(๒) “อาการ” 

บาลีอ่านว่า อา-กา-ระ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ปัจจัย, ลบ , ยืดเสียง อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (กรฺ > การ)

: อา + กรฺ = อากรฺ + = อากรณ > อากร > อาการ แปลตามศัพท์ว่า “การทำทั่วไป” 

อาการ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ – 

(1) ภาวะ, สภาพ (state, condition)

(2) คุณสมบัติ, คุณภาพ, ลักษณะประจำตัว (property, quality, attribute)

(3) ลักษณะ, รูปร่างหน้าตา, รูป (sign, appearance, form)

(4) วิธี, รูปลักษณะ, อาการ (way, mode, manner)

(5) เหตุผล, หลักฐาน, เรื่องราว (reason, ground, account)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “อาการ” ไว้ดังนี้ –

(1) สภาพที่เป็นอยู่หรือที่เป็นไป เช่น อาการซึมเศร้า.

(2) กิริยาท่าทาง เช่น อาการตื่นเต้น.

(3) ความรู้สึก สิ่งที่ปรากฏ หรือภาวะผิดปรกติในร่างกายที่บ่งบอกความมีโรค เช่น อาการเจ็บคอ อาการเจ็บหน้าอก อาการชักกระตุก.

(4) ลักษณะเดียวกัน เช่น โดยอาการนั้น.

(5) ส่วนของร่างกายรวมทั้งอวัยวะภายนอก อวัยวะภายใน และสิ่งที่เกี่ยวเนื่องภายในร่างกายซึ่งทางพระพุทธศาสนานิยมว่ามี ๓๒ อย่าง เรียกว่า อาการ ๓๒ เช่น ผม เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก จนถึงน้ำมูตร (น้ำปัสสาวะ) และเยื่อในสมอง.

ปจฺจย + อาการ = ปจฺจยาการ (ปัด-จะ-ยา-กา-ระ) แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่เป็นปัจจัย (แก่กันและกัน)” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปจฺจยาการ” ว่า แบบของปัจจัย, คือ ปฏิจฺจสมุปฺปาท (the mode of causes, i. e. the Paṭiccasamuppāda)

บาลี “ปจฺจยาการ” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “ปัจยาการ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

ปัจยาการ : (คำแบบ) (คำนาม) อาการที่เป็นเหตุต่อเนื่องกัน คือ ปฏิจจสมุปบาท. (ป. ปจฺจยาการ).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต สะกดคำนี้เป็น “ปัจจยาการ” บอกไว้ดังนี้ –

ปัจจยาการ : อาการที่เป็นปัจจัยแก่กัน, หมายถึง ปฏิจจสมุปบาท.”

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [340] บอกความหมายของ “ปัจจยาการ” ว่า “ปัจจยาการ อาการที่สิ่งทั้งหลายเป็นปัจจัยแก่กัน (mode of conditionality; structure of conditions)”

ตามที่ทราบกัน “ปัจจยาการ” มี 12 หัวข้อ พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แสดงรายละเอียดของ “ปัจจยาการ” ไว้ดังนี้ –

…………..

1.–2. อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เพราะ อวิชชา เป็นปัจจัย สังขาร จึงมี (Dependent on Ignorance arise Kamma-Formations.)

3. สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณ จึงมี (Dependent on Kamma-Farmations arises Consciousness.)

4. วิญฺญาณปจฺจยา นามรูปํ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูป จึงมี (Dependent on Consciousness arise Mind and Matter.)

5. นามรูปปจฺจยา สฬายตนํ เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะ จึงมี (Dependent on Mind and Matter arise the Six Sense-Bases.)

6. สฬายตนปจฺจยา ผสฺโส เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะ จึงมี (Dependent on the Six Sense-Bases arises Contact.)

7. ผสฺสปจฺจยา เวทนา เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนา จึงมี (Dependent on Contact arises Feeling.)

8. เวทนาปจฺจยา ตณฺหา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหา จึงมี (Dependent on Feeling arises Craving.)

9. ตณฺหาปจฺจยา อุปาทานํ เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทาน จึงมี (Dependent on Craving arises Clinging.)

10. อุปาทานปจฺจยา ภโว เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพ จึงมี (Dependent on Clinging arises Becoming.)

11. ภวปจฺจยา ชาติ เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติ จึงมี (Dependent on Becoming arises Birth.)

12. ชาติปจฺจยา ชรามรณํ เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ จึงมี (Dependent on Birth arise Decay and Death.)

โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสา สมฺภวนฺติ

ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส และความคับแค้นใจ ก็มีพร้อม

(There also arise sorrow, lamentation, pain, grief and despair.)

เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส สมุทโย โหติ.

ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ จึงมีด้วยประการฉะนี้

(Thus arises this whole mass of suffering.)

แสดงตามลำดับ จากต้นไปหาปลายอย่างนี้ เรียกว่า อนุโลมเทศนา (teaching in forward order) ถ้าแสดงย้อนกลับจากปลายมาหาต้น ว่า ชรามรณะเป็นต้น มีเพราะชาติเป็นปัจจัย ชาติมีเพราะภพเป็นปัจจัย ฯลฯ สังขารมีเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย เรียกว่า ปฏิโลมเทศนา (teaching in

backward order) 

…………..

ดูเพิ่มเติม: “ปฏิจจสมุปบาท” บาลีวันละคำ (1,726) 24-2-60 

…………..

ดูก่อนภราดา!

: รอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาล ก็ดี

: แต่ลงมือทำเองด้วย ดีกว่า

#บาลีวันละคำ (3,405)

8-10-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *