กุลสตรี (บาลีวันละคำ 3,139)
กุลสตรี
คือสตรีเช่นไร
อ่านว่า กุน-ละ-สัด-ตฺรี ก็ได้
อ่านว่า กุน-ละ-สะ-ตฺรี ก็ได้
(ตามพจนานุกรมฯ)
ประกอบด้วยคำว่า กุล + สตรี
(๑) “กุล”
บาลีอ่านว่า กุ-ละ รากศัพท์มาจาก กุลฺ (ธาตุ = ผูก, พัน, นับ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ
: กุลฺ + ณ = กุล แปลตามศัพท์ว่า “เชื้อสายที่เป็นเครื่องผูกพัน” “เชื้อสายที่ผูกพันกัน” “เชื้อสายอันเขานับรวมไว้”
“กุล” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง –
(1) ตระกูล, วงศ์, สกุลผู้ดี (clan, a high social grade, good family)
(2) ครอบครัว, บ้าน, ประชาชน (household, house, people)
(๒) “สตรี”
บาลีเป็น “อิตฺถี” (อิด-ถี) รากศัพท์มาจาก อิสฺ (ธาตุ = ปรารถนา, ชอบใจ) + ถี ปัจจัย, แปลง สฺ เป็น ตฺ, นัยหนึ่งลง ตฺถี ปัจจัย, ลบที่สุดธาตุ (อิสฺ > อิ)
: (1) อิสฺ + ถี = อิสฺถี > อิตฺถี
: (2) อิสฺ + ตฺถี = อิสฺตฺถี > อิตฺถี
“อิตฺถี” แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้ปรารถนาชาย” (2) “ผู้อันชายปรารถนา” (3) “ผู้ทำให้ชายปรารถนา”
บาลี “อิตฺถี” สันสกฤตเป็น “สฺตฺรี” ในที่นี้ภาษาไทยใช้เป็น “สตรี”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สตรี : (คำนาม) ผู้หญิง, เพศหญิง, คู่กับ บุรุษ, (ใช้ในลักษณะที่สุภาพ). (ส.; ป. อิตฺถี, ถี).”
………….
อภิปรายแทรก :
นักภาษาสันนิษฐานว่าคำว่า “สตรี” อาจมีรากศัพท์มาจาก “สาตุห” ฝรั่งแปลว่า uterus (มดลูก) หรือ “ศี” to sow or produce (หว่าน หรือ ผลิต)
ในภาษาไทยมีคำว่า “ศรี” แปลว่า ผู้หญิง ซึ่งน่าจะเป็นคำเดียวกับ “ศี” ที่ฝรั่งอ้าง แต่พจนานุกรมฯ บอกเหมือนจะให้เข้าใจว่า “ศรี” มาจากคำเขมรว่า “สี”
ในภาษาไทยยังมีคำว่า “อิสตรี” และ “อิสัตรี” หมายถึง ผู้หญิง
ดูตามรูปแล้ว “อิสตรี” หรือ “อิสัตรี” เหมาะที่จะเป็นสันสกฤต คือ “อิตฺถี” ในบาลีเป็น “อิสฺตรี” ในสันสกฤต
แต่สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีแต่ “สฺตรี” ไม่มี “อิสฺตรี”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ก็บอกว่า “itthi & Itthī” ในบาลี เป็น “strī” ในสันสกฤต ไม่มีบอกว่าเป็น “istrī”
คงต้องขอแรงผู้เชี่ยวชาญสันสกฤตว่า สันสกฤตมี “อิสฺตรี” ที่แปลว่า ผู้หญิง หรือไม่ ถ้ามีก็ได้คำตอบ แต่ถ้าไม่มี ก็ต้องสืบหากันต่อไปว่า “อิสตรี” หรือ “อิสัตรี” มาจากภาษาอะไร หรือว่าเป็นสันสกฤตปลอม?
กุล + สตรี = กุลสตรี
“กุลสตรี” ถ้าแปลงกลับเป็นบาลีทั้ง 2 คำ ก็ต้องเป็น “กุลิตฺถี” คือ กุล + อิตฺถี = กุลิตฺถี (กุ-ลิด-ถี) แปลว่า “หญิงในตระกูล” หรือ “หญิงของตระกูล”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กุลิตฺถี” ว่า a wife of good descent (ภรรยาของตระกูลที่ดี, สตรีของตระกูลที่ดี)
บาลี “กุลิตฺถี” ตรงกับที่เราใช้ในภาษาไทยว่า “กุลสตรี”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กุลสตรี : (คำนาม) หญิงผู้มีตระกูลและมีความประพฤติดี.”
อภิปราย :
คำเก่าๆ เมื่อกล่าวถึงลักษณะของ “กุลสตรี” มักจะพูดว่า “เรียบร้อยเหมือนผ้าพับไว้” “รักนวลสงวนตัว” และคุณสมบัติที่ดีเด่นก็คือ “เป็นแม่บ้านแม่เรือน”
หน้าที่ของกุลสตรีตามค่านิยมในสังคมเก่า คือ ดูแลงานภายในบ้านเรือน งานหลักคืออาหารและเสื้อผ้า ดังที่ในการเรียนวิชาชีพของสตรี ถ้าพูดว่าเรียนคหกรรม (คือคหกรรมศาสตร์) คนก็จะถึงอาหารและโภชนาการ ผ้าและเครื่องแต่งกายเป็นหลัก นี่ก็คืองานของแม่บ้านแม่เรือน หรืองานหลักของ “กุลสตรี” นั่นเอง
ปัจจุบันภาพของ “กุลสตรี” ตามค่านิยมเดิมคงเปลี่ยนไปหมดแล้ว
ยังไม่เคยได้ยินว่ามีใครกำหนดขึ้นไว้ว่า “กุลสตรี” ตามค่านิยมใหม่มีคุณสมบัติเช่นไรบ้าง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ค่านิยมของกุลสตรีจะเคลื่อนที่ไปสักเท่าไร
: ก็ขออย่าให้หัวใจเคลื่อนที่ไปจากคุณธรรม
#บาลีวันละคำ (3,139)
15-1-64