บาลีวันละคำ

ครุภาระ (บาลีวันละคำ 3,140)

ครุภาระ

ภาระของครู

อ่านว่า คะ-รุ-พา-ระ

ประกอบด้วยคำว่า ครุ + ภาระ

(๑) “ครุ” (คะ-รุ) รากศัพท์มาจาก –

(1) ครฺ (ธาตุ = ไหลไป; ลอยขึ้น) + อุ ปัจจัย

: ครฺ + อุ = ครุ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่เลื่อนไหลกว้างขวางไป” (2) “ผู้ลอยเด่น

(2) คิรฺ (ธาตุ = คาย, หลั่ง) + อุ ปัจจัย, ลบสระต้นธาตุ (คิรฺ > ครฺ)

: คิรฺ + อุ = คิรุ > ครุ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้คายความรักให้หมู่ศิษย์” (2) “ผู้หลั่งความรักไปในหมู่ศิษย์

ครุ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) หนัก, น้ำหนักบรรทุก (heavy, a load)

(2) สำคัญ, ควรเคารพ, พึงเคารพ (important, venerable, reverend)

(3) คนที่ควรนับถือ, ครู (a venerable person, a teacher)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) ครุ ๒ : (คำวิเศษณ์) หนัก, ใช้ในตําราฉันทลักษณ์ หมายถึง พยางค์ที่มีเสียงหนัก ได้แก่ พยางค์ที่ประกอบด้วยสระเสียงยาวและสระเกินทั้ง ๔ คือ สระอำ ใอ ไอ เอา เช่น ตา ดำ (สระอำถือเป็น ครุ ก็ได้ ลหุ ก็ได้) และพยางค์ที่มีตัวสะกดทั้งสิ้น เช่น หัด เรียน ใช้เครื่องหมาย (ไม้หันอากาศ) แทน, คู่กับ ลหุ ซึ่งใช้เครื่องหมาย (สระอุ) แทน. (ป. ครุ ว่า หนัก; สำคัญ, ควรเคารพ, มีค่าสูง; ส. คุรุ ว่า หนัก; สำคัญ, ควรเคารพ, มีค่าสูง).

(2) ครุ ๓ : (คำนาม) ครู. (ป. ครุ, คุรุ, ว่า ครู; ส. คุรุ ว่า ครู).

(๒) “ภาระ

เขียนแบบบาลีเป็น “ภาร” อ่านว่า พา-ระ รากศัพท์มาจาก ภรฺ (ธาตุ = เลี้ยงดู, ทรงไว้) + ปัจจัย, ลบ , “ทีฆะต้นธาตุด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” คือยืดเสียง อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (ภรฺ > ภาร)

: ภรฺ + = ภรณ > ภร > ภาร (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ทรงไว้” (สิ่งที่แบกรับน้ำหนักของสิ่งอื่นไว้) (2) “สิ่งอันเขาทรงไว้” (สิ่งที่เป็นน้ำหนักให้ผู้อื่นหรือสิ่งอื่นต้องแบกรับ)

ภาร” ในภาษาบาลี ใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) สิ่งที่นำไป, สัมภาระ (anything to carry, a load)

(2) การบรรทุก, เต็มรถคันหนึ่ง [เป็นการวัดปริมาณ] (a load, cartload [as measure of quantity])

(3) สิ่งที่ยากลำบาก, ภาระหรือหน้าที่, สิ่งที่อยู่ในการดูแล, ธุรกิจ, หน้าที่, การงาน, กิจธุระ (a difficult thing, a burden or duty, a charge, business, office, task, affair)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ภาร, ภาร-, ภาระ ๑ : (คำนาม) ของหนัก, นํ้าหนัก; ธุระที่หนัก, การงานที่หนัก; หน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ เช่น พ่อแม่มีภาระในการเลี้ยงดูลูก ครูมีภาระในการอบรมสั่งสอนศิษย์, ความรับผิดชอบ เช่น พ่อแม่ตายหมด พี่ต้องรับภาระส่งเสียเลี้ยงดูน้อง. (คำวิเศษณ์) หนัก. (ป.).”

ครุ + ภาร = ครุภาร (คะ-รุ-พา-ระ) แปลตามศัพท์ว่า “ภาระอันหนัก” (a heavy load) คำนี้ถ้าใช้ในฐานะเป็นคุณศัพท์ หมายถึง “การหอบภาระที่หนักไป” (carrying a heavy load)

ครุภาร” เขียนแบบไทยเป็น “ครุภาระ” ในที่นี้ ผู้เขียนบาลีวันละคำขออนุญาตแปลงความหมายเป็น “ภาระของครู

ครุ = ครู (a venerable person, a teacher)

ภาระ = หน้าที่ (a load, charge, office, responsibility)

ขยายความ :

ในสิงคาลกสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 11 ข้อ 200 มีพระบาลีที่แสดงภาระหรือหน้าที่ของครู ขอน้อมนำมาเสนอพร้อมทั้งคำแปลเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ข้อ [265] ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ดังต่อไปนี้ (คำแปลภาษาไทยหลังคำบาลีเป็นของผู้เขียนบาลีวันละคำ)

…………..

(1) สุวินีตํ  วิเนนฺติ : แนะนำเป็นอันดี

= ฝึกฝนแนะนำให้เป็นคนดี

(a) They train him so that he is well-trained.

(2) สุคหิตํ  คาหาเปนฺติ : ให้รับเอาไว้ได้ด้วยดี

= สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง

(b) They teach him in such a way that he understands and

remembers well what he has been taught.

(3) สพฺพสิปฺเปสุ  ตํ  สมกฺขายิโน  ภวนฺติ : เป็นผู้บอกศิษย์ด้วยดีในศิลปวิทยาทั้งหมด

= สอนศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง

(c) They thoroughly instruct him in the lore of every art.

(4) มิตฺตามจฺเจสุ  ปฏิเวเทนฺติ : ยกย่องให้ปรากฏในเพื่อนฝูง (friends & colleagues)

= ยกย่องให้ปรากฏในหมู่คณะ

(d) They introduce him to his friends and companions.

(5) ทิสาสุ  ปริตฺตาณํ  กโรนฺติ : ทำความป้องกันในทิศทั้งหลาย

= สร้างเครื่องคุ้มภัยในสารทิศ (สอนฝึกให้รู้จักเลี้ยงตัวรักษาตนในอันที่จะดำเนินชีวิตต่อไปด้วยดี รับรองความรู้ความประพฤติให้เป็นที่ยอมรับในการไปประกอบอาชีพเป็นอยู่ได้ด้วยดี)

(e) They provide for his safety and security in every quarter.

…………..

ความในใจ :

หน้าที่ของครู-หน้าที่ของศิษย์ เราเรียนกันมาตั้งแต่นักธรรมชั้นตรี ยังไม่รู้ภาษาบาลีก็เรียนเฉพาะภาษาไทย แต่ครั้นเรียนบาลี-รู้บาลีแล้วเราก็ยังไปไม่ถึงต้นฉบับคำสอน พระที่เรียนจบบาลีเอาเรื่องทิศหกมาเทศน์มาสอนก็ยังคงพูดเฉพาะคำไทยอยู่นั่นเอง ไม่เคยเห็นอ้างคำบาลี

เรื่องนี้อาจเป็นเพราะอิทธิพลแนวคิดอันน่าเจ็บปวดของท่านบางจำพวกที่ว่า พระเทศน์บาลีคำไทยคำฟังไม่รู้เรื่อง ดูเป็นว่าบาลีเป็นคำที่น่ารังเกียจ พระก็เลยพากันสอนเป็นคำไทย ไม่ใส่ใจต้นฉบับบาลี

ถ้าใครเคยฟังบรรยายคัมภีรอัลกรุอานก็จะสังเกตได้ว่า พอถึงตอนที่อ้างหลักคำสอน ผู้บรรยายจะเอ่ยเอื้อนข้อความในตัวบทจากคัมภีร์เป็นภาษาอาหรับด้วยท่วงทำนองตามแบบแผนเสมอ นั่นคือวิธีรักษาหลักคำสอนให้แม่นยำควบคู่ไปกับเรื่องที่สอน

แต่ของเราตรงกันข้าม เรารังเกียจที่จะอ้างคำบาลีกำกับไปกับเรื่องที่สอน แม้ในหลักการเรียงความแก้กระทู้ธรรมซึ่งที่แท้จริงก็คือหลักการอัญเชิญพระธรรมมาสอนจะกำหนดให้มีการยกคำบาลีที่เรียกว่า “กระทู้สวม” มารองรับ แต่ก็เป็นเพียง “พิธีการตามหลักสูตร” ในเวลาบรรยายธรรมจริงๆ แทบจะไม่มีใครยกคำบาลีมากำกับยืนยันข้อความที่ตนบรรยาย ประหนึ่งว่าเป็นการบรรยายคำสอนของตนเอง

จนกระทั่งเวลานี้ เมื่อพูดถึงหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา เราก็จะบอกอ้างกันว่า เป็นคำสอนของหลวงปู่องค์นั้น คำสอนของหลวงพ่อองค์โน้น โดยที่แทบจะไม่มีใครเฉลียวใจสงสัยบ้างเลยว่า-แล้วคำสอนของพระพุทธเจ้าผู้เป็นบรมครูของพวกเราล่ะ?

…………..

16 มกราคม

น้อมคารวะพระคุณครู

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ทำหน้าที่ทุกข้อให้ครันครบ

: ใครจะเคารพหรือไม่เคารพก็ช่างเขา

: หนักเหนื่อยไม่บ่นอดทนเอา

: เพียงเห็นเจ้าไปดี-เท่านี้พอ

#บาลีวันละคำ (3,140)

16-1-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย