หิตูปเนตา อหิตาปเนตู (บาลีวันละคำ 3,146)
หิตูปเนตา อหิตาปเนตู
คุณสมบัติของคนที่พึ่งได้
อ่านว่า หิ-ตู-ปะ-เน-ตา อะ-หิ-ตา-ปะ-เน-ตู
ประกอบด้วยคำว่า หิต + อุปเนตา อหิต + อปเนตู
(๑) “หิต”
บาลีอ่านว่า หิ-ตะ รากศัพท์มาจาก ทหฺ (ธาตุ = ทรงไว้, ตั้งไว้) + ต ปัจจัย, ลบ ท– ต้นธาตุ (ทหฺ > ห), ลง อิ อาคมหน้าปัจจัย (ทหฺ + อิ + ต)
: ทหฺ + อิ + ต = ทหิต > หิต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาตั้งไว้”
“หิต” ในบาลี ถ้าเป็นคำนาม (ปุงลิงค์) หมายถึง เพื่อน, ผู้มีบุญคุณ (a friend, benefactor) และคำนาม (นปุงสกลิงค์) หมายถึง คุณประโยชน์, พร, ความดี (benefit, blessing, good)
“หิต” ถ้าใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง มีประโยชน์, เหมาะสม, เป็นประโยชน์, เป็นมิตร (useful, suitable, beneficial, friendly)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“หิต, หิต– : (คำนาม) ความเกื้อกูล, ประโยชน์. (ป., ส.).”
(๒) “อุปเนตา”
อ่านว่า อุ-ปะ-เน-ตา ประกอบด้วยคำว่า อุป + เนตา
(ก) “อุป”
ความรู้เกี่ยวกับคำว่า “อุป-” :
“อุป-” (ขีด – ข้างหลังหมายความว่าไม่ใช้ตามลำพัง แต่ใช้นำหน้าคำอื่นเสมอ) อ่านว่า อุ-ปะ- เป็นคำจำพวกที่ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “อุปสรรค”
นักเรียนบาลีท่องจำคำแปลกันมาว่า “อุป : เข้าไป, ใกล้, มั่น”
“อุป” ในบาลีใช้ในความหมายตามบริบทต่างๆ ประมวลได้ดังนี้ –
(1) ข้างบน, บน (on upon, up)
(2) ข้างนอก (out)
(3) สุดแต่ (up to)
(4) สูงขึ้น, ข้างต้น (higher, above)
(5) ใกล้ชิด, ใกล้เคียง, ใกล้ (close by, close to, near)
(6) ทีเดียว, โดยประการทั้งปวง (quite, altogether)
(7) เกือบ, ราว ๆ, ค่อนข้าง, เล็กน้อย, รอง, โดย –, น้อย ๆ, ทำตามแบบ (nearly, about, somewhat, a little, secondary, by — , miniature, made after the style of)
(ข) “เนตา”
รูปคำเดิมเป็น “เนตุ” (เน-ตุ) รากศัพท์มาจาก นี (ธาตุ = นำไป) + ตุ ปัจจัย, แผลง อี ที่ นี เป็น เอ (นี > เน)
: นี + ตุ = นีตุ > เนตุ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้นำไป” หมายถึง ผู้นำ, ผู้ชี้ทาง, ผู้ไปก่อน (a leader, guide, forerunner)
“เนตุ” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ เปลี่ยนรูปเป็น “เนตา”
อุป + เนตุ = อุปเนตุ > อุปเนตา (อุ-ปะ-เน-ตา) แปลว่า “ผู้นำเข้าไป” คือนำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้าไปให้หรือเข้าไปหาผู้ใดผู้หนึ่ง
(๓) “อหิต”
รากศัพท์เดิมคือ น (ไม่, ไม่ใช่) + หิต แปลง น เป็น อ
: น + หิต = นหิต > อหิต มีความหมายตรงข้ามกับ “หิต” คือ ไม่ดีหรือไม่เป็นมิตร, มีอันตราย, เลว (not good or friendly, harmful, bad)
(๔) “อปเนตู”
อ่านว่า อะ-ปะ-เน-ตู ประกอบด้วยคำว่า อป + เนตู
(ก) “อป” (อะ-ปะ) เป็นคำอุปสรรค แปลว่า “ปราศ, หลีก” (away from, off)
“อป” นำหน้าคำอื่นทำให้มีความหมายในทำนองดังต่อไปนี้ – ไม่มี, หลีกไป, ทำให้พ้นไป, คร่าออกไป, นำออกไป, ผลักหรือดันออกไป, เดินออกไป, หันหรือเลี่ยงไป, ถอยไปข้างๆ, หลีกทาง
(ข) “เนตู”
รากศัพท์เหมือน “เนตา” (ดูข้างต้น) แต่ในที่นี้คงรูปเป็น “เนตุ” และทีฆะ อุ เป็น อู ด้วยเหตุผลทางฉันทลักษณ์ จึงเป็น “เนตู”
อป + เนตุ = อปเนตุ > อปเนตู แปลว่า “ผู้นำออกไป” คือนำสิ่งใดสิ่งหนึ่งออกไปจากผู้ใดผู้หนึ่ง มีความหมายตรงข้ามกับ “อุปเนตุ”
“อุปเนตุ” = ผู้นำเข้ามา
“อปเนตุ” = ผู้นำออกไป
การประสมคำ :
๑ หิต + อุปเนตุ = หิตูปเนตุ > หิตูปเนตา แปลว่า “ผู้นำเข้าไปซึ่งประโยชน์” คือ สิ่งใดเป็นประโยชน์ ก็นำสิ่งนั้นเข้าไปให้
๒ อหิต + อปเนตุ = อหิตาปเนตุ > อหิตาปเนตู แปลว่า “ผู้นำออกไปซึ่งสิ่งที่ไม่มีประโยชน์” คือสิ่งใดที่เป็นโทษ ก็นำสิ่งนั้นออกไปให้พ้น หรือกำจัดสิ่งนั้นให้หมดไป
เอา 2 คำมาพูดรวมกันเป็นลักษณะคาถา 1 บาท ด้วยเจตนาจะ “เล่นคำ” ว่า –
“หิตูปเนตา อหิตาปเนตู”
(หิ-ตู-ปะ-เน-ตา อะ-หิ-ตา-ปะ-เน-ตู)
แปลว่า “ผู้นำสิ่งที่ประโยชน์เข้ามาให้ กำจัดสิ่งที่เป็นโทษออกไป”
เป็นคุณสมบัติประการหนึ่งของพระโพธิสัตว์ ผู้นำหมู่ชน ผู้บริหารบ้านเมือง
ถ้าเทียบกับคำไทยที่เรารู้จักกันดี ก็น่าจะตรงกับคำว่า “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” อันเป็นคุณสมบัติของผู้ที่พร้อมจะเป็นที่พึ่งให้แก่ผู้อื่น หรือผู้ทำงานด้านการปกครอง
“อหิตาปเนตู” = บำบัดทุกข์
“หิตูปเนตา” = บำรุงสุข
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าที่พึ่งกลับเป็นภัย
: ก็ต้องพึ่งใจของตัวเอง
#บาลีวันละคำ (3,146)
22-1-64