ชังฆวิหาร (บาลีวันละคำ 3,147)
ชังฆวิหาร
วัดห้วยขาแข้ง หรือวัดอะไรเอ่ย?
อ่านว่า ชัง-คะ-วิ-หาน
ประกอบด้วยคำว่า ชังฆ + วิหาร
(๑) “ชังฆ”
เขียนแบบบาลีเป็น “ชงฺฆ” (ชัง-คะ) รูปคำเดิมเป็น “ชงฺฆา” (ชัง-คา) รากศัพท์มาจาก ชนฺ (ธาตุ = เกิด, ปรากฏ) + ฆ ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุแล้วแปลงเป็น งฺ และลบที่สุดธาตุ (ชนฺ > ชํนฺ > ชงฺน > ชงฺ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: ชนฺ + ฆ = ชนฺฆ > ชํนฺฆ > ชงฺนฆ > ชงฺฆ + อา = ชงฺฆา
หรือ –
: ชนฺ > ช > ชํ > ชงฺ + ฆ = ชงฺฆ + อา = ชงฺฆา
“ชงฺฆา” แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องให้เกิดการเดิน” หมายถึง แข็ง, ลำแข้ง
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ชงฺฆา” ว่า the leg, usually the lower leg [from knee to ankle] (ขา, ตามปกติ แข้ง [จากหัวเข่าถึงข้อเท้า])
บาลี “ชงฺฆา” ในภาษาไทยใช้เป็น “ชังฆ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ชังฆ– : (คำแบบ) (คำนาม) ชงฆ์, แข้ง. (ป., ส.).”
“ชังฆ” หรือ “ชงฆ์” คำนี้ก็คือที่ราชาศัพท์ใช้ว่า “พระชงฆ์”
(๒) “วิหาร”
บาลีอ่านว่า วิ-หา-ระ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + หรฺ (ธาตุ = อยู่อาศัย) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, “ทีฆะต้นธาตุ” คือ อะ ที่ ห-(รฺ) เป็น อา (หรฺ > หาร)
: วิ + หรฺ = วิหรฺ + ณ = วิหรณ > วิหร > วิหาร แปลตามศัพท์ว่า “นำอิริยาบถไปเป็นพิเศษ” หมายความว่า ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ หรือยืน เดิน นั่ง นอน อยู่ในที่นั้น อาการเช่นนั้นจึงเรียกว่า “วิหาร”
“วิหาร” ถ้าใช้เป็นอาการนาม มีความหมายว่า “การอยู่” ถ้าหมายถึงสถานที่ แปลว่า “ที่อยู่”
ในภาษาบาลี “วิหาร” ที่แปลว่า “ที่อยู่” โดยทั่วไปหมายถึง “วัด” (monastery สถานที่ทางศาสนา โดยปรกติเป็นที่อยู่ของสงฆ์) เช่น เวฬุวัน เชตวัน บุพพาราม ชีวกัมพวัน สถานที่เหล่านี้ล้วนมีฐานะเป็น “วิหาร” คือที่อยู่ของพระสงฆ์
ในภาษาไทย “วิหาร” เข้าใจกันในความหมายเฉพาะว่า อาคารที่สร้างเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป คู่กับ “โบสถ์” ซึ่งเป็นอาคารที่สร้างเพื่อเป็นที่ทำสังฆกรรม
ในภาษาไทย เฉพาะอาคารหลังเดียวในวัด (ที่ประดิษฐานพระพุทธรูป) เรียกว่า “วิหาร”
ในภาษาบาลี พื้นที่หมดทั้งวัด เรียกว่า “วิหาร”
ชงฺฆา + วิหาร = ชงฺฆาวิหาร (ชัง-คา-วิ-หา-ระ) > ชงฺฆวิหาร (ชัง-คะ-วิ-หา-ระ) เขียนแบบไทยเป็น “ชังฆวิหาร” (ชัง-คะ-วิ-หาน) แปลตามศัพท์ว่า “การอยู่ด้วยแข้ง”
หมายเหตุ : ในคัมภีร์ของไทยเรา มีทั้งที่เป็น “ชงฺฆาวิหาร” (ชัง-คา-) และที่เป็น “ชงฺฆวิหาร” (ชัง-คะ-)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ชงฺฆวิหาร” ว่า the state of walking about [like a wanderer], usually in phrase ˚ŋ anucankamati anuvicarati (การเดินไปมา [เหมือนจงกรม], ตามปกติใช้ในวลี ชงฺฆวิหารํ อนุจงฺกมติ อนุวิจรติ)
ไม่น่าเชื่อว่า พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ชังฆวิหาร” ไว้ด้วย บอกไว้ดังนี้ –
“ชังฆวิหาร : (คำนาม) การเดินไปมา.”
เป็นอันว่า “ชังฆวิหาร” ไม่ได้แปลว่า “วัดห้วยขาแข้ง” หรือวัด หรือวิหารใดๆ ทั้งสิ้น แต่หมายถึง การเดินไปมา หรือที่เราพูดกันว่า เดินยืดเส้นยืดสายเพื่อให้คลายหายเมื่อย ลักษณะเดียวกับการเดินจงกรม
…………..
ดูก่อนภราดา!
: คำบางคำไม่ได้มีความหมายเหมือนที่เราคิด ฉันใด
: คนบางคนก็ไม่ได้เป็นอย่างที่เราเข้าใจ ฉันนั้น
#บาลีวันละคำ (3,147)
23-1-64