บาลีวันละคำ

อิสตรี (บาลีวันละคำ 3,008)

อิสตรี

ยังไม่มีหลักฐานว่ามาจากไหน

อ่านว่า อิด-สัด-ตฺรี (ตามพจนานุกรมฯ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “อิสัตรี” อีกคำหนึ่ง บอกไว้ดังนี้ –

อิสตรี, อิสัตรี : (คำนาม) หญิง.”

พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกว่า “อิสตรี” และ “อิสัตรี” เป็นภาษาอะไร

ดูตามรูปแล้ว “อิสตรี” หรือ “อิสัตรี” เหมาะที่จะเป็นสันสกฤต คือ “อิตฺถี” ในบาลีเป็น “อิสฺตรี” ในสันสกฤต

แต่สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีแต่ “สฺตรี” ไม่มี “อิสฺตรี

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ก็บอกว่า “itthi & Itthī” ในบาลี เป็น “strī” ในสันสกฤต ไม่มีบอกว่าเป็น “istrī

คงต้องขอแรงผู้เชี่ยวชาญสันสกฤตให้ช่วยตอบว่า สันสกฤตมี “อิสฺตรี” ที่แปลว่า ผู้หญิง หรือไม่ ถ้ามีก็ได้คำตอบ แต่ถ้าไม่มี ก็ต้องสืบหากันต่อไป

นักภาษาสันนิษฐานว่าคำว่า “สฺตฺรี” ในสันสกฤต อาจมีรากศัพท์มาจาก “สาตุห” ฝรั่งแปลว่า uterus (มดลูก) หรือ “ศี” to sow or produce (หว่าน หรือ ผลิต)

ในภาษาไทยมีคำว่า “ศรี” แปลว่า ผู้หญิง ซึ่งน่าจะเป็นคำเดียวกับ “ศี” ที่ฝรั่งอ้าง แต่พจนานุกรมฯ บอกเหมือนจะให้เข้าใจว่า “ศรี” มาจากคำเขมรว่า “สี

อย่างไรก็ตาม “อิตฺถี” ในบาลีเป็น “สฺตรี” ในสันสกฤตแน่นอน

อิตฺถี” (อิด-ถี) รากศัพท์มาจาก อิสฺ (ธาตุ = ปรารถนา, ชอบใจ) + ถี ปัจจัย, แปลง สฺ เป็น ตฺ, นัยหนึ่งลง ตฺถี ปัจจัย, ลบที่สุดธาตุ (อิสฺ > อิ)

: (1) อิสฺ + ถี = อิสฺถี > อิตฺถี

: (2) อิสฺ + ตฺถี = อิสฺตฺถี > อิตฺถี

อิตฺถี” แปลตามรากศัพท์ ได้ดังนี้ –

1 “ผู้ปรารถนาชาย” (นเร อิจฺฉตีติ อิตฺถี)

2 “ผู้อันชายปรารถนา” (นเรหิ อิจฺฉิยตีติ อิตฺถี)

3 “ผู้ทำให้ชายปรารถนา” (นเร อิจฺฉาเปตีติ อิตฺถี)

คำแปลตามรากศัพท์ดังแสดงมานี้เป็นเหตุให้นักคิดนำไปตีความและสรุปความไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้ –

ผู้ใด –

ไม่ปรารถนาชาย 1

ชายไม่ปรารถนา 1

ไม่ทำให้ชายปรารถนา 1

ผู้นั้น ท่านว่ามิใช่ อิตถี” ดังนี้แล

อิตฺถี” ในบาลี เป็น “สฺตฺรี” ในสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

สฺตรี : (คำนาม) ‘สตรี,’ หญิงทั่วไป; a woman or female in general.”

ภาษาไทยใช้ตามสันสกฤตเป็น “สตรี” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สตรี : (คำนาม) ผู้หญิง, เพศหญิง, คู่กับ บุรุษ, (ใช้ในลักษณะที่สุภาพ). (ส.; ป. อิตฺถี, ถี).”

…………..

ดูก่อนภราดา!

สำหรับการเมือง : ท่านว่าสตางค์คืออสรพิษร้ายสุด

สำหรับบุรุษ : ท่านย่อมว่าสตรีคืออสรพิษ

แต่สำหรับบรรพชิต : ท่านว่าเป็นอสรพิษทั้งสตรีและสตางค์

#บาลีวันละคำ (3,008)

6-9-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย