บาลีวันละคำ

ประชาธิปกศักดิเดชน์ (บาลีวันละคำ 1,458)

ประชาธิปกศักดิเดชน์

อ่านว่า ปฺระ-ชา-ทิ-ปก-สัก-ดิ-เดด

ประกอบด้วย ประชา + อธิปก + ศักดิ + เดชน์

(๑) “ประชา

บาลีเป็น “ปชา” (ปะ-ชา)  รากศัพท์มาจาก (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน) + ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ ที่สุดธาตุ และ กฺวิ + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: + ชนฺ + กฺวิ = ปชนกฺวิ > ปชน > ปช + อา = ปชา

ปชา” นักเรียนบาลีมักแปลกันว่า “หมู่สัตว์” ทำให้ผู้ไม่คุ้นสำนวนบาลีเข้าใจไปว่าหมายถึงหมู่สัตว์เดรัจฉาน แต่ความจริงหมายถึง “หมู่คน” – (ดูความหมายของคำว่า “สัตว์” ที่คำว่า สตฺต บาลีวันละคำ (212) 6-12-55)

ปชา” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เกิดมาต่างกันไป” ซึ่งเป็นคำแปลที่ตรงตามสัจธรรม เพราะท่านว่าผู้คนแม้จะมีจำนวนเป็นพันล้านก็ไม่เหมือนกันเลยแม้แต่คนเดียว

ปชา” หมายถึง คน, ผู้คน, รุ่นของคน, ผู้สืบตระกูล, ลูกหลาน, สัตว์โลก, มนุษยชาติ (progeny, offspring, generation, beings, men, world, mankind)

ปชา” สันสกฤตเป็น “ปฺรชา” ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ประชา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ประชา : (คำนาม) หมู่คน เช่น ปวงประชา. (ส. ปฺรชา; ป. ปชา).”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ปฺรชา : (คำนาม) ‘ประชา,’ สันตติ, บุตร์หรือสุดา; ราษฎร, ประชาชนทั่วไป; progeny, offspring; people, subjects.”

(๒) “อธิปก

บาลีอ่านว่า อะ-ทิ-ปะ-กะ รากศัพท์มาจาก อธิ (คำอุปสรรค = ยิ่ง, ใหญ่, ทับ) + ปติ (เจ้า, นาย) + (พยัญชนะลงท้ายศัพท์ ลงแล้วศัพท์นั้นมีความหมายเท่าเดิม ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “สกรรถ” – กะ-สะ-กัด), ลบ ติ ที่ (ป)-ติ (ปติ > )

: อธิ + ปติ = อธิปติ > อธิป + = อธิปก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นใหญ่ยิ่ง” หมายถึง ผู้เป็นใหญ่, อธิปกหรือผู้ปกครอง, ผู้มีอำนาจ (mastering, ruling or governed, influenced by)

ปชา + อธิปก = ปชาธิปก > ประชาธิปก แปลว่า ผู้เป็นใหญ่แห่งหมู่ชน, ผู้เป็นใหญ่ในหมู่ชน

(๓) “ศักดิ

บาลีเป็น “สตฺติ” (สัด-ติ) รากศัพท์มาจาก –

(1) สกฺ (ธาตุ = สามารถ) + ติ ปัจจัย, แปลง กฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ (นัยหนึ่งว่า ลบ กฺ ซ้อน ตฺ)

: สกฺ + ติ = สกฺติ > สตฺติ แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่สามารถ” หมายถึง ความสามารถ, กำลัง, อำนาจ (ability, power)

(2) สสฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ติ ปัจจัย, แปลง สฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ

: สสฺ + ติ = สสฺติ > สตฺติ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เบียดเบียน” หมายถึง หอก, หลาว; มีด, กริช, ดาบ (a spear, javelin; knife, dagger, sword)

บาลี “สตฺติ” สันสกฤตเป็น “ศกฺติ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ศกฺติ : (คำนาม) ‘ศักติ,’ กำลัง, แรง, ความกล้า; หอกหรือศรเหล็ก; เตชัส (หรือเดช) ของเทพดา, อันโรปยติเปนชายาของเธอ; นัยหรือความหมายของศัพท์; power, strength, prowess; an iron spear or dart; the energy of a deity, personified as his wife; signification or meaning of words.”

ภาษาไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ศักดิ” พจน.54 บอกไว้ว่า –

ศักดิ์ : (คำนาม) อํานาจ, ความสามารถ, เช่น มีศักดิ์สูง ถือศักดิ์; กำลัง; ฐานะ เช่นมีศักดิ์และสิทธิแห่งปริญญานี้ทุกประการ; หอก, หลาว. (ส. ศกฺติ; ป. สตฺติ).”

(๔) “เดชน์

บาลีเป็น “เตชน” (เต-ชะ-นะ) รากศัพท์มาจาก ติชฺ (ธาตุ = ลับให้คม) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แผลง อิ ที่ ติ-(ชฺ) เป็น เอ (ติชฺ > เตช)

: ติชฺ + ยุ > อน = ติชน > เตชน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาเหลาให้แหลม” หมายถึง ลูกศร, ปลายลูกศร (an arrow, the point or shaft of an arrow)

สตฺติ + เตชน = สตฺติเตชน = ศักดิเดชน์ แปลว่า ลูกศรอันทรงอำนาจ

ประชาธิปกศักดิเดชน์” เป็นพระนามเดิมในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์” พระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐพระองค์ที่ 7 แห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์

30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต

หมายเหตุ: บาลีวันละคำวันนี้มีความประสงค์เพียงแปลศัพท์เป็นคำๆ เพื่อให้รู้ว่าแต่ละศัพท์แปลว่าอะไรเท่านั้น มิได้มุ่งหมายแปลความหมายรวมในพระนาม

: แม้ไม่เห็นทาง ก็หาทางออกได้อย่างวิเศษ คือผู้มีเดชน์ที่แท้จริง

: มีทางมองเห็นอยู่ตรงหน้า แต่ไม่กล้าออก คือผู้กระจอกที่แท้จริง

30-5-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย