วิหคสองเศียร (บาลีวันละคำ 3,148)
วิหคสองเศียร
คำเพราะ แต่เผ็ด
เป็นคำไทย อ่านว่า วิ-หก-สอง-เสียน
มีคำบาลี คือ “วิหค” และคำที่กลายรูปไปจากสันสกฤต คือ “เศียร”
(๑) “วิหค”
บาลีอ่านว่า วิ-หะ-คะ รากศัพท์มาจาก วิห (ฟ้า, อากาศ) + คมฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ มฺ ที่สุดที่สุดธาตุและ กฺวิ
: วิห + คมฺ = วิหคมฺ + กฺวิ = วิหคมกฺวิ > วิหคม > วิหค แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไปในท้องฟ้า” หมายถึง นก
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วิหค” ว่า a bird [lit. going through the sky] (นก [ตามตัว. ไปในท้องฟ้า])
บาลี “วิหค” สันสกฤตก็เป็น “วิหค”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน) บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“วิหค : (คำนาม) ปักษิน; พลาหก; ศร; พระอาทิตย์; พระจันทร์; ดาวพระเคราะห์; a bird; a cloud; an arrow; the sun; the moon; a planet.”
โปรดสังเกตว่า “วิหค” ในสันสกฤตมีความหมายหลากหลาย และบางความหมายก็ชวนฉงน เช่น พระอาทิตย์ กับ พระจันทร์ เป็นของตรงข้ามกัน จะรู้ได้อย่างไรว่าในที่เช่นไร “วิหค” จะหมายถึงพระอาทิตย์หรือพระจันทร์ คงต้องใช้สิ่งที่เรียกว่า “บริบท” เป็นข้อพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป
(๒) “เศียร”
สันสกฤตเป็น “ศิร” บาลีเป็น “สิร” อ่านว่า สิ-ระ รากศัพท์มาจาก สิ (ธาตุ = คบหา; ผูก, พัน) + ร ปัจจัย
: สิ + ร = สิร (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “อวัยวะเป็นเครื่องคบหา” (คือใช้ก้มยอมรับกัน) (2) “อวัยวะอันคอเชื่อมไว้” หมายถึง ศีรษะ, หัว (head)
บาลี “สิร” สันสกฤตเป็น “ศิร” และ “ศิรสฺ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน) บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ศิร, ศิรสฺ : (คำนาม) ศีร์ษะ, หัว; the head.”
ไทยเอาคำว่า “ศิร” มาแผลงเป็น “เศียร”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เศียร : (คำนาม) หัว เช่น เศียรพระพุทธรูป ทศกัณฐ์มีสิบเศียรยี่สิบกร, ราชาศัพท์ใช้ว่า พระเศียร. (ส. ศิร; ป. สิร); เรียกไพ่ตอง ๓ ใบ พวกเดียวกัน แต่ไม่เหมือนกัน เช่น ๓ คน ๓ นก ๓ ตา ว่า ๑ เศียร.”
อภิปรายขยายความ :
คำว่า “วิหคสองเศียร” นี้ ผู้เขียนบาลีวันละคำเก็บได้จากคำของญาติมิตรท่านหนึ่งซึ่งเผยแพร่ทางเฟซบุ๊กเมื่อ 27 เมษายน 2561 เป็นเวลาเกือบ 3 ปี จึงได้มีโอกาสนำมาเขียนเป็นบาลีวันละคำ
คำว่า “วิหคสองเศียร” นี้ ใครที่รู้สำนวนไทยอยู่บ้างคงนึกออกได้ไม่ยากว่า แผลงมาจากคำว่า “นกสองหัว”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นกสองหัว : (สํานวน) (คำนาม) คนที่ทําตัวฝักใฝ่เข้าด้วยทั้ง ๒ ฝ่ายที่ไม่เป็นมิตรกันโดยหวังประโยชน์เพื่อตน.”
จะเห็นได้ว่า “นกสองหัว” เป็นคำที่มีความหมายไม่สู้ดี แต่พอแปลงเป็น “วิหคสองเศียร” ก็ฟังดูเป็นคำที่ไพเราะขึ้นมา
ควรชมคนแปลง ว่าคิดคำได้เก่ง ง่ายๆ แต่ลึกซึ้ง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ศัตรูในร่างมิตร
: มีพิษกว่ามิตรในร่างศัตรู
————
(หยิบฉวยและกักตุนไว้จากโพสต์ของ วัชรวุฒิ เรือนคำ)
#บาลีวันละคำ (3,148)
24-1-64