บาลีวันละคำ

ธรรมเทสสี (บาลีวันละคำ 3,149)

ธรรมเทสสี

คำแปลกดี แปลว่าอะไร

อ่านว่า ทำ-มะ-เทด-สี

ประกอบด้วยคำว่า ธรรม + เทสสี

(๑) “ธรรม

บาลีเป็น “ธมฺม” (ทำ-มะ) รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ) และ ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)

: ธรฺ > + รมฺม > มฺม : + มฺม = ธมฺม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “กรรมที่ทรงไว้ซึ่งความดีทุกอย่าง” (หมายถึงบุญ)

(2) “สภาวะที่ทรงผู้ดำรงตนไว้มิให้ตกไปในอบายและวัฏทุกข์” (หมายถึงคุณธรรมทั่วไปตลอดจนถึงโลกุตรธรรม)

(3) “สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้บรรลุมรรคเป็นต้นมิให้ตกไปในอบาย” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

(4) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้” (หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป)

(5) “สภาวะอันพระอริยะมีโสดาบันเป็นต้นทรงไว้ ปุถุชนทรงไว้ไม่ได้” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

คำแปลตามศัพท์ที่เป็นกลางๆ “ธมฺม” คือ “สภาพที่ทรงไว้

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ สรุปความหมายในแง่หนึ่งไว้ว่า “ธมฺม” หมายถึง –

(1) doctrine (คำสอน)

(2) right or righteousness (สิทธิหรือความถูกต้อง)

(3) condition (เงื่อนไข)

(4) phenomenon (ปรากฏการณ์)

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปลคำว่า “ธมฺม” (Dhamma) เป็นอังกฤษไว้ดังนี้ –

1. the Dharma; the Dhamma; the Doctrine; the Teachings (of the Buddha).

2. the Law; nature.

3. the Truth; Ultimate Reality.

4. the Supramundane, especially nibbāna.

5. quality; righteousness; virtue; morality; good conduct; right behaviour.

6. tradition; practice; principle; norm; rule; duty.

7. justice; impartiality.

8. thing; phenomenon.

9. a cognizable object; mind-object; idea.

10. mental state; mental factor; mental activities.

11. condition; cause; causal antecedent.

บาลี “ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –

(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม

(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า

(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม

(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม

(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม

(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ

(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ

(8) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม

ในที่นี้ “ธรรม” มีความหมายเน้นที่-คําสั่งสอนและหลักประพฤติปฏิบัติในพระพุทธศาสนา

(๒) “เทสสี

เขียนแบบบาลีเป็น “เทสฺสี” (มีจุดใต้ สฺ ตัวหน้า) อ่านว่า เทด-สี รากศัพท์มาจาก ทิสฺ (ธาตุ = เกลียดชัง) + ณี ปัจจัย, ลบ (ณี > อี), แผลง อิ ที่ ทิ-(สฺ) เป็น เอ (ทิสฺ > เทส), ซ้อน สฺ หรือแปลง สฺ เป็น สฺส

: ทิสฺ + ณี > อี = ทิสี > เทสี > เทสฺสี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เกลียดชัง” หมายถึง เกลียด, รังเกียจ (hating, detesting)

ธมฺม + เทสฺสี = ธมฺมเทสฺสี (ทำ-มะ-เทด-สี) แปลว่า “ผู้เกลียดธรรม” (a hater of the Dhamma)

ธมฺมเทสฺสี” เขียนแบบไทยเป็น “ธรรมเทสสี

ขยายความ :

คำว่า “ธรรมเทสสี” ถ้าพูดขึ้นคำเดียวอาจไม่มีค่อยมีใครรู้ว่ามาจากไหน แต่ถ้าเอ่ยถึงพุทธภาษิตที่ว่า “ธมฺมกาโม ภวํ โหติ” (ทำ-มะ-กา-โม พะ-วัง โห-ติ) อาจจะช่วยให้ระลึกได้

พุทธภาษิตนี้อยู่ในปราภวสูตร คัมภีร์สุตตนิบาต ขุทกนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม 25 ข้อ 304 ข้อความเต็มๆ เป็นดังนี้ –

…………………….

สุวิชาโน  ภวํ  โหติ

สุวิชาโน  ปราภโว

ธมฺมกาโม  ภวํ  โหติ

ธมฺมเทสฺสี  ปราภโว. 

แปลว่า

ผู้เจริญรู้ได้ง่าย

ผู้เสื่อมก็รู้ได้ง่าย

ผู้ชอบธรรมเป็นผู้เจริญ

ผู้ชังธรรมเป็นผู้เสื่อม

…………………….

อภิปรายขยายความ :

พุทธภาษิตบทนี้ หนังสือพุทธศาสนสุภาษิตเล่ม 1 แบบประกอบวิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรม นักธรรมชั้นตรี ยกมาแยกกันเป็นสุภาษิต 4 บท คำบาลีและคำแปลเป็นดังนี้ –

(1) สุวิชาโน  ภวํ  โหติ.

ผู้รู้ดี เป็นผู้เจริญ

(2) ทุวิชาโน  ปราภโว.

ผู้รู้ชั่ว เป็นผู้เสื่อม

(3) ธมฺมกาโม  ภวํ  โหติ.

ผู้ชอบธรรม เป็นผู้เจริญ

(4) ธมฺมเทสฺสี  ปราภโว. 

ผู้ชังธรรม เป็นผู้เสื่อม

โปรดพิจารณาข้อหมายเลข (2) “ทุวิชาโน  ปราภโว” โดยเฉพาะคำว่า “ทุวิชาโน” พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐของไทยเรา (ปราภวสูตร คัมภีร์สุตตนิบาต ขุทกนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม 25 ข้อ 304) ก็เป็น “ทุวิชาโน”

คำว่า “ทุวิชาโน” นี้ ผู้รู้ท่านวิเคราะห์แล้วเห็นว่าเป็นบทที่พิรุธ คำที่ถูกต้องคือ “สุวิชาโน” กล่าวคือเป็น “สุวิชาโน” ทั้ง 2 บท นั่นคือ –

…………………….

สุวิชาโน  ภวํ  โหติ

สุวิชาโน  ปราภโว

…………………….

และคำว่า “สุวิชาโน” นั้น ก็ไม่ควรแปลว่า “ผู้รู้ดี” (หรือ ทุวิชาโน ผู้รู้ชั่ว) หากแต่ต้องแปลว่า “รู้ได้ง่าย

หมายความว่า ทั้งคนที่จะเจริญ (ภวํ) และคนที่จะเสื่อม (ปราภโว) ล้วนแต่รู้ได้ง่าย

รู้ได้ง่ายอย่างไร?

คำตอบก็อยู่ในข้อความ 2 วรรคต่อมา นั่นคือ –

…………………….

ธมฺมกาโม  ภวํ  โหติ

ผู้ชอบธรรมเป็นผู้เจริญ

ธมฺมเทสฺสี  ปราภโว. 

ผู้ชังธรรมเป็นผู้เสื่อม

…………………….

คัมภีร์อรรถกถา คือ ปรมัตถโชติกา ภาค 1 หน้า 228-229 ก็อธิบายความหมายเป็นดังว่านี้

ถ้าจะอ่านที่แปลเป็นภาษาไทย ก็อ่านได้ที่พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล (ชุด 91 เล่ม) เล่ม 46 หน้า 316

ปักป้ายบอกทางให้แล้ว ผู้ปรารถนาความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องพึงตามไปศึกษาตรวจสอบดูเถิด

…………..

คำว่า “ธรรมเทสสี” เป็นคำที่มาคู่กับ “ธรรมกาม” (ทำ-มะ-กาม, คำบาลีว่า “ธมฺมกาโม” -ดูข้างต้น)

มีข้อน่าสังเกตนิดหนึ่งว่า พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ธรรมกาม” ไว้ บอกไว้ดังนี้ –

ธรรมกาม : (คำนาม) ผู้ใคร่ธรรม, ผู้รักในธรรมะ. (ส.; ป. ธมฺมกาม).”

แต่ไม่ได้เก็บคำว่า “ธรรมเทสสี” ไว้ด้วย

ดูเพิ่มเติม: “ธรรมกาม” บาลีวันละคำ (2,180) 1-6-61

…………..

ดูก่อนภราดา!

: แม้แต่ผู้ที่ไม่ชอบธรรม

: ก็ไม่ชอบผู้ที่ไม่ชอบธรรม

…………..

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/1755828724510857

…………..

#บาลีวันละคำ (3,149)

25-1-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย