โสตถิ์เทอญ (บาลีวันละคำ 3,155)
โสตถิ์เทอญ
มีความหมายว่าอย่างไร
อ่านว่า โสด-เทิน
ประกอบด้วยคำว่า โสตถิ์ + เทอญ
(๑) “โสตถิ์”
อ่านว่า โสด เขียนแบบบาลีเป็น “โสตฺถิ” (มีจุดใต้ ต ไม่มีการันต์ที่ –ถิ) อ่านว่า โสด-ถิ รากศัพท์มาจาก สุ + อตฺถิ
(ก) “สุ” เป็นคำที่ภาษาบาลีไวยากรณ์เรียกว่า “อุปสรรค” คือคำที่ใช้ประกอบข้างหน้าคำนามหรือกริยาให้มีความหมายยักเยื้องออกไป นักเรียนบาลีแปลกันว่า ดี, งาม, ง่าย
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายของ “สุ-” ไว้ว่า well, happily, thorough (ดี, อย่างมีสุข, ทั่วถึง)
(ข) “อตฺถิ” เป็นคำกริยา รากศัพท์มาจาก อสฺ (ธาตุ = มี, เป็น) + อ (อะ) ปัจจัยประจำหมวดธาตุ + ติ วิภัตติอาขยาต ปฐมบุรุษ เอกพจน์, ลบที่สุดธาตุ (อสฺ > อ), แปลง ติ เป็น ตฺถิ
: อสฺ > อ + อ + ติ = อติ > อตฺถิ แปลว่า ย่อมมี, ย่อมเป็น
สุ + อตฺถิ แผลง อุ ที่ สุ เป็น โอ (สุ > โส)
: สุ + อตฺถิ = สุตฺถิ > โสตฺถิ แปลตามศัพท์ว่า “มีดี” หรือ “เป็นดี” หมายถึง ความสวัสดี, ความรุ่งเรือง, ความปลอดภัย; การอยู่ดี, การได้รับพร (well-being, prosperity, safety; well-being, blessing)
บาลี “โสตฺถิ” สันสกฤตเป็น “สฺวสฺติ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน เก็บคำว่า “สฺวสฺติ” ไว้ 2 คำ บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
(1) สฺวสฺติ : (คำนาม) นิบาตคือคำอวยชัยให้พร; มงคลนิบาต (ดุจคำว่า – ‘สวัสติ’ จงเปนสุขๆ); ธันยวาทศัพท์; a particle of benediction; an auspicious particle (as- ‘adieu, farewell’); a term of approbation.
(2) สฺวสฺติ : (คำกริยาวิเศษณ์) ‘สวัสติ’ จงเปนสุขๆ, ‘จงสวัสดีมีชัย’ ก็ใช้ตามมติไท [ตามมติสํสกฤตเปน-สฺวสฺติ, ภทฺรํ ภูยาตฺ, ฯลฯ]; adieu, farewell.
โสตฺถิ > สฺวสฺติ ก็คือที่มาของคำที่เราใช้ในภาษาไทยว่า “สวัสดี”
บาลี “โสตฺถิ” ภาษาไทยใช้เป็น “โสตถิ” ตามบาลีก็มี พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“โสตถิ : (คำนาม) ความสวัสดี, ความเจริญรุ่งเรือง, เช่น เป็นประโยชน์โสตถิผล. (ป.; ส. สฺวสฺติ).”
“โสตถิ” ในภาษาไทย เมื่อต้องการให้เป็นคำพยางค์เดียวจึงใส่การันต์ที่ –ถิ เป็น “โสตถิ์” อ่านว่า โสด
(๒) “เทอญ”
อ่านว่า เทิน เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เทอญ : (คำวิเศษณ์) เถิด (ใช้เป็นคําลงท้ายข้อความที่แสดงความมุ่งหมายให้เป็นดังนั้นดังนี้, มักใช้ในการให้ศีลให้พร).”
โสตถิ์ + เทอญ = โสตถิ์เทอญ (โสด-เทิน) มีความหมายว่า “ขอให้มีความสวัสดีเถิด” หรือ “ขอให้มีความเจริญรุ่งเรืองเถิด”
คำว่า “โสตถิ์เทอญ” มีความหมายเทียบเท่าคำบาลีเต็มประโยคดังข้อความในคาถาบาทหนึ่งที่เราคุ้นกันดี เพราะอยู่ในบทอนุโมทนาที่พระสงฆ์สวดในพิธี นั่นคือข้อความว่า –
“สทา โสตฺถี ภวนฺตุ เต”
(สะทา โสตถี ภะวันตุ เต)
แปลว่า “ขอความสวัสดีทั้งหลายจงมีแก่ท่านทุกเมื่อเทอญ”
มีผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า May security and prosperity accompany you at all times and in all situations.
คำว่า “โสตถิ์เทอญ” ในภาษาไทย พบว่านิยมใช้ในบทร้อยกรองประเภทร่ายและโคลง โดยใช้เป็นคำลงท้ายเมื่อจบบทที่มีความหมายอันแสดงถึงความสุข ความปลื้มใจ อิ่มใจ
ตัวอย่างเช่น บทร่ายสุภาพชื่อ “เรือพระที่นั่ง” ของ นภาลัย สุวรรณาดา มีข้อความดังนี้ –
…………..
แลเรือสุพรรณหงส์..นารายณ์ทรงสุบรรณ..อนันตนาคราช
อเนกชาติภุชงค์……งามผจงแจ่มฟ้า…….ชะลอหล้าแลตะลึง
ตราตรึงหัวใจภักดิ์…อุ่นไอรักอุ่นเกล้า…..บุญยิ่งบุญผ่านเผ้า
เกริกฟ้าทรงเกษม…โสตถิ์เทอญ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: สิ้นเดือนมกรอุ่นเกล้า…สิ้นโรคสิ้นโศกเศร้า
: สว่างร้อนแรงเกษม…..โสตถิ์เทอญ
#บาลีวันละคำ (3,155)
31-1-64