ภูมิพลมหาราช (บาลีวันละคำ 2,314)
ภูมิพลมหาราช
ถวายอาศิรวาทผ่านบาลีวันละคำ
อ่านว่า พู-มิ-พน-มะ-หา-ราด
ประกอบด้วยคำว่า ภูมิ + พล + มหา + ราช
(๑) “ภูมิ”
บาลีอ่านว่า พู-มิ รากศัพท์มาจาก ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + มิ ปัจจัย
: ภู + มิ = ภูมิ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สถานที่มีอยู่เป็นอยู่แห่งสัตว์โลก” มีความหมายหลายอย่าง กล่าวคือ พื้นดิน, ดิน, แผ่นดิน, สถานที่, ถิ่น, แคว้น, แถบ, ภูมิภาค, พื้น, พื้นราบ, ขั้นตอน, ระดับ (ground, soil, earth, place, quarter, district, region, plane, stage, level)
ในภาษาไทยใช้ทับศัพท์ว่า “ภูมิ” เหมือนบาลี ถ้าอยู่ท้ายคำอ่านว่า พูม ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย อ่านว่า พู-มิ-
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “ภูมิ” ในภาษาไทยไว้ว่า แผ่นดิน, ที่ดิน; พื้น, ชั้น, พื้นเพ; ความรู้; สง่า, โอ่โถง, องอาจ, ผึ่งผาย
(๒) “พล”
บาลีอ่านว่า พะ-ละ รากศัพท์มาจาก พลฺ (ธาตุ = มีชีวิต, ระวัง, ครอบงำ) + อ ปัจจัย
: พล + อ = พล (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “เหตุอันทำให้มีชีวิตอยู่ได้” “ผู้เฝ้าระวัง” “ผู้ครอบงำศัตรู”
“พล” ใช้ในความหมาย 2 อย่างคือ –
(1) ความแข็งแรง, พลัง, อำนาจ (strength, power, force)
(2) กองทัพ, กองกำลังทหาร (an army, military force)
ภูมิ + พล = ภูมิพล แปลตามศัพท์ว่า “กำลังของแผ่นดิน”
(๓) “มหา”
ศัพท์เดิมในบาลีเป็น “มหนฺต” (มะ-หัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก มหฺ (ธาตุ = เจริญ, ขยายตัว) + อนฺต ปัจจัย
: มหฺ + อนฺต = มหนฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายตัว” มีความหมายว่า ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต; มาก; สำคัญ, เป็นที่นับถือ (great, extensive, big; much; important, venerable)
“มหนฺต” เมื่อผ่านกรรมวิธีทางไวยากรณ์ได้รูปเป็น “มหา-” มักใช้เป็นส่วนหน้าของสมาส
(๓) “ราช”
บาลีอ่านว่า รา-ชะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + อ (ปัจจัย) = ราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก” หมายความว่า ผู้เป็นพระราชาย่อมมีเดชานุภาพมากกว่าคนทั้งหลาย
(2) รญฺชฺ (ธาตุ = ยินดี พอใจ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ ลบ ญฺ แผลง ร เป็น รา
: รญฺชฺ + ณ = รญฺชณ > รญฺช > รช > ราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี” หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ)
ท่านพุทธทาสภิกขุให้คำจำกัดความ “ราช” หรือ “ราชา” ว่าคือ “ผู้ที่ทำให้ประชาชนร้องออกมาว่า พอใจ พอใจ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ราช ๑, ราช– : (คำนาม) พระเจ้าแผ่นดิน, พญา (ใช้แก่สัตว์) เช่น นาคราช คือ พญานาค สีหราช คือ พญาราชสีห์, คํานี้มักใช้ประกอบกับคําอื่น, ถ้าคําเดียวมักใช้ว่า ราชา. (ป., ส.).”
“ราช” ความหมายตรงๆ ที่เข้าใจกัน คือ พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน
มหนฺต > มหา + ราช = มหาราช แปลตามศัพท์ว่า “พระราชาผู้ยิ่งใหญ่” (great king)
“มหาราช” บาลีอ่านว่า มะ-หา-รา-ชะ ภาษาไทยอ่านว่า มะ-หา-ราด
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มหาราช : (คำนาม) คำซึ่งมหาชนถวายเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์; ชื่อธงประจำพระองค์พระมหากษัตริย์เรียกว่า ธงมหาราช; ชื่อกัณฑ์ที่ ๑๑ ของมหาชาติ.”
…………..
ถวายพระราชกุศลแด่องค์ “ภูมิพลมหาราช”
๏ ขอเดชะพระกุศล……..อุทิศผลแผ่ไพศาล
ปฏิบัติธรรมนำบุญทาน….แด่ภูบาลมหาราชา
๏ ศีลสัตย์คือสายสร้อย…บรรจงร้อยแทนมาลา
บุญผองบำเพ็ญมา………น้อมบูชาเป็นราชพลี
๏ เดชะพระไตรรัตน์……..พระปรมัตถบารมี
เทวาทุกราศี……………..อัญเชิญช่วยอวยบุญถวาย
๏ ทวยเทพซึ่งเสพทิพย์…สิบหกชั้นอันเฉิดฉาย
อัญเชิญพระฤๅสาย………ทรงสถิตดุสิตสวรรค์
๏ ทวยไทยในใต้หล้า……น้อมบูชาองค์ราชัน
กี่ปีกี่เดือนวัน……………..พระจอมธรรม์อยู่กลางใจ
๏ ทุกหน้าในธรณี………..น้อมภักดีทุกชาติไป
พระบารเมศคุ้มเขตไทย…ทุกทิพาราตรีกาล
๏ พระประสงค์ทุกสิ่งเสร็จ..แม้สรรเพชญพระโพธิญาณ
บันเทิงทิพย์พิมาน………..เสวยสวรรค์นิรันดร์เทอญ๚ะ๛
…………..
13 ตุลาคม วันคล้ายวันสวรรคต
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
…………..
#บาลีวันละคำ (2,314)
13-10-61