บาลีวันละคำ

ภูมิสถาปัตย์ (บาลีวันละคำ 3,167)

ภูมิสถาปัตย์

วิชาจัดสิ่งแวดล้อมให้ดูดี

ประกอบด้วยคำว่า ภูมิ + สถาปัตย์

(๑) “ภูมิ

บาลีอ่านว่า พู-มิ รากศัพท์มาจาก ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + มิ ปัจจัย

: ภู + มิ = ภูมิ แปลตามศัพท์ว่า “สถานที่มีอยู่เป็นอยู่แห่งสัตว์โลก” มีความหมายหลายอย่าง กล่าวคือ พื้นดิน, ดิน, แผ่นดิน, สถานที่, ถิ่น, แคว้น, แถบ, ภูมิภาค, พื้น, พื้นราบ, ขั้นตอน, ระดับ (ground, soil, earth, place, quarter, district, region, plane, stage, level)

ในภาษาไทยใช้ทับศัพท์ว่า “ภูมิ” เหมือนบาลี ถ้าอยู่ท้ายคำอ่านว่า พูม ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย อ่านว่า พู-มิ-

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “ภูมิ” ในภาษาไทยไว้ว่า (1) แผ่นดิน, ที่ดิน (2) พื้น, ชั้น, พื้นเพ; ความรู้ (3) สง่า, โอ่โถง, องอาจ, ผึ่งผาย

ในที่นี้ “ภูมิ” หมายถึง แผ่นดิน, ที่ดิน

(๒) “สถาปัตย์” เป็นรูปคำสันสกฤต “สฺถาปตฺย

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “สฺถาปตฺย” บอกไว้ว่า –

สฺถาปตฺย : (คำนาม) ‘สถาบัตย์,’ ผู้ระวังรักษาห้องนางใน; a guard of the women’s apartment.”

ความหมายเป็นคนละเรื่องกับ  “สถาปัตย” ที่เข้าใจกันในภาษาไทย

สฺถาปตฺย” แปลกลับเป็นบาลีที่ใกล้ที่สุดคือ ฐปิต > ฐาปิจฺจ > สฺถาปตฺย

(ก) “ฐปิต” (ถะ-ปิ-ตะ) รากศัพท์มาจาก ฐา (ธาตุ = วาง, ตั้ง, ยืน) แปลง ฐา เป็น ฐปฺ + อิ อาคม + ปัจจัย

: ฐา > ฐปฺ + อิ = ฐปิ + = ฐปิต เป็นคำกริยาอดีตกาล กรรมวาจก แปลตามศัพท์ว่า “ถูกตั้งไว้” ใช้ในความหมายว่า –

(1) วางไว้, วางลง; ตั้งไว้, จัด (placed, put down; set up, arranged)

(2) พักไว้, เหลือไว้, เอาไว้ต่างหาก (suspended, left over, set aside)

(ข) “ฐาปิจฺจ” (ถา-ปิด-จะ) มาจาก ฐปิต + ณฺย ปัจจัย, ลบ , แปลง ตฺย (คือ – ที่ ฐปิต + ที่ ณฺย) เป็น จฺจ, ทีฆะต้นศัพท์ คือ เป็น ฐา

: ฐปิต + ณฺย = ฐปิตณฺย > ฐปิตฺย > ฐาปิจฺจ แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะแห่งสิ่งที่ถูกตั้งขึ้น

บาลี “ฐาปิจฺจ” เป็น “สฺถาปตฺย” ในสันสกฤต

โปรดทราบว่า ที่ว่ามานี้เป็นการเทียบศัพท์เท่านั้น ในบาลียังไม่พบคำว่า “ฐาปิจฺจ” ที่มีความหมายเหมือน “สฺถาปตฺย” แต่ประการใด

ภูมิ + สถาปัตย์ = ภูมิสถาปัตย์ แปลความว่า “ศิลปะและวิทยาเกี่ยวกับการจัดผังวางแผนปรับแต่งพื้นที่

อภิปรายขยายความ :

ภูมิสถาปัตย์” เป็นคำที่ตัดมาจากคำเต็มว่า “ภูมิสถาปัตยกรรม” (พู-มิ-สะ-ถา-ปัด-ตะ-ยะ-กำ) เป็นศัพท์ที่บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า landscape architecture

คำว่า landscape ภาษาไทยบัญญัติว่า “ภูมิทัศน์” (ดู “ภูมิทัศน์” บาลีวันละคำ (1,145) 14-7-58)

คำว่า architecture ภาษาไทยบัญญัติว่า “สถาปัตยกรรม” (ดู “สถาปัตยกรรม” บาลีวันละคำ (1,307) 27-12-58)

คำอังกฤษว่า landscape architecture ถ้าเอาศัพท์บัญญัติเป็นไทย 2 คำว่ารวมกันเป็น “ภูมิทัศน์สถาปัตยกรรม” คงเป็นคำที่รุงรังพอสมควรทีเดียว คนที่คิดคำนี้จึงใช้คำไทยว่า “ภูมิสถาปัตยกรรม” แล้วนิยมตัดคำลงเหลือเพียง “ภูมิสถาปัตย์

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (อ่านเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 20:30 น.) ที่คำว่า “ภูมิสถาปัตยกรรม” บอกไว้ว่า –

…………..

ภูมิสถาปัตยกรรม” เป็นศิลปะและวิทยาศาสตร์ว่าด้วยการออกแบบวางแผน การอนุรักษ์และจัดการพื้นที่ใช้สอยภายนอกอาคาร รวมทั้งพื้นที่บางส่วนภายในหรือบนดาดฟ้าอาคารเพื่อความผาสุก สวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชน

…………..

คำว่า “ภูมิสถาปัตยกรรม” หรือ “ภูมิสถาปัตย์” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 และศัพท์บัญญัติฉบับราชบัณฑิตยสถานที่ผู้เขียนบาลีวันละคำมีอยู่ในมือก็ยังไม่มีคำนี้เช่นกัน

บาลีวันละคำนำมาเสนอพอเป็นพื้นฐานทางภาษาเป็นเบื้องต้น ส่วนรายละเอียดทางหลักวิชาเป็นภาระของผู้ปรารถนาเรียนรู้จะพึงศึกษากันต่อไป

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เมืองไม่เป็นพิษ ถ้ารู้จักวางผัง

: ชีวิตไม่พัง ถ้ารู้จักวางแผน

——————–

ภาพประกอบ: https://www.facebook.com/TALAlandscape/posts/10160942310490122/

#บาลีวันละคำ (3,167)

12-2-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย