ถนนเฉลิมบูรพาชลทิต (บาลีวันละคำ 3,169)
ถนนเฉลิมบูรพาชลทิต
“ชลทิต” แปลว่าอะไร?
อ่านว่า ถะ-หฺนน-ฉะ-เหลิม-บู-ระ-พา-ชน-ละ-ทิด
“ถนน” “เฉลิม” เป็นคำไทย
คำที่ควรพิจารณาคือ “บูรพาชลทิต” แยกคำเป็น บูรพา + ชลทิต
(๑) “บูรพา”
บาลีเป็น “ปุพฺพ” (ปุบ-พะ) รากศัพท์มาจาก ปุพฺพฺ (ธาตุ = เต็ม) + อ (อะ) ปัจจัย
: ปุพฺพฺ + อ = ปุพฺพฺ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่เต็ม”
“ปุพฺพฺ” ในบาลีที่ใช้เป็นคุณศัพท์ มีความหมายดังนี้ –
(1) อดีต, แต่ก่อน, ก่อน (previous, former, before)
(2) ตะวันออก (“ทิศเบื้องหน้า”) (the East)
“ปุพฺพ” สันสกฤตเป็น “ปูรฺว”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ปูรฺวฺว, ปูรฺว : (คำวิเศษณ์) ประถม, แรก, ก่อน; ฝ่ายตวันออก; ทั้งสิ้น, สกล; first, former, prior, initial; eastern, entire; – (คำบุรพบท) ข้างน่า; before, in front of; – (คำนามพหูพจน์) บรรพบุรุษ; ทิศตวันออก; โบราณคดี; ancestors, fore-fathers; the east; an ancient tradition.”
ในภาษาไทยใช้ตามบาลีเป็น “บุพ-” หรือ “บุพพ-” ก็มี ใช้อิงสันสกฤตเป็น “บุรพ-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) ก็มี เขียนเป็น “บูรพ์” (บูน) ก็มี “บูรพ” นั่นเองยืดเสียงท้ายคำเป็น “บูรพา” ก็มี
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“บูรพ์, บูรพะ, บูรพา : (คำวิเศษณ์) ก่อน, แรก, เบื้องหน้า; ตะวันออก. (ส.).”
“บูรพา” ในที่นี้หมายถึง ตะวันออก
(๒) “ชลทิต”
อ่านว่า ชน-ละ-ทิด แยกคำเท่าที่ตาเห็นเป็น ชล + ทิต
(ก) “ชล” บาลีอ่านว่า ชะ-ละ รากศัพท์มาจาก ชลฺ (ธาตุ = ผูกรัด; ไหลไป; รุ่งเรือง) + อ (อะ) ปัจจัย
: ชลฺ + อ = ชล (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ผูกรัด” (คือบีบทำให้เรือแตกได้) (2) “สิ่งที่ไหลไป” (3) “สิ่งที่รุ่งเรือง” (คือระยิบระยับยามค่ำคืน) หมายถึง น้ำ (water)
บาลี “ชล” สันสกฤตก็เป็น “ชล”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “ชล” ในสันสกฤตไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ชล : (คำวิเศษณ์) เยือกเย็นหรืออนภิลาษ; สถุล; เฉื่อยชา, ไม่มีอุตสาหะ; เกียจคร้าน; cold; stupid; apathetic; idiotic; – (คำนาม) น้ำ; วิราค, เสนหาภาพ, ความเฉื่อยชาหรือความไม่มีเสนหา; water; frigidity; coldness, want of animation or coldness of affection.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ชล, ชล– : (คำนาม) นํ้า. (ป., ส.).”
(ข) “ทิต” คำนี้มีปัญหา รูปคำเหมาะที่จะเป็นบาลี ถ้าดึงกลับเป็นบาลีก็จะเป็น “ทิตฺต” (ทิด-ตะ)
“ทิตฺต” ในบาลีใช้เป็นคุณศัพท์ มีความหมายดังนี้ –
(1) ลุกโพลง (blazing)
(2) หยิ่ง, ผยอง, ทะนง, อวดดี; เอาแต่ใจตัว (proud, arrogant, insolent; wanton)
ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง เขียนเป็น “ทิต” มีคำอื่นมาสมาสข้างท้ายอ่านว่า ทิด-ตะ- อยู่ท้ายคำอ่านว่า ทิด
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ทิต : (คำแบบ) (คำวิเศษณ์) รุ่งเรือง, สว่าง. (ป. ทิตฺต).”
ชล + ทิต = ชลทิต แปลว่าอะไร?
ถ้าจะให้แปลตามศัพท์ ก็พอจะแปลได้ว่า “น้ำที่สว่างรุ่งเรือง” หรือ “สว่างรุ่งเรืองไปด้วยน้ำ” หรือแปลเล่นสำนวนว่า “ทะเลรุ่งโรจน์”
บูรพา + ชลทิต = บูรพาชลทิต แปลแบบตีความว่า “เมืองตะวันออกที่มีทะเลรุ่งโรจน์”
อภิปรายขยายความ :
ปัญหาก็คือ ผู้ตั้งชื่อนี้มีเจตนาจะให้มีความหมายดังว่านี้หรือ? หรือว่าอันที่จริงแล้ว คำที่ออกเสียงว่า ชน-ละ-ทิด สะกดเป็นอย่างอื่น แต่ผู้ตั้งชื่อเข้าใจคลาดเคลื่อนไปว่าสะกดอย่างนี้?
ในภาษาไทยมีคำที่ออกเสียงว่า ชน-ละ-ทิด สะกดเป็น “ชลธิศ”
บาลีมีคำว่า “ชลธิ” อ่านว่า ชะ-ละ-ทิ รากศัพท์มาจาก ชล (น้ำ) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + อิ ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือ อา ที่ ธา (ธา > ธ)
หมายเหตุ: สูตรบาลีไวยากรณ์ใช้คำว่า “ลบสระหน้า” เพราะ ธา + อิ “ธา” อยู่หน้า “อิ” อยู่หลัง ลบสระ อา ที่ ธา ซึ่งเป็นคำที่อยู่หน้า จึงเรียกสั้นๆ ว่า “ลบสระหน้า”
: ชล + ธา = ชลธา > ชลธ + อิ = ชลธิ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ทรงน้ำไว้” (คือขังน้ำไว้) หมายถึง ทะเล (the sea)
บาลี “ชลธิ” ภาษาไทยใช้เป็น “ชลธี” (บาลี –ธิ ไทย –ธี) อ่านว่า ชน-ละ-ที
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ชลธี : (คำนาม) ทะเล. (ป.).”
“ชลธี” นั่นเอง ใช้กรรมวิธีที่เรียกว่า “ศ เข้าลิลิต” หมายถึงคำที่เติม “อิศ” หรือ “อีศ” (แล้วมักแผลงเป็น “เอศ”) เข้าข้างท้ายเพื่อให้ได้รูปหรือเสียงที่สละสลวย หรือได้สัมผัสในทางฉันทลักษณ์ แต่คงมีความหมายเท่าเดิม เช่น –
นารี > นาริศ > นาเรศ
มยุรา > มยุเรศ
นาวา > นาเวศ
สาคร > สาคเรศ
โดยหลักนิยมดังว่านี้ “ชลธี” (ชน-ละ-ที) จึงแปลงรูปเป็น “ชลธิศ” (ชน-ละ-ทิด)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ชลธิศ : (คำนาม) ชลธี, ทะเล.”
“บูรพาชลธิศ” แปลว่า “เมืองชายทะเลตะวันออก”
“ถนนเฉลิมบูรพาชลธิศ” แปลว่า “ถนนที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่เมืองชายทะเลตะวันออก”
เป็นไปได้หรือไม่ว่า “บูรพาชลธิศ” นี่เองคือคำที่ต้องการ แต่ผู้คิดชื่อยังไม่ได้ทันนึกถึงรูปศัพท์ว่าสะกดอย่างไร เมื่อพูดหรือออกเสียงว่า บู-ระ-พา-ชน-ละ-ทิด เกิดนึกไม่เห็น “-ชลธิศ” เพราะไม่คุ้นตา หรือเพราะนึกไม่ถึง หรือเพราะอะไรสักอย่าง แต่เห็นว่าน่าจะเป็น “-ชลทิต” ก็จึงสะกดออกมาเป็น “บูรพาชลทิต”
โปรดทราบว่า ที่ว่ามานี้เป็นการคาดคะเน เนื่องจาก “ชลธิศ” เป็นคำที่มีใช้อยู่แล้ว คุ้นเสียง เพียงแต่อาจจะไม่คุ้นตา แต่ “ชลทิต” นั้น เป็นคำที่ไม่มีใช้ตามปกติ ความหมายที่ผู้เขียนบาลีวันละคำแปลไว้ข้างต้นก็เป็นการแบบเอาใจช่วย หรือลากเข้าความ ทั้งๆ ที่รู้ว่ารูปศัพท์แบบนี้ไม่มีใช้ที่ไหน
สรุปว่า คำที่ต้องการก็คือ “บูรพาชลธิศ”
แต่เขียนออกมาเป็น “บูรพาชลทิต”
ใช่หรือไม่?
ท่านผู้ใดเกี่ยวข้องกับคำนี้หรือรู้เบื้องหลังเบื้องลึกของชื่อนี้ ถ้าจะกรุณานำข้อมูลที่ถูกต้องมาเล่าสู่กันฟังเป็นองค์ความรู้ร่วมกัน ก็จะขอขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: จงช่วยกันแก้ไขผิดให้กลับเป็นถูก
: แต่อย่าช่วยกันอธิบายผิดให้กลายเป็นถูก
14-2-64