บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ไม่ใช่เรื่องสำคัญ

ไม่ใช่เรื่องสำคัญ

—————-

เวลานี้เรื่องที่คนส่วนมากไม่เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ หรือไม่เห็นความสำคัญมากที่สุด เห็นจะได้แก่เรื่องการใช้ภาษา ซึ่งหมายถึงการเขียนให้คนอ่าน ไม่ว่าจะเขียนออกมาในรูปแบบใดๆ และการพูดให้คนฟัง เช่นการออกเสียงเป็นต้น 

จะว่าผมคิดไปเอง ก็ยอมรับ แต่ความจริงก็มีให้เห็นอยู่จริงๆ

ตัวอย่างเช่น โพสต์ หรือสเตตัส หรือจะเรียกว่าอะไรก็ไม่รู้ ที่เขียนกันอยู่ในเฟซบุ๊กทุกวันนี้ มีคำที่สะกดผิดออกมาให้อ่านกันได้ทุกวัน 

กรุณาอย่าเพิ่งแก้ตัวให้กันนะครับว่า เขียนกันมากก็ต้องมีผิดมากเป็นธรรมดา ไม่อยากให้ผิดเลยก็ต้องไม่เขียนอะไรเลยสิ

ก็ตรงนี้แหละครับที่เป็นข้อยืนยันว่า ถ้าเราให้ความสำคัญแก่การใช้ภาษา แม้จะเขียนกันมาก คำที่สะกดผิดก็จะมีน้อยลงหรือมีได้ยากมาก

จำกัดความกันตรงนี้ก่อนนิดหนึ่งว่า “ผิด” กับ “พลาด” เป็นคนละอย่างกัน

“พลาด” ก็อย่างเช่น “โรงรียน” ตกสระเอ ใครอ่านก็รู้ทันทีว่าคำที่ถูกคือ “โรงเรียน” ไม่มีใครหลงละเมอเขียนตามแน่ๆ

อย่างนี้เรียกว่าพลาด คือเผลอไป

แต่ถ้า “ขอให้ไปสู่สุขคติ” อย่างนี้คือ “ผิด” คำที่ถูกคือ “สุคติ” แต่คนเขียนเข้าใจไปว่า “สุขคติ” เป็นคำที่ถูกต้อง ก็จึงสะกดแบบนี้ ไม่ได้เผลอ แต่เข้าใจผิด ใครมาอ่านเข้า ถ้าไม่ได้เรียนรู้มา ก็จะต้องเข้าใจผิดว่าถูก แล้วก็จะใช้ผิดตามกันไปอีก

ที่ผมกำลังบ่นอยู่นี่คือเขียน “ผิด” แบบนี้ ไม่ใช่เขียน “พลาด” 

ไม่ว่าจะผิดหรือพลาด ไม่ดีทั้งนั้น แต่ผิดมีโทษมากกว่าพลาด

“พลาด” บอกถึงความเผอเรอของคนเขียนคนเดียว (คำนี้ก็อีกคำหนึ่ง ชอบสะกดเป็น “เผลอเรอ” กันทั่วไปหมด ดีที่ว่าเครื่องพิมพ์ระบบใหม่เขาตั้งโปรแกรมให้มันแก้คำผิดให้โดยอัตโนมัติ โดยที่คนเขียนอาจไม่รู้ตัวว่าตัวเองสะกดผิด ดังนั้นถ้าปล่อยให้เขียนเองอีก แล้วไม่มีใครแก้ให้ ก็จะยังคงสะกดผิดอีกอยู่นั่นเอง)

แต่ “ผิด” เป็นการแพร่ความไม่ถูกต้องให้กระจายไปยังคนอื่นๆ อีกด้วย เพราะจะต้องมีคนเข้าใจว่าถูก แล้วใช้ผิดตามไปอีกนับไม่ถ้วน ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะตัวผู้เขียนคนเดียว

…………

โปรดดูภาพประกอบเป็นตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ

ภาพป้ายทางหลวงผมถ่ายเอง เนื่องจากอยู่ในเส้นทางเดินออกกำลังตอนเช้าๆ

ภาพที่มีป้ายชื่อ ราช บุรี เพชรบุรี อ.จอมบึง อยู่ด้วยกัน ๓ ภาพ เป็นสถานที่เดียวกัน แต่ถ่ายคนละปี

ภาพแรก ถ่ายเมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๖๐ อันเป็นปีที่ติดตั้งป้าย

ภาพที่สอง ถ่ายเมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ เวลาล่วงไป ๑ ปี ยังเหมือนเดิม

ภาพที่สาม ถ่ายเมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ เวลาล่วงไป ๓ ปี มีการแก้ไขบางอย่าง

รายการที่แก้ไขคือ –

(๑) ป้ายชื่อ “ราช บุรี” ลบเลข 4 อันเป็นหมายเลขทางหลวงออก (เลขตัวเดียวเป็นทางหลวงหลักที่เชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพมหานครไปยังภูมิภาคหลักของประเทศไทย) 

(๒) ป้ายชื่อ “อ.จอมบึง” แก้ไขหมายเลขทางหลวง จากเดิม 3087 แก้เป็น 3291 (เลข 4 ตัวเป็นทางหลวงแผ่นดินที่เชื่อมระหว่างจังหวัดกับอำเภอ หรือสถานที่สำคัญของจังหวัด)

คำผิดพลาดที่ควรแก้ แต่ไม่ได้แก้ก็คือ 

(๑) ป้ายชื่อ “ราช บุรี” คำว่า “ราช” กับคำว่า “บุรี” เขียนแยกกัน คำถูกคือเขียนติดกันเป็น “ราชบุรี”

(๒) ชื่อจังหวัดเพชรบุรีที่เป็นอักษรโรมัน Phachaburi สะกดผิด คำถูกสะกด Phetchaburi 

จำได้ไหมครับ เมืองพัทยาเคยมีป้ายสะกดผิด คำว่า CITY สะกดเป็น CTIY 

พอมีคนท้วงขึ้น ทางการก็รีบแก้ไขทันที-เหตุเกิดเมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๐ ปีเดียวกับที่ติดป้ายที่ราชบุรี

ป้ายที่ราชบุรี ผมเคยทักท้วงมาตั้งแต่ปีแรกที่ติดป้าย 

ผ่านมา ๕ ปี ๔ ผู้ว่าราชการจังหวัด

ไม่มีใครเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ 

………………

เวลานี้มีค่านิยม หรือจะเรียกว่าทฤษฎี หรือลัทธิอะไรอย่างหนึ่ง เกิดขึ้น ๒ อย่าง คือ –

หนึ่ง-เห็นใครทำอะไรผิด ต้องไม่ทักท้วง การทักท้วงถือว่าเป็นการเสียมารยาท ดังนั้น ใครเขียนผิดก็ปล่อยให้ผิดอยู่อย่างนั้น คนเขียนก็ไม่รู้ว่าตัวเขียนผิด เขียนกี่ครั้งก็ผิดทุกครั้งไป แล้วก็เข้าใจว่าถูก ไม่มีโอกาสที่จะแก้ไข ฝ่ายคนอ่านก็พากันปล่อยปละละเลย ถือว่าธุระไม่ใช่

ถ้าใครหวังดีไปทักท้วงเข้า นอกจากจะถูกตำหนิว่าเสียมารยาทแล้ว ยังจะถูกขนาบด้วยคำว่า “หมอนี่มันดีแต่ชอบจับผิดชาวบ้าน” 

สอง-มีคนตั้งลัทธิว่า ภาษาเป็นสิ่งสมมุติ เขียนออกไปแล้วถ้าคนเข้าใจได้ว่าผู้เขียนหมายถึงอะไรหรือจะสื่ออะไร ก็เป็นอันใช้ได้ ไม่ต้องเอาถูกเอาผิดมาพูดกัน เพราะไม่มีอะไรถูกอะไรผิด

ค่านิยมหรือลัทธิทั้ง ๒ นี้ เกิดขึ้นมาเพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้คนใช้ภาษาผิดๆ ได้อย่างเสรีโดยแท้

ถ้าผู้คนนิยมบูชาลัทธิทั้ง ๒ นี้กันมากขึ้น ต่อไปไวยากรณ์หรือหลักภาษาก็เป็นอันว่าไม่เหลือ 

แล้วถ้าค่านิยม “ภาษาเป็นสิ่งสมมุติ ไม่มีอะไรผิดไม่มีอะไรถูก” ลามเข้าไปถึงภาษาบาลีอันเป็นภาษาที่ใช้บันทึกพระไตรปิฎก อะไรจะเกิดขึ้น

อย่างเช่นภาษิตที่ว่า “อาโรคฺยปรมา ลาภา” 

มีคนเขียนเป็น “อโรคยา ปรมาลาภา” ทั่วไปหมด

ถ้าถือคติ “ภาษาเป็นสิ่งสมมุติ ไม่มีอะไรผิดไม่มีอะไรถูก” ต่อไป “อโรคยา ปรมาลาภา” ก็จะกลายเป็นคำถูก เพราะเขียนแบบนี้กันทั่วไป 

ส่วน “อาโรคฺยปรมา ลาภา” ก็จะกลายเป็นคำผิด หรือคำที่ไม่มีใครยอมรับ

ถึงตอนนั้น พระไตรปิฎกก็วิปริตได้ไม่ยาก

มีใครเห็นความสำคัญของเรื่องแบบนี้บ้างไหม-โดยเฉพาะนักเรียนบาลีทั้งหลาย

หรือยังจะท่องกันอยู่แต่ว่า-ไม่ใช่เรื่องสำคัญ 

ทำยังไงจึงจะสอบได้เยอะๆ สำคัญกว่า

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔

๑๘:๐๙

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *