ธงชัยของพระอรหันต์ (บาลีวันละคำ 3,175)
ธงชัยของพระอรหันต์
บาลีว่าอย่างไร
คำไทยพูดกันว่า “ธงชัยของพระอรหันต์”
คำบาลีพูดว่า “อรหทฺธช”
“อรหทฺธช” อ่านว่า อะ-ระ-หัด-ทะ-ชะ ประกอบด้วยคำว่า อรห + ธช
(๑) “อรห”
คำเต็มว่า “อรหนฺต” (อะ-ระ-หัน-ตะ) มีรากศัพท์มาได้หลายทาง เช่น :
(1) อรหฺ (ธาตุ = สมควร) + อนฺต ปัจจัย = อรหนฺต แปลว่า “ผู้ควรแก่การบูชาพิเศษของเทพและมนุษย์ทั้งหลาย”
(2) น (คำนิบาตบอกความปฏิเสธ = ไม่, ไม่ใช่) > อ + รห (ธาตุ = สละ, ทอดทิ้ง) = อรห + อนฺต ปัจจัย = อรหนฺต แปลว่า “ผู้อันคนดีไม่ควรทอดทิ้ง”
(3) อริ ( = ข้าศึก) > อร + หนฺ (ธาตุ = กำจัด) = อรหน ลบที่สุดธาตุ > = อรห + อนฺต ปัจจัย = อรหนฺต แปลว่า “ผู้กำจัดข้าศึกคือกิเลสได้แล้ว”
(4) อร ( = ดุม กำ กง อันประกอบเข้าเป็นวงล้อ) + หนฺ (ธาตุ = กำจัด, เบียดเบียน) = อรหน ลบที่สุดธาตุ > อรห + อนฺต ปัจจัย = อรหนฺต แปลว่า “ผู้หักซึ่งวงล้อแห่งสังสารวัฏได้แล้ว”
(5) น ( = ไม่ใช่, ไม่มี) > อ + รห ( = การไปมา) = อรห + อนฺต ปัจจัย = อรหนฺต แปลว่า “ผู้ไม่มีการไปมา” คือไม่ไปเกิดในภพภูมิไหนๆ อีก
(6) น ( = ไม่ใช่, ไม่มี) > อ + รห ( = ความลับ, ที่ลับ, ความชั่ว) = อรห + อนฺต ปัจจัย = อรหนฺต แปลว่า “ผู้ไม่มีความลับ” (ไม่มีความไม่ดีไม่งามที่จะต้องปิดบังใครๆ) “ผู้ไม่มีที่ลับ” (สำหรับที่จะแอบไปทำความไม่ดีไม่งาม) “ผู้ไม่มีความชั่ว”
“อรหนฺต” ในบาลีเมื่อใช้ในข้อความจริง มักเปลี่ยนรูปเป็น “อรหํ” (อะ-ระ-หัง) “อรห” (อะ-ระ-หะ) หรือ “อรหา” (อะ-ระ-หา)
“อรหนฺต” ในภาษาไทยใช้ว่า “อรหันต์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อรหันต-, อรหันต์ : ชื่อพระอริยบุคคลชั้นสูงสุดใน ๔ ชั้น คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ เรียกว่า พระอรหันต์. (ศัพท์นี้ใช้ อรหา หรือ อรหัง ก็มี แต่ถ้าใช้เป็นคําวิเศษณ์หรืออยู่หน้าสมาสต้องใช้ อรหันต). (ป.; ส. อรฺหนฺต).”
(๒) “ธช”
บาลีอ่านว่า ทะ-ชะ รากศัพท์มาจาก ธชฺ (ธาตุ = ไป) + อ (อะ) ปัจจัย
: ธชฺ + อ = ธช (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผ้าที่สะบัดไป” หมายถึง ธงทั่วไป
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ธช” ว่า a flag, banner; mark, emblem, sign, symbol (ธง, สัญลักษณ์; เครื่องหมาย, เครื่องแสดง, เครื่องสังเกต)
บาลี “ธช” สันสกฤตเป็น “ธฺวช”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน) บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ธฺวช : (คำนาม) ‘ธวัช,’ เกตุ, ปตาก, ธง; จิน์ห, ลักษณะ; คุหยางค์หรือคุหเยนทรีย์, องค์ที่ลับของชาย; เรือนอันปลูกหรือตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง; เสาธง; (คำใช้ในกวิตา) บาทสองพยางค์; ผู้ต้มกลั่นสุรา, คำว่า ‘สุราการ, สุราชีวิน, สุราโศณฑิ (แผลงจาก – เศาฑิ)’ ก็มีนัยอย่างเดียวกัน; อหังการ; กุหกวฤตติ (แผลงเปน – กุหกพฤติ) ความหน้าไหว้หลังหลอก, ความโกง; a flag or banner; a mark, a sign or symbol; the penis; a house situated to the east of any subject; a flag-staff; (in prosody) an iambic; a distiller; pride; hypocrisy, fraud.”
อรหนฺต + ธช ถ้าว่าตามหลักสมาสก็ควรเป็น “อรหนฺตธช” แต่ในที่นี้ท่านลบ อนฺต ที่ อรหนฺต คงเหลือเพียง อรห แล้วซ้อน ทฺ ซึ่งเป็นพยัญชนะหน้า ธ ศัพท์หลัง
: อรหนฺต > อรห + ทฺ + ธช = อรหทฺธช (อะ-ระ-หัด-ทะ-ชะ) แปลตามศัพท์ว่า “ผ้าที่สะบัดไปของพระอรหันต์” หรือ “ธงของพระอรหันต์”
“อรหทฺธช” = “ธงของพระอรหันต์” เป็นสำนวนใช้เรียกผ้ากาสาวพัสตร์หรือไตรจีวรอันเป็นเครื่องนุ่งห่มของภิกษุในพระพุทธศาสนา นิยมเรียกกันว่า “ธงชัยของพระอรหันต์”
เหตุที่เรียกเช่นนี้ มีคำอธิบายว่า พระอรหันต์ทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นย่อมนุ่งห่มด้วยผ้ากาสาวพัสตร์ คนทั้งหลายเห็นผ้ากาสาวพัสตร์ในที่ใด ย่อมรู้ได้ว่าพระอรหันต์มีอยู่ในที่นั้น อุปมาเหมือนเห็นธงประจำตัวแม่ทัพอยู่ที่ใด ย่อมรู้ได้ว่าตัวแม่ทัพอยู่ที่นั้นฉะนั้น
ขยายความ :
การจะเป็นพระอรหันต์ได้ต้องละกิเลสที่เรียกว่า “สังโยชน์” ซึ่งมี 10 อย่าง คือ –
1. สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นตัวของตน
2. วิจิกิจฉา ความสงสัยลังเลไม่แน่ใจ
3. สีลัพพตปรามาส ความถือมั่นศีลพรต ทำตามๆ กันไปอย่างงมงาย
4. กามราคะ ความกำหนัดในกาม
5. ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งในใจ
6. รูปราคะ ความติดใจในอารมณ์แห่งรูปฌาน
7. อรูปราคะ ความติดใจในอารมณ์แห่งอรูปฌาน
8. มานะ ความสำคัญตน ถือตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่
9. อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน
10. อวิชชา ความไม่รู้จริง, ความหลง
พึงทราบหลักต่อไปด้วยว่า สังโยชน์ทั้ง 10 นี้ท่านใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานในการกำหนดภูมิแห่งพระอริยุคคล กล่าวคือ –
(1) พระโสดาบัน ละสังโยชน์ 3 ข้อต้นได้
(2) พระสกิทาคามี ทำสังโยชน์ข้อ 4 และ 5 ให้เบาบางลงด้วย
(3) พระอนาคามี ละสังโยชน์ 5 ข้อต้นได้หมด
(4) พระอรหันต์ ละสังโยชน์ได้หมดทั้ง 10 ข้อ
พระอรหันต์มี 2 ประเภท คือ –
(1) พระอรหันต์ที่หมดกิเลส แต่มิได้ทรงคุณวิเศษอย่างอื่น
(เรียกว่า พระสุกขวิปัสสก)
(2) พระอรหันต์ที่หมดกิเลส และทรงคุณวิเศษอย่างอื่นด้วย เช่น หูทิพย์ ตาทิพย์ (เรียกว่า พระสมถยานิก)
: สรุปหลักพื้นฐานที่ควรทราบและควรตระหนักเกี่ยวกับพระอริยบุคคล (พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์)
(1) พระโสดาบันจนถึงพระอนาคามีอาจเป็นคฤหัสค์ครองเรือนก็ได้
(2) คฤหัสถ์ก็สามารถบรรลุธรรมสูงสุดเป็นพระอรหันต์ได้ แต่จะมีคติเป็น 2 คือ (1) หลังจากบรรลุแล้วต้องถือเพศเป็นบรรพชิตในวันนั้น หรือ (2) ดับขันธ์ในวันนั้น
(3) พระอรหันต์ไม่หัวเราะ ไม่ยิ้ม ไม่มีอาการเริงร่าเพราะถูกใจชอบใจเรื่องใดๆ แต่อาจมีกิริยาแย้มเล็กน้อยได้ ส่วนด้านโทสะ แม้เพียงความหงุดหงิดก็ละได้แล้วตั้งแต่เป็นพระอนาคามี
(4) พระอรหันต์ไม่ฝัน เนื่องจากจิตสงบลึก (อาการฝันเกิดในขณะที่หลับไม่สนิท)
(5) พระอรหันต์ไม่เกิดอีก
(6) ท่านผู้ใดเป็นพระอริยบุคคลระดับไหน ผู้เป็นอริยบุคคลระดับเดียวกันหรือสูงกว่าเท่านั้นจึงจะรู้ได้บอกได้
(7) ดังนั้น ผู้ที่พูดว่า “หลวงปู่องค์นั้นหลวงพ่อองค์โน้นเป็นอริยสงฆ์” ก็เท่ากับบอกว่าตัวผู้พูดนั้นเป็นอริยบุคคลด้วยนั่นเอง
…………..
ดูก่อนภราดา!
กุโส ยถา ทุคฺคหิโต
หตฺถเมวานุกนฺตติ
สามญฺญํ ทุปฺปรามฏฺฐํ
นิรยายูปกฑฺฒติ.
(กุโส ยะถา ทุคคะหิโต
หัตถะเมวานุกันตะติ
สามัญญัง ทุปปะรามัฏฐัง
นิระยายูปะกัฑฒะติ.)
ที่มา :นิรยวรรค ธรรมบท พระไตรปิฎกเล่ม 25 ข้อ 32
: หญ้าคาที่จับพลาดบาดมือเอาได้ฉันใด
: สมณธรรมก็พาเอาผู้เหยียบย่ำพระธรรมวินัยไปนรกได้ฉันนั้น
——————-
——————-
#บาลีวันละคำ (3,175)
20-2-64