บาลีวันละคำ

ภคินี (บาลีวันละคำ 3,176)

ภคินี

ไม่ใช่ “น้องสาว” อย่างเดียว

หมายถึง “พี่สาว” ด้วย

อ่านว่า พะ-คิ-นี

ภคินี” รากศัพท์มาจาก –

(1) ภชฺ (ธาตุ = เสพ, คบหา) + (อะ) ปัจจัย, แปลง ชฺ ที่สุดธาตุเป็น (ภชฺ > ภค) + อินี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: ภชฺ + = ภช > ภค + อินี = ภคินี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ที่บุคคลพึงคบหา

(2) ภค (อวัยวะเป็นที่เสพ) + อินี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: ภค + อินี = ภคินี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีอวัยวะเป็นที่เสพ

ภคินี” หมายถึง พี่สาวหรือน้องสาว

บาลี “ภคินี” สันสกฤตก็เป็น “ภคินี

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

ภคินี : (คำนาม) พี่หรือน้องสาว; สตรีทั่วไป; a sister; a woman in general.”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ภคินี” ว่า a sister

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล sister ว่า –

(1) น้องสาว, พี่สาว, พี่น้อง, นางชี

(2) พยาบาลหญิงชั้นหัวหน้า

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล sister เป็นบาลีดังนี้:

(1) bhaginī ภคินี (พะ-คิ-นี) = พี่สาว, น้องสาว

(2) anujā อนุชา (อะ-นุ-ชา) = “(หญิง) ผู้เกิดทีหลัง” คือ น้องสาว

แปล younger sister เป็นบาลี:

kaniṭṭhabhaginī กนิฏฺฐภคินี (กะ-นิด-ถะ-พะ-คิ-นี) = หญิงผู้เป็นน้อง

แปล elder sister เป็นบาลี:

jeṭṭhabhaginī เชฏฺฐภคินี (เชด-ถะ-พะ-คิ-นี) = หญิงผู้เป็นพี่

กนิฏฺฐภคินี” และ “เชฏฺฐภคินี” เป็นคำในจำพวกราชาศัพท์ที่คนไทยคุ้นกันดี เราใช้ในภาษาไทยว่า “พระกนิษฐภคินี” และ “พระเชษฐภคินี”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ภคินี : (คำนาม) พี่หญิง, น้องหญิง. (ป., ส.).”

อภิปรายขยายความ :

ภคินี” ในคัมภีร์บาลีใช้เรียกใครได้บ้าง?

คำว่า “ภคินี” เมื่อใช้เป็นอาลปนะ (คำเรียก, คำทัก = addressing) เปลี่ยนรูปเป็น “ภคินิ” (จาก –นี เป็น –นิ) นักเรียนบาลีแปลกันว่า “ดูก่อนน้องหญิง

คำแปลว่า “ดูก่อนน้องหญิง” ทำให้เข้าใจกันว่า “ภคินิ” เป็นคำที่คนทั่วไปเรียกสตรีที่อายุน้อยกว่า

พระภิกษุในสมัยพุทธกาลใช้คำนี้เรียกสตรีทั่วไปไม่จำกัดว่าจะมีอายุมากหรือน้อย เป็นการเรียกอย่างเป็นกลาง ไม่มีความหมายในทางสนิทเสน่หา

ในอรรถกถาขยายความว่า คำว่า “ภคินี” ที่ภิกษุใช้เรียกสตรีนี้เป็น “อริยโวหาร” คือภาษาของอารยชน

ในคัมภีร์พบว่า ภิกษุเรียกนักบวชหญิงไม่ว่าจะเป็นนักบวชในลัทธิใดว่า “ภคินี” เสมอ และเมื่อภิกษุเรียกภิกษุณีก็ใช้คำเรียกว่า “ภคินิ” ด้วยเช่นกัน

ในภาษาไทย คำว่า “ภคินี” รู้สึกกันว่าเป็นคำเรียกผู้หญิงที่มีอายุน้อยกว่าผู้เรียก แต่ในภาษาบาลี คำว่า “ภคินี” ไม่ได้จำกัดว่าเป็นคำเรียกสตรีที่มีอายุน้อยกว่าผู้เรียกเท่านั้น แม้เรียกสตรีที่มีอายุมากกว่า เช่นภิกษุเรียกภิกษุณีที่มีอายุมากกว่าตน ก็ใช้คำว่า “ภคินี” ได้

เมื่อแปลเป็นไทย อาจมีหลักง่ายๆ ว่า คำว่า “ภคินี” :

ใช้เรียกสตรีที่มีอายุน้อยกว่า แปลว่า “น้องสาว

ใช้เรียกสตรีที่มีอายุมากกว่า แปลว่า “พี่สาว

การใช้คำว่า “ภคินี” เรียกขานกัน อาจสรุปเป็นข้อมูลได้อย่างหนึ่งว่า ชาวชมพูทวีปมีวัฒนธรรมนับญาติโดยใช้ภาษาเป็นส่อ ซึ่งไทยเราก็มีวัฒนธรรมนับญาติแบบเดียวกันนี้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าเห็นวัฒนธรรมนับญาติว่าดักดาน

: ก็ควรไปอยู่ป่าหิมพานต์คนเดียว

#บาลีวันละคำ (3,176)

21-2-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย