บาลีวันละคำ

สาวกสันนิบาต (บาลีวันละคำ 3,181)

สาวกสันนิบาต

ชื่อที่ไม่มีใครเรียก

อ่านแบบบาลีว่า สา-วก-กะ-สัน-นิ-บาด แปลว่า “การประชุมแห่งพระสาวก

อ่านแบบไทยว่า สา-วก-สัน-นิ-บาด แปลว่า “พระสาวกประชุมกัน

ประกอบด้วยคำว่า สาวก + สันนิบาต

(๑) “สาวก

บาลีอ่านว่า สา-วะ-กะ รากศัพท์มาจาก สุ (ธาตุ = ฟัง) + ณฺวุ ปัจจัย, แผลง อุ ที่ สุ เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อว (สุ > โส > สว), ทีฆะ อะ ที่ -(ว) เป็น อา ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย (สว > สาว), แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ)

: สุ > โส > สว + ณฺวุ > อก : สว + อก = สวก > สาวก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ฟังคำของครู” หมายถึง ผู้ฟัง, สาวก (a hearer, disciple)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สาวก : (คำนาม) ศิษย์ของศาสดา. (ป.; ส. ศฺราวก).”

(๒) “สันนิบาต

บาลีเป็น “สนฺนิปาต” อ่านว่า สัน-นิ-ปา-ตะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน) + นิ (คำอุปสรรค = ลง) + ปตฺ (ธาตุ = ตก) + ปัจจัย

กฎ : แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น , ยืดเสียงที่พยางค์แรกของธาตุ คือ เป็น ปา (ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “ทีฆะ อะ เป็น อา”) ทั้งนี้ด้วยอำนาจของ ปัจจัย, ลบ

: สํ + นิ + ปตฺ = สํนิปตฺ + = สํนิปตณ > สํนิปต > สนฺนิปต > สนฺนิปาต (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การตกลงพร้อมกันโดยไม่เหลือ

สนฺนิปาต” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การรวมกัน, การมาบรรจบกัน (union, coincidence)

(2) การประชุม, การสันนิบาต, การชุมนุมกัน (assemblage, assembly, congregation)

(3) การประชุมของปัจจัยที่เป็นปฎิปักษ์ต่อร่างกาย (union of the humours of the body) (ที่เราพูดกันว่า “ไข้สันนิบาต”)

(4) การจัดวางลงด้วยกัน (collocation)

บาลี “สนฺนิปาต” ในภาษาไทยใช้เป็น “สันนิบาต” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “สันนิบาต” ไว้ 2 คำ บอกไว้ดังนี้ –

(1) สันนิบาต ๑ : (คำนาม) การประชุม, ที่ประชุม, เช่น สังฆสันนิบาต สันนิบาตชาติ, งานชุมนุม เช่น รัฐบาลจัดงานสโมสรสันนิบาตที่ทำเนียบรัฐบาล.

(2) สันนิบาต ๒ : (คำนาม) เรียกไข้ชนิดหนึ่งมีอาการสั่นเทิ้ม ชักกระตุก และเพ้อ ว่า ไข้สันนิบาต เช่น ไข้สันนิบาตลูกนก ไข้สันนิบาตหน้าเพลิง. (ป., ส.).

โปรดสังเกตว่า “สันนิบาต ๑” พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกที่มาของคำ แต่ “สันนิบาต ๒” บอกไว้ว่า “(ป., ส.)” คือมาจากบาลีและสันสกฤต

อันที่จริง “สันนิบาต ๑” ที่หมายถึง “การประชุม, ที่ประชุม” นั้น มาจากบาลีและสันสกฤตโดยแท้ แต่ “สันนิบาต ๒” ที่หมายถึง “ไข้ชนิดหนึ่ง” นั่นต่างหากที่ในบาลีใช้ในที่บางแห่งเท่านั้น อาจกล่าวได้ว่าในบาลีแทบไม่พบความหมายนี้ แต่ที่หมายถึง “การประชุม” นั้น พบได้ทั่วไป

สาวก + สนฺนิปาต = สาวกสนฺนิปาต (สา-วะ-กะ-สัน-นิ-ปา-ตะ) แปลว่า “การประชุมแห่งสาวก” หมายถึง เหตุการณ์ในพุทธประวัติที่พระอรหันตสาวกมาชุมนุมกันเป็นกรณีพิเศษ

สาวกสนฺนิปาต” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สาวกสันนิบาต

คำว่า “สาวกสันนิบาต” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

ขยายความ :

ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนามี “สาวกสันนิบาต” ครั้งสำคัญที่เรารู้กัน คือ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงประกาศหลักคำสอนเพื่อให้พระสงฆ์สาวกนำไปแสดงแก่ประชาชนได้ถูกต้องตรงกัน ที่เรารู้จักกันในนาม “จาตุรงคสันนิบาต” แปลว่า “การประชุมที่มีองค์ประกอบสี่อย่าง

“องค์ประกอบสี่อย่าง” ซึ่งนับว่าเป็นอัศจรรย์ มีดังนี้ –

1 วันนั้นเป็นวันเพ็ญ (เพ็ญเดือนมาฆะ) วันเพ็ญเป็นวันพิเศษเนื่องจากดวงจันทร์เต็มดวงส่องสว่าง (ถ้าการประชุมเกิดขึ้นในวันอื่นที่ไม่ใช่วันเพ็ญ ก็ไม่อัศจรรย์)

2 พระสงฆ์ 1,250 รูปมาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย (ถ้านัดหมายกันมาก่อน ก็ไม่อัศจรรย์)

3 พระสงฆ์เหล่านั้นทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา 6 (ถ้าเป็นพระอรหันต์ธรรมดา หรือมีภิกษุภูมิธรรมต่ำกว่าพระอรหันต์รวมอยู่ด้วย ก็ไม่อัศจรรย์)

4 พระสงฆ์เหล่านั้นทั้งหมดล้วนเป็นเอหิภิกขุ คือเป็นภิกษุโดยพุทธานุมัติ (พูดภาษาชาวบ้านก็คือมีพระพุทธเจ้าองค์เดียวกันเป็นอุปัชฌาย์ ถ้ามีพระอุปัชฌาย์ต่างองค์กัน ก็ไม่อัศจรรย์)

จาตุรงคสันนิบาต” เป็นชื่อของการประชุมใหญ่แห่งพระสาวก ณ พระเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว 9 เดือน พระองค์ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ (หลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา) ในที่ประชุมนั้น ชาวพุทธเรียกวันนี้ว่า “มาฆบูชา” = การบูชาในเพ็ญเดือนมาฆะ

แถม :

เรารู้จักเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ในนาม “มาฆบูชา” หรือ “จาตุรงคสันนิบาต” แต่เราแทบจะไม่ได้บอกกันเลยว่า เหตุการณ์นี้ในคัมภีร์บาลีท่านใช้คำว่า “สาวกสนฺนิปาต” หรือใช้ในภาษาไทยว่า “สาวกสันนิบาต

และควรทราบด้วยว่า พระพุทธเจ้าที่เสด็จอุบัติมาแล้วในอดีตล้วนมีเหตุการณ์ที่เป็น “สาวกสันนิบาต” ทุกพระองค์

คัมภีร์พุทธวงศ์ (พระไตรปิฎกเล่ม 25 ข้อ 2-25) แสดงรายละเอียด“สาวกสันนิบาต” ของพระพุทธเจ้าในอดีตทั้ง 24 พระองค์ ปรากฏจำนวนครั้งของ “สาวกสันนิบาต” เป็น 2 จำนวน คือ 3 ครั้ง และ 1 ครั้ง

พระพุทธเจ้าที่มี “สาวกสันนิบาต” 3 ครั้ง คือพระองค์ที่ 1 ถึงพระองค์ที่ 21 กล่าวคือ พระทีปังกร พระโกณฑัญญะ พระมังคละ พระสุมนะ พระเรวตะ พระโสภิตะ พระอโนมทัสสี พระปทุมะ พระนารทะ พระปทุมุตตระ พระสุเมธะ พระสุชาตะ พระปิยทัสสี พระอัตถทัสสี พระธัมมทัสสี พระสิทธัตถะ พระติสสะ พระปุสสะ พระวิปัสสี พระสิขี และ พระเวสสภู

พระพุทธเจ้าที่มี “สาวกสันนิบาต” 1 ครั้ง คือพระองค์ที่ 22 ถึงพระองค์ที่ 24 กล่าวคือ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ และ พระกัสสปะ

พระพุทธเจ้าของเราพระองค์นี้มี “สาวกสันนิบาต” 1 ครั้ง ที่เรารู้จักกันว่า “มาฆบูชา” หรือ “จาตุรงคสันนิบาต” นี่แล

จึงควรรู้จักและเรียกรู้กันเพิ่มขึ้นอีกชื่อหนึ่ง คือ “สาวกสันนิบาต” อันเป็นชื่อเดิมแท้ แต่ไม่มีใครรู้จัก

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อย่าดีแต่เป็นคนที่มีคนรู้จัก

: แต่จงรู้จักที่จะเป็นคนที่มีดี

อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน และกำลังยืน

#บาลีวันละคำ (3,181)

26-2-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย