ปุโรหิต (บาลีวันละคำ 2,927)
ปุโรหิต
ปัจจุบันจะมีใครคิดถึงกันบ้างไหม
อ่านว่า ปุ-โร-หิด
“ปุโรหิต” อ่านแบบบาลีว่า ปุ-โร-หิ-ตะ รากศัพท์มาจากคำว่า ปุร + หิต
(๑) “ปุร”
บาลีอ่านว่า ปุ-ระ รากศัพท์มาจาก –
(1) ปุ (ธาตุ = รักษา) + ร ปัจจัย
: ปุ + ร = ปุร แปลตามศัพท์ว่า “ที่ที่รักษาประชาชนจากอำนาจของศัตรู”
(2) ปุรฺ (ธาตุ = รักษา) + อ ปัจจัย
: ปุรฺ + อ = ปุร แปลตามศัพท์ว่า “ที่ที่รักษาประชาชน”
“ปุร” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) เมือง, ป้อม, บุรี (a town, fortress, city)
(2) ที่อยู่อาศัย, บ้านหรือส่วนที่แยกกันของบ้าน (dwelling, house or divided part of a house)
ความหมายในข้อ (2) นี้ เช่นในคำว่า “อนฺเตปุร” หมายถึง ห้องของสตรี, ที่อยู่ของสนมกำนัล, สำนักนางใน (lady’s room, harem)
(3) ร่างกาย (the body)
(๒) “หิต”
บาลีอ่านว่า หิ-ตะ รากศัพท์มาจาก ทหฺ (ธาตุ = ทรงไว้, ตั้งไว้) + ต ปัจจัย, ลบ ท– ต้นธาตุ (ทหฺ > ห), ลง อิ อาคมหน้าปัจจัย (ทหฺ + อิ + ต)
: ทหฺ + อิ + ต = ทหิต > หิต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาตั้งไว้”
“หิต” ในบาลี ถ้าเป็นคำนาม (ปุงลิงค์) หมายถึง เพื่อน, ผู้มีบุญคุณ (a friend, benefactor) และคำนาม (นปุงสกลิงค์) หมายถึง คุณประโยชน์, พร, ความดี (benefit, blessing, good)
“หิต” ถ้าใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง มีประโยชน์, เหมาะสม, เป็นประโยชน์, เป็นมิตร (useful, suitable, beneficial, friendly)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“หิต, หิต– : (คำนาม) ความเกื้อกูล, ประโยชน์. (ป., ส.).”
ปุร + หิต + อ (อะ) ปัจจัย, แปลง อะ ที่ (ปุ)-ร เป็น โอ (ปุร > ปุโร)
: ปุร + หิต = ปุรหิต + อ = ปุรหิต > ปุโรหิต (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เกื้อกูลแก่เมือง”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปุโรหิต” ไว้ดังนี้ –
(1) placed in front, i. e. foremost or at the top (มีตำแหน่งข้างหน้า, คืออยู่หน้าที่สุดหรือสูงสุด)
(2) the king’s headpriest [brahmanic], or domestic chaplain, acting at the same time as a sort of Prime Minister (ปุโรหิตของพระราชา [เกี่ยวกับทางพราหมณ์], หรือปุโรหิตจารย์, คืออาจารย์ประจำราชสำนัก แต่ในขณะเดียวกันทำหน้าที่เป็นอัครมหาเสนาบดี)
บาลี “ปุโรหิต” สันสกฤตก็เป็น “ปุโรหิต”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ปุโรหิต : (คำนาม) ปุโรธัส, พระประจำวงศกุลหนึ่งๆ (เปนผู้ทำพิธีหรือการบูชายัญต่างๆ); the family priest (conducting all the ceremonials and sacrifices of a house or family).”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “ปุโรหิต” ไว้ดังนี้ –
“ปุโรหิต : พราหมณ์ผู้เป็นที่ปรึกษาของพระราชา.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ปุโรหิต : (คำนาม) พราหมณ์ที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ในทางนิติ คือ ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี. (ป., ส.).”
ความเห็น :
ตามธรรมเนียมการปกครองของบ้านเมืองในชมพูทวีปตั้งแต่โบราณกาล ตำแหน่ง “ปุโรหิต” จะมีอยู่ทุกบ้านเมือง และมีได้หลายคน
ตามธรรมเนียมการปกครองของไทยในปัจจุบัน “ปุโรหิต” น่าจะเทียบได้กับองคมนตรี ซึ่งเป็นปุโรหิตของพระราชา
แต่ “ปุโรหิต” ของรัฐบาล ยังนึกไม่ออกว่ามีหรือเปล่า และถ้ามีน่าจะได้แก่ใคร
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เอาประโยชน์จากบ้านเมือง อยู่ได้แค่ตาย
: ทำประโยชน์ให้บ้านเมือง อยู่ได้เลยตาย
#บาลีวันละคำ (2,927)
17-6-63