หิมาลัย (บาลีวันละคำ 3,182)
หิมาลัย
ทับศัพท์จนลืมคำแปล
อ่านว่า หิ-มา-ไล
ประกอบด้วยคำว่า หิม + อาลัย
(๑) “หิม”
บาลีอ่านว่า หิ-มะ รากศัพท์มาจาก หิ (ธาตุ = เบียดเบียน; เป็นไป; ตกไป) + อิม ปัจจัย
: หิ + อิม = หิม (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่เบียดเบียนด้วยความเย็น” (2) “สิ่งที่เป็นไปตามปกติ” คือถึงเวลามีหิมะ หิมะก็มีตามปกติ จึงเรียกว่า “สิ่งที่เป็นไปตามปกติ” (3) “สิ่งที่ตกบนแผ่นดินและภูเขา”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “หิม” ว่า –
(1) cold, frosty (หนาว, มีน้ำค้างแข็ง)
(2) ice, snow (น้ำแข็ง, หิมะ)
“หิม” ภาษาไทยใช้ทับศัพท์ว่า “หิมะ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“หิม-, หิมะ : (คำนาม) ละอองนํ้าในอากาศที่แปรสภาพเป็นของแข็งเพราะอุณหภูมิตํ่า ลักษณะฟูเป็นปุย ลอยลงมาจากท้องฟ้า; ความหนาว, ความเยือกเย็น; ฤดูหนาว. (ป., ส.).”
(๒) “อาลัย”
บาลีเป็น “อาลย” (อา-ละ-ยะ) รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, มาก, ยิ่ง) + ลิ (ธาตุ = ติดใจ, ติดแน่น) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลง อิ ที่ ลิ เป็น ย (ลิ > ลย)
: อา + ลิ = อาลิ + ณ = อาลิณ > อาลิ > อาลย แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ติดใจยินดีแห่งผู้คน” “สิ่งที่ใจไปติดแน่นอยู่”
นักภาษาอธิบาย “อาลย” เป็นรูปธรรมว่า เหมือน “คอน” ที่นกเกาะนอน เท้านกจะต้องยึดแน่นอยู่กับคอนนั้น มิเช่นนั้นก็ตก อาการที่จับติดแน่นไม่ยอมปล่อยนั่นเองคือ “อาลัย”
ตามรากศัพท์เช่นนี้ “อาลัย” ในทางรูปธรรมจึงหมายถึงสถานที่พักอาศัย, ที่อยู่, แหล่งรวมของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น –
ชลาลัย = แหล่งรวมแห่งน้ำ คือแม่น้ำ หรือทะเล
บรรณาลัย = แหล่งรวมแห่งหนังสือ คือสถานที่เก็บรักษาคัมภีร์ต่างๆ ทางศาสนา, ห้องสมุด
“อาลย” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) คอนสำหรับนกหรือไก่เกาะหรือนอน (ความหมายเดิม), สถานที่พักอาศัย, บ้านเรือน (roosting place, perch, abode settling place, house)
(2) เกาะเกี่ยวอยู่, ความรักใคร่, ความต้องการ, ตัณหา, ราคะ (hanging on, attachment, desire, clinging, lust)
(3) การแสร้งทำ, มารยา, ข้อแก้ตัว (pretence, pretext, feint)
บาลี “อาลย” ภาษาไทยใช้เป็น “อาลัย” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) อาลัย ๑ : (คำกริยา) ห่วงใย, พัวพัน, ระลึกถึงด้วยความเสียดาย.น. ความห่วงใย, ความพัวพัน, ความระลึกถึงด้วยความเสียดาย. (ป., ส. อาลย).
(2) อาลัย ๒ : (คำนาม) ที่อยู่, ที่พัก, เช่น ชลาลัย = ที่อยู่แห่งนํ้า หมายถึง ทะเล แม่น้ำ เป็นต้น หิมาลัย = ที่อยู่แห่งหิมะ เป็นชื่อของเทือกเขาสูงอยู่ทางทิศเหนือของอินเดีย ยอดเขามีหิมะปกคลุมตลอดปี.
หิม + อาลย = หิมาลย (หิ-มา-ละ-ยะ) แปลตามศัพท์ว่า “ที่อยู่ของหิมะ” ถ้าหมายถึงสถานที่ทั่วไป ก็คือที่ซึ่งมีหิมะปกคลุมตลอดทั้งปี (snowy)
“หิมาลย” ใช้ในภาษาไทยเป็น “หิมาลัย” ในที่นี้เป็นชื่อเฉพาะ หมายถึงภูเขาหิมาลัย
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“หิมาลัย : (คำนาม) ชื่อเทือกเขาอยู่ทางทิศเหนือของอินเดีย ยอดเขามีหิมะปกคลุมตลอดปี. (ป., ส. หิม + อาลย = ที่อยู่ของหิมะ).”
ขยายความ :
ภูเขาหรือเทือกเขาหิมาลัยนี้ ในคัมภีร์บาลีเรียกว่า “หิมวนฺต” (หิ-มะ-วัน-ตะ) คือที่เราเรียกกันว่า “หิมพานต์” แต่ที่ใช้คำว่า “หิมาลย” ตรงตัวก็มี
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “หิมพานต์” บอกไว้ดังนี้ –
“หิมพานต์ : มีหิมะ, ปกคลุมด้วยหิมะ, ชื่อภูเขาใหญ่ที่อยู่ทางทิศเหนือของประเทศอินเดีย บัดนี้เรียกภูเขาหิมาลัย, ป่าที่อยู่รอบบริเวณภูเขานี้ ก็เรียกกันว่า ป่าหิมพานต์; หิมวันต์ ก็เรียก.”
…………..
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ที่คำว่า “เทือกเขาหิมาลัย” (อ่านเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 20:30 น.) บอกไว้ดังนี้ –
…………..
เทือกเขาหิมาลัย (อังกฤษ: Himalaya Range) เป็นเทือกเขาในทวีปเอเชีย ที่แยกอนุทวีปอินเดียทางทิศใต้ ออกจากที่ราบสูงทิเบตทางทิศเหนือ มียอดเขาที่สูงที่สุดในโลกคือยอดเขาเอเวอเรสต์ นอกจากนี้ยังมียอดเขากันเจนชุงคา (Kanchenjunga) และยังประกอบด้วยยอดเขาที่มีความสูงมากกว่า 7,200 เมตร (23,600 ฟุต) มากกว่าหนึ่งร้อยยอด ในทางศัพทมูลวิทยา คำว่า หิมาลัย มาจากภาษาสันสกฤต หมายถึง “ที่อยู่ของหิมะ” (หิม + อาลย) เป็นจุดกำเนิดของระบบแม่น้ำที่สำคัญของโลกหลายสาย เช่น แม่น้ำสินธุ แม่น้ำคงคา-พรหมบุตร แม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำโขง
เทือกเขาหิมาลัยทอดยาวพาดผ่านพื้นที่ของ 5 ประเทศ – ปากีสถาน อินเดีย จีน ภูฏาน เนปาล – พื้นที่ลุ่มน้ำของเทือกเขาหิมาลัยเป็นที่อยู่ของผู้คนราว 750 ล้านคน …
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ไม่ทุกคนที่จะมีโอกาสพิชิตยอดเขาหิมาลัย
: แต่ทุกคนมีโอกาสที่จะพิชิตหัวใจตัวเอง
#บาลีวันละคำ (3,182)
27-2-64