บาลีวันละคำ

นิกาย (บาลีวันละคำ 3,189)

นิกาย

แยกกันเราอยู่?

อ่านว่า นิ-กาย

นิกาย” บาลีอ่านว่า นิ-กา-ยะ แสดงรากศัพท์ตามนัยแห่งหนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) ดังนี้ –

(๑) นิกาย ๑ รากศัพท์มาจาก นิ (คำนิบาต = เข้า, ลง) + จิ (ธาตุ = สะสม) + ปัจจัย, แปลง จิ เป็น กา

: นิ + จิ = นิจิ + = นิจิย > นิกาย (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ที่อันเขามุงบัง” หมายถึง เรือน, ที่พัก, ที่อยู่

(๒) นิกาย ๒ รากศัพท์มาจาก นิ (คำนิบาต = ไม่มี, ออก) + จิ (ธาตุ = สะสม) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อิ ที่ จิ เป็น เอ, แปลง เอ เป็น อาย (จิ > เจ > จาย), แปลง เป็น

: นิ + จิ + = นิจิณ > นิจิ > นิเจ > นิจาย > นิกาย (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “หมู่ที่สะสมส่วนย่อยทั้งหลายไว้โดยไม่ต่างกัน” ( = พวกที่ไม่ต่างกันมารวมอยู่ด้วยกัน) หมายถึง นิกาย, ฝูง, กลุ่ม, หมู่, คณะ, กอง

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “นิกาย” ว่า collection, assemblage, class, group (การรวบรวม, การประชุม, ชั้น, กลุ่ม, พวก, หมู่) ไม่มีคำแปลที่หมายถึง เรือน, ที่พัก, ที่อยู่ ดังที่หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ แสดงความหมายของ นิกาย

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

นิกาย : (คำนาม) น. หมู่, พวก, หมวด, ใช้เกี่ยวกับศาสนา ในกรณีเช่นคณะนักบวชในศาสนาเดียวกัน ที่แยกออกไปเป็นพวก ๆ เช่น มหานิกาย ธรรมยุติกนิกาย นิกายโรมันคาทอลิก นิกายโปรเตสแตนต์; เรียกคัมภีร์พระสุตตันตปิฎกที่แยกออกเป็น ๕ หมวดใหญ่ คือ ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตนิกาย อังคุตรนิกาย ขุทกนิกาย. (ป., ส.).”

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “นิกาย” ไว้ดังนี้ –

…………..

นิกาย : พวก, หมวด, หมู่, ชุมนุม, กอง;

1. หมวดตอนใหญ่แห่งพุทธพจน์ในพระสุตตันตปิฎก ซึ่งแยกเป็น ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกาย และขุททกนิกาย;

2. คณะนักบวช หรือศาสนิกชนในศาสนาเดียวกันที่แยกเป็นพวกๆ; ในพระพุทธศาสนามีนิกายใหญ่ที่เรียกได้ว่าเป็นนิกายพุทธศาสนาในปัจจุบัน ๒ นิกาย คือ มหายาน หรือนิกายฝ่ายเหนือ (อุตรนิกาย) พวกหนึ่ง และ เถรวาท หรือนิกายฝ่ายใต้ (ทักษิณนิกาย) ที่บางทีเรียก หีนยาน พวกหนึ่ง;

ในประเทศไทยปัจจุบัน พระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทด้วยกัน แยกออกเป็น ๒ นิกาย แต่เป็นเพียงนิกายสงฆ์ มิใช่ถึงกับเป็นนิกายพุทธศาสนา (คือแยกกันเฉพาะในหมู่นักบวช) ได้แก่ มหานิกาย และ ธรรมยุติกนิกาย ซึ่งบางทีเรียกเพียงเป็นคณะว่า คณะมหานิกาย และ คณะธรรมยุต

…………..

ดูเพิ่มเติม:

ธรรมยุตมหานิกาย” บาลีวันละคำ (1,011) 23-2-58

ธรรมยุติกนิกาย” บาลีวันละคำ (1,299) 19-12-58

…………..

แถม :

หลักการเพื่อมิให้เกิดความแตกแยกทางศาสนาคือ

(1) สีลสามัญตา (สี-ละ-สา-มัน-ยะ-ตา) ความประพฤติเสมอกัน คือประพฤติตรงกัน

(2) ทิฏฐิสามัญตา (ทิด-ถิ-สา-มัน-ยะ-ตา) ความเห็นเสมอกัน คือเห็นตรงกัน

หลักทั้งสองประการนี้เป็นที่รู้เข้าใจกันดีโดยทั่วไป

…………..

ดูก่อนภราดา!

: รู้หลักยังไม่ใช่หลักประกัน

: สิ่งสำคัญคือทำให้ได้ตรงกันตามหลัก

…………………………………….

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/812402072186865

…………………………………….

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/973862919374112

…………………………………….

#บาลีวันละคำ (3,189)

6-3-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย