บาลีวันละคำ

ตาลปัตร – พัดยศ (บาลีวันละคำ 3,190)

ตาลปัตรพัดยศ

คำหลักคือ “ตาลปัตร

ส่วน “พัดยศ” เป็นคำที่ขยายความออกมาจาก “ตาลปัตร

ตาลปัตร” อ่านว่า ตา-ละ-ปัด ประกอบด้วยคำว่า ตาล + ปัตร

(๑) “ตาล

บาลีอ่านว่า ตา-ละ รากศัพท์มาจาก ตลฺ (ธาตุ = ตั้งอยู่) + ปัจจัย, ลบ , ยืดเสียง (ทีฆะ) อะ ที่ -(ลฺ) เป็น อา (ตลฺ > ตาล)

: ตลฺ + = ตลณ > ตล > ตาล แปลตามศัพท์ว่า “ต้นไม้ที่ตั้งอยู่” (คือยืนต้นคล้ายกับว่าตั้งไว้)

ตาล” ที่คุ้นกันในภาษาไทย หมายถึงต้นตาล แต่ในบาลีใช้ในความหมาย 2 อย่าง พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกไว้ดังนี้ –

(1) the palmyra tree (fan palm), Borassus flabelliformis (ต้นตาล, ต้นตาลโตนด)

(2) a strip, stripe, streak (แผ่น, ชิ้น, แถบ, แนว, รอย)

ตาล” ในสันสกฤตก็ใช้ในความหมายหลายอย่าง แต่เฉพาะที่เกี่ยวกับต้นตาล สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ 2 ความหมาย คือ –

(1) ตาล : (คุณศัพท์) อันทำด้วยไม้ตาล (made of palm-wood)

(2) ตาล : (คำนาม) ผลตาล (the fruit of palm tree)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ตาล : (คำนาม) ชื่อปาล์มชนิด Borassus flabellifer L. ในวงศ์ Palmae ใบใหญ่ ดอกแยกเพศ อยู่ต่างต้น ต้นเพศผู้ออกดอกเป็นงวง ต้นเพศเมียออกดอกเป็นช่อเดี่ยว ๆ ผลใหญ่กลมโตเป็นทะลาย ภายในผลมีเมล็ด เรียกว่าเต้า น้ำหวานที่ออกจากงวงของต้นเพศผู้ เรียกว่า น้ำตาลสด ใช้ทำน้ำตาลได้ ตอนหัวของผลอ่อน เรียกว่าหัวตาล ต้มแกงกินได้ เมื่อเต้ายังอ่อน เรียกว่า ลอนตาลหรือตาลเฉาะ เนื้อในนิยมกินสดหรือกินกับนํ้าเชื่อม จาวที่เกิดจากเมล็ดแก่ที่งอกแล้ว เรียกว่า จาวตาล เชื่อมกินได้, ตาลโตนด ก็เรียก; เรียกขนมที่ทำด้วยแป้งผสมนํ้าคั้นจากลูกตาลสุก ว่า ขนมตาล.”

โปรดสังเกตชื่อวิทยาศาสตร์ พจนานุกรมฯ บอกว่า Borassus flabellifer

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกว่า Borassus flabelliformis

ไทยเราเอาคำว่า “ตาล” มาใช้ในภาษาไทยจนกลายเป็นคำไทยอย่างสนิท แต่ที่สำคัญก็คือทำให้คนไทยส่วนมาก โดยเฉพาะคนไทยรุ่นใหม่ ลืมชื่อไทยของไม้ชนิดนี้ไปสนิทเช่นกัน

บาลี “ตาล

คำไทยเรียก “โตนด” (ตะ-โหฺนด) (มาจากคำเขมรอีกต่อหนึ่ง)

(๒) “ปัตร

บาลีเป็น “ปตฺต” (ปัด-ตะ) รากศัพท์มาจาก ปตฺ (ธาตุ = ตก) + ปัจจัย

: ปตฺ + = ปตฺต (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะร่วงหล่นโดยไม่นาน” หมายถึง ใบไม้ (a leaf)

ปตฺต” สันสกฤตเป็น “ปตฺร

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ปตฺร : (คำนาม) ‘บัตร์’ ใบ, แผ่น; ยานทั่วไป; หางนก; ภู่ศร, ภู่หรือขนนกอันท่านติดไว้ที่ลูกศรหรือลูกดอก; ใบนารล, ‘นารลบัตร์’ ก็เรียก; ใบหนังสือ; ทองใบ; ฯลฯ; ธาตุทั่วไปอันแผ่แล้วเปนแผ่นบาง; จดหมาย; ลายลักษณ์อักษรทั่วไป; a leaf; a vehicle in general; the wing of a bird; the feather of an arrow; the leaf of the Laurus cassia; the leaf of a book, goldleaf &c.; any thin sheet or plate of metal; a letter; any written document.”

ในที่นี้เขียนตามสันสกฤตเป็น “ปัตร

ตาล + ปตฺต = ตาลปตฺต (ตา-ละ-ปัด-ตะ) แปลว่า “ใบของต้นตาล” > ใบตาล

เขียนแบบสันสกฤตเป็น “ตาลปตฺร

ใช้ในภาษาไทยเป็น “ตาลปัตร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ตาลปัตร : (คำนาม) พัดทำด้วยใบตาล มีด้ามยาว สำหรับพระภิกษุถือบังหน้าในพิธีกรรมเช่นในเวลาให้ศีล ต่อมาอนุโลมเรียกพัดที่ทำด้วยผ้าหรือไหมซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้นว่า ตาลปัตร ด้วย, ตาลิปัตร ก็ว่า. (ส. ตาลปตฺตฺร, ป. ตาลปตฺต).”

…………..

คำว่า “พัดยศ” มีความหมายตามศัพท์ว่า “พัดที่แสดงถึงยศคือการได้รับยกย่อง

ความหมายในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

พัดยศ : (คำนาม) พัดพิเศษที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานแก่ภิกษุสามเณรที่สอบเปรียญธรรมได้ตั้งแต่ ๓ ประโยคขึ้นไป หรือแก่พระภิกษุที่มีความรู้ ความสามารถในการศึกษา การบริหาร หรือการเผยแผ่พระศาสนา เป็นต้น เป็นเครื่องหมายแสดงลำดับชั้นแห่งสมณศักดิ์ มีรูปและชื่อต่าง ๆ กัน คือ พัดหน้านาง พัดพุดตาน พัดแฉกทรงพุ่มข้าวบิณฑ์.”

อภิปรายขยายความ :

พัดยศ” ก็คือ “ตาลปัตร” ที่พัฒนารูปแบบสืบต่อมานั่นเอง

ผู้เขียนบาลีวันละคำขอวาดภาพเพื่อให้เห็นความเป็นมาอย่างง่ายๆ ดังนี้ –

๑ เวลาอากาศร้อน คนทั่วไปทำพัดใช้โบกบรรเทาความร้อน วัสดุที่เหมาะแก่การใช้งานที่สุดก็คือ ใบตาล เพราะมีลักษณะแผ่แบน ใช้โบกให้เกิดลมได้ดี และสามารถหาได้ง่ายในพื้นถิ่น

๒ เมื่อพระไปพบญาติโยมและอยู่สนทนากัน โยมก็ถวายพัดให้พระโบกบรรเทาร้อน เทียบกับสมัยนี้ก็คือเปิดพัดลมเปิดแอร์ เดิมคงถวายให้พระใช้เฉพาะในที่ที่พบปะพูดคุยกัน พอลาไปพระก็คืนพัดให้โยม ต่อมาโยมเห็นว่าพระพอจะถือไปมาได้สะดวกจึงถวายให้ท่านไปเลย พระก็ถือติดมือไปไหนมาไหนเป็นการฉลองศรัทธา ทั้งเพื่อใช้ประโยชน์พัดโบกบรรเทาร้อนไปด้วย กลายเป็นเหมือนอติเรกบริขารที่เพิ่มขึ้น

๓ แม้พระไปในงานพิธีการก็ถือพัดไปด้วย เวลาให้ศีลก็ถือพัดติดมืออยู่ อาจใช้ปิดปากหรือบังหน้าในบางจังหวะตามลักษณะธรรมชาติของกิริยาอาการที่เคลื่อนไหว นี่คือต้นกำเนิดของการตั้งพัดบังหน้าในเวลาให้ศีลเป็นต้น

๔ การถือพัดใบตาลไปไหนมาไหนเป็นที่นิยมจนกลายเป็นธรรมเนียมของพระ

๕ ต่อมาเมื่อพัดใบตาลพัฒนารูปแบบจากใบตาลเป็นผ้า แต่ก็ยังคงชื่อเดิมไว้ คือเรียกว่า “ตาลปัตร” (ใบตาล) และแม้จะไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการพัดโบกบรรเทาร้อน แต่ก็ถือเป็นธรรมเนียมเวลาพระไปงานพิธีต้องมีพัด คือ “ตาลปัตร” ไปด้วย บางขั้นตอนที่ทำพิธี เช่นให้ศีลและอนุโมทนา ก็ถือพัด มีคำเรียกว่า “ตั้งพัด” ไว้ตรงหน้าด้วย ทั้งหมดนี้มีต้นเหตุมาจากโยมถวายพัดให้พระ และพระถือพัดติดมืออยู่แทบตลอดเวลามาแต่เดิมนั่นเอง

๖ เมื่อตาลปัตรกลายเป็นบริขารพิเศษประจำตัวพระ จึงเป็นที่มาของแนวคิดที่ใช้ตาลปัตรเป็นสัญลักษณ์แสดงความยกย่องโดยการออกแบบรูปลักษณ์ให้ดูงามตามนิยม ใช้สีและรายละเอียดบางอย่างเป็นเครื่องบ่งบอกถึงระดับความยกย่องที่แตกต่างกันออกไป อันเป็นที่มาของลักษณะ “พัดยศ” ที่พระมหากษัตริย์พระราชทานแก่ภิกษุสามเณรที่สอบเปรียญธรรมได้ตั้งแต่ 3 ประโยคขึ้นไป และแก่พระภิกษุที่มีความรู้ความสามารถในด้านต่างๆ ดังที่ปรากฏในปัจจุบัน

ข้อสันนิษฐานทั้งหมดนี้ สามารถแย้งค้านหรือเห็นต่างได้ทุกประเด็น ไม่จำเป็นจะต้องถูกต้องตามนี้

เมื่อมี “พัดยศ” เกิดขึ้น และมีระเบียบให้พระสงฆ์ใช้พัดยศในงานที่เกี่ยวกับพระราชพิธี ก็มีคำว่า “พัดรอง” เกิดตามมา

พัดรอง” หมายถึงตาลปัตรที่ใช้ในงานพิธีทั่วไป แต่นิยมเรียกเช่นนี้เมื่อพูดเทียบกับ “พัดยศ” กล่าวคืองานบางอย่างที่ปกติกำหนดให้ใช้พัดยศ แต่บางกรณีอาจมีกำหนดการหรือตกลงกันว่าไม่ต้องใช้พัดยศ แต่ให้ใช้พัดธรรมดา กรณีเช่นนี้ก็จะพูดกันว่า ใช้ “พัดรอง” ไม่ต้องใช้ “พัดยศ” ก็คือในงานนั้นพระสงฆ์ใช้ตาลปัตรธรรมดา

…………..

: ได้ยศแล้วไม่ติด

: เป็นกิจที่ควรทำ

ดูก่อนภราดา!

ถ้ายังทำกิจข้อนี้ไม่เสร็จสำเร็จพลัน

จะมีระบบสมณศักดิ์วันนี้ไซร้

หรือยกเลิกได้ในวันพรุ่ง

ก็ยังคงยุ่งพอๆ กัน

#บาลีวันละคำ (3,190)

7-3-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย