บาลีวันละคำ

โอโณชยาม (บาลีวันละคำ 3,196)

โอโณชยาม

ฤๅว่า “โอน” จะ “โอน” มาจากบาลี?

โอโณชยาม” เป็นการเขียนแบบบาลี อ่านว่า โอ-โน-ชะ-ยา-มะ หวังว่าคงไม่มีใครหลงอ่านว่า โอ-โนด-ยาม

โอโณชยาม” เขียนแบบไทยหรือแบบคำอ่านเป็น “โอโณชะยามะ” เป็นคำที่เราน่าจะคุ้นกันเป็นอันดี เพราะอยู่ใน “คำถวายทานให้เป็นของสงฆ์” ที่เรามักเรียกกันเพลินไปว่า “ถวายสังฆทาน” แล้วเลยเข้าใจผิดไปว่า “สังฆทาน” เป็นสิ่งของอย่างหนึ่งที่เอามาถวายกันได้

เช่นการถวายภัตตาหารให้เป็นของสงฆ์ (ที่เรียกกันเพลินไปว่า “ถวายสังฆทาน”) คำถวายที่เป็นสามัญมีคำว่า “โอโณชยาม” ปรากฏอยู่ด้วย ว่าดังนี้ –

…………..

อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต ภิกขุสังโฆ อิมานิ ภัตตานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัญเจวะ มาตาปิตุอาทีนัญจะ ญาตะกานัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ.

ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ซึ่งภัตตาหาร พร้อมทั้งของบริวารทั้งหลายเหล่านี้ แด่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์ จงรับ ซึ่งภัตตาหาร พร้อมทั้งของบริวารทั้งหลายเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย และแก่ญาติทั้งหลาย มีมารดาบิดาเป็นต้น ตลอดกาลนานเทอญ

…………..

คำว่า “โอโณชยาม” เป็นคำกริยาอาขยาต รากศัพท์มาจาก โอ (คำอุปสรรค = ลง) + นุทฺ (ธาตุ = สละ) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ (ณฺย > ), + (มะ) วิภัตติอาขยาตหมวดวัตตมานา, แผลง อุ ที่ นุ-(ทฺ) เป็น โอ แล้วแปลง เป็น และแปลง ทฺ เป็น (นุทฺ > โนท > โณท > โณช), ทีฆะ อะ ที่ (แห่ง ณฺย ปัจจัยที่ลบ ณฺ) เป็น อา เพราะอำนาจ วิภัตติ

: โอ + นุทฺ = โอนุทฺ + ณฺย = โอนุทณฺย > โอนุทย > โอโนทย > โอโณทย > โอโณชย + = โอโณชยม > โอโณชยาม แปลว่า “(ข้าพเจ้าทั้งหลาย) ขอสละลง” = ขอน้อมถวาย (to incline, bend down to, bow to)

ขยายความ :

คำที่มาจากรากศัพท์เดียวกันกับ “โอโณชยาม” ยังมีอีกหลายคำ เช่น –

โอโณเชติ” (โอ-โน-เช-ติ) (คำกริยาอาขยาต) = (1) ใช้ให้ล้าง, ชำระ, ทำให้สะอาด (to cause to wash off, to wash, cleanse) (2) ให้เป็นของขวัญ, อุทิศ (to give as a present, dedicate)

โอณมติ” (โอ-นะ-มะ-ติ) (คำกริยาอาขยาต) = เอนเอียง, โอนลง, ก้มศีรษะให้ (to incline, bend down to, bow to)

โอโณชน” (โอ-โน-ชะ-นะ) (กิริยานามหรืออาการนาม) = การล้างออก, การทำความสะอาด, การล้างมือ (washing off, cleaning, washing one’s hands)

โอณต” (โอ-นะ-ตะ) (ต ปัจจัย และใช้เป็นคุณศัพท์) = โน้มลง, ต่ำลง, เอนเอียง (bent down, low, inclined)

โอณมน” (โอ-นะ-มะ-นะ) (กิริยานามหรืออาการนาม) = การโน้ม, การเอนลง, การก้มศีรษะ (bending down, inclining, bowing down to)

รูปคำ “โอโณ-” และ “โอณ-” ในบาลี ชวนให้ได้ยินเสียง “โอน” ในภาษาไทย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “โอน” ในภาษาไทยไว้ว่า –

โอน : (คำกริยา) น้อมลง, โน้ม; ยกไปไว้อีกที่หนึ่ง เช่น โอนบัญชี; ยอมมอบให้; ย้ายสังกัด; (คำที่ใช้ในกฎหมาย) เปลี่ยนแปลงให้สิทธิของบุคคลหนึ่งตกไปเป็นของอีกบุคคลหนึ่ง.”

ไม่ได้แปลว่า อะไรๆ ก็จะ “ลากเข้าวัด” หรือ “จับบวช” หรือ “โอน” เป็นคำบาลีไปเสียหมด เพียงแต่ชวนให้คิดและหัดตั้งข้อสังเกต

อยากได้คำตอบว่าคำอะไรมาจากภาษาอะไรกันแน่ ก็ต้องช่วยกันศึกษา คิดเอาเองไม่ได้

หมายเหตุ :

คำถวายที่แสดงไว้ข้างต้นนั้นเป็นคำที่ผู้เขียนบาลีวันละคำใช้กล่าวนำในเวลาถวายภัตตาหารในการทำบุญทุกวันพระที่วัดมหาธาตุ ราชบุรี เป็นการเอาคำถวายเพื่อตนเองกับคำถวายเพื่อผู้ตายมาประยุกต์เข้าด้วยกัน วัดอื่นมรรคนายกอาจใช้ถ้อยคำแตกต่างกันออกไปเล็กๆ น้อยๆ แต่ถ้อยคำส่วนใหญ่ย่อมตรงกัน ถ้าไม่ผิดหลักภาษาก็ถือว่าใช้ได้

อนึ่ง ก่อนกล่าวคำถวาย ผู้เขียนบาลีวันละคำจะพูดนำว่า “ต่อไปนี้ขอเชิญกล่าวคำถวายภัตตาหารให้เป็นของสงฆ์” ไม่ใช้คำว่า “ถวายสังฆทาน” เพราะคำกล่าวนี้เป็นคำกล่าว “ถวายภัตตาหารให้เป็นของสงฆ์” ไม่ใช่ “ถวายสังฆทาน” เป็นการเตือนสติผู้มาทำบุญวันพระให้เข้าใจให้ถูกต้องไปในตัว คือถวายสิ่งใดให้เป็นของสงฆ์ก็ระบุชื่อสิ่งนั้นลงไป เมื่อถวายเสร็จแล้วจึงเป็น “สังฆทาน” ในความหมายที่ถูกต้องว่า “ถวาย-ให้เป็นของสงฆ์” ตรงกันข้ามกับ “ปาฏิบุคลิกทาน” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “บุคลิกทาน” คือ “ถวาย-ให้เป็นของส่วนบุคคล

…………..

ดูก่อนภราดา!

: จะรอบุญที่คนอื่นโอนมาให้?

: หรือจะลงมือทำขึ้นไว้ด้วยตนเอง?

—————–

ท่านพระครูวาทีธรรมวัฒน์ (บุญเลิศ ฐิตวฑฒโน ป.ธ.4) เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ราษฎร์บูรณะ ตำบลพงสวาย อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ศิษย์เก่าวัดมหาธาตุ ราชบุรี ฝากคำนี้มาตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 เกือบ 7 ปี เพิ่งมีโอกาสนำไปถวายคืน พระคุณท่านจบดุษฎีบัณฑิตเมื่อไม่นานมานี้ ยืนยันกับผู้เขียนบาลีวันละคำว่า จะเริ่มกลับมาจับบาลีอีกรอบหนึ่ง ตั้งเป้าหมายไว้ที่ ป.ธ.6 เป็นอย่างต่ำ – โอโณชยามิ น้อมถวายกำลังใจไปเต็มๆ

#บาลีวันละคำ (3,196)

13-3-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย